X

ตรัง ผอ.ครู เร่งแก้ปัญหานร.เข้าระบบออนไลน์ไม่ได้

ผู้อำนวยการ ครู โรงเรียนวัดไทรงาม อ.เมือง จ.ตรัง สังกัดเขตพื้นที่การประถมศึกษาตรัง เขต 1 ลงพื้นที่ติดตามการเรียนออนไลน์ของนักเรียนระดับชั้น อนุบาล1 ถึง ชั้น ป.6 จำนวน 230 คน โดยจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความพร้อมในระดับดี ระดับปลานกลาง และกลุ่มความพร้อมน้อย เพื่อติดตามการเรียน และโดยเฉพาะเร่งแก้ปัญหากลุ่มเด็กๆที่มีปัญหาเข้าระบบออนไลน์ไม่ได้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์เก่ารับสัญญาณไม่ได้ ล่าสุด เร่งเสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอกล่องรับสัญญาณมาช่วยเหลือ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 นางเสาวภาพัชร ภู่ประภาดิลก ผอ.โรงเรียนวัดไทรงาม อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 (สพป.เขต 1) พร้อมคุณครูประจำชั้นต่างๆ เร่งลงพื้นที่ติดตามการเรียนทางระบบออนไลน์ของนักเรียนในสังกัด โดยกระจายกันลงติดตามตามบ้านเรือน เพื่อให้เข้าถึงบ้านเด็กๆทุกคน ที่มีตั้งแต่นักเรียนระดับชั้น อนุบาล1 ถึง ชั้น ป.6 จำนวน 230 คน โดยเริ่มต้นเน้นเด็กๆที่ไม่มีความพร้อมก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆที่อาศัยกับ ปู่ ย่า ตา ยาย ครอบครัวไม่พร้อม เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ ส่วนเด็กๆที่มีความพร้อม ได้มีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ขึ้น เพื่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดน่าเป็นห่วง มีการจัดทำกูเกิ้ลด๊อกคิวเมนท์ ไลน์กลุ่ม สำหรับให้เด็ก ผู้ปกครอ งรายงานผลการเรียนในแต่ละวัน ทั้งนี้ จากการสำรวจความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง ทางโรงเรียนได้จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความพร้อมในระดับดี ระดับปานกลาง และกลุ่มความพร้อมน้อยหรือไม่มีความพร้อม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ทุกกลุ่ม/คน โดยในแต่ละวันครูจะออกเยี่ยมบ้านนักเรียน และให้คำแนะนำ รับฟังปัญญาจากผู้ปกครอง ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ขาดความพร้อมของอุปกรณ์ เช่น ช่องรับสัญญาณทีวีไม่คมชัด กล่องรับสัญญาณเป็นระบบเก่ารับไม่ได้ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งพบปัญหาลักษณะนี้ประมาณร้อยละ 30 เบื้องต้น คุณครู และผู้ปกครอง พยายามแก้ปัญหาเช่น ให้เด็กชั้นเดียวกันเรียนกับคนในละแวกบ้าน ส่วนครอบครัวไหนที่ขาดแคลนจริง ๆ ทางโรงเรียนได้แจกเอกสารใบความรู้ ใบงาน ให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามเอกสาร เป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น

นางเสาวภาพัชร ภู่ประภาดิลก ผอ.โรงเรียนวัดไทรงาม กล่าวว่า จากการจัดประชุมผู้ปกครองพบว่า ทุกคนเห็นด้วยที่จะให้เด็กๆเรียนระบบออนไลน์ไปก่อน เพราะเด็กปิดเทอมนานกว่าจะได้เรียนในช่วงเปิดเทอมอย่างน้อยได้มีอะไรทำดีกว่าวิ่งเล่น หรือว่าติดเกมส์ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่มีความพร้อมก็เกิดความกังวล แต่ทางโรงเรียนให้แนวทางไปว่าไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกังวล เอาตามบริบทหรือตามความเหมาะสมเท่าที่มีแล้วเราก็จะร่วมด้วยช่วยกัน โดยกลุ่มนี้ทางคุณครูก็จะจัดทำใบงาน เอกสารที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเป็นใบงานมีคำชี้แจงการเรียนรู้ และคุณครูก็จะออกมาเยี่ยมบ้านบ่อยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อติดตามว่าเป็นอย่างไร โดยประสานกันทางโทรศัพท์ และก็มีหนังสือเรียนที่แจกไป แนะนำว่าให้ทบทวนอ่านหนังสือบทเรียนเท่าที่จะทำได้ หรือนักเรียนคนใดบ้านอยู่ใกล้กัน ชั้นเดียวกัน และมีความปลอดภัยในการที่จะไปเรียนด้วยกัน เว้นระยะกันได้ สามารถที่จะใช้วิธีเรียนด้วยกัน เบื้องต้น ได้ช่วยเหลือพร้อมน้อยด้วยวิธีนี้ และในขณะเดียวกันได้สำรวจปัญหา จึงทำเรื่องขอกล่องดิจิตอลทีวี ผ่านไปทาง สพป.ตรัง เขต 1 เพื่อส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ต้องรอว่าจะได้รับการจัดสรรหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ในส่วนของบ้านที่ไม่มีความพร้อม เช่น ขาดอุปกรณ์ มีไม่เพียงพอ หรือ มีทีวี แต่สัญญาณรับไม่ได้ ประมาณ 30 – 40 % ซึ่งเด็กของเราส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มปานกลางมากที่สุด กลุ่มมีความพร้อมมีน้อยที่สุด แต่คนที่ไม่มีความพร้อม ก็แสวงหาวิธีอื่นแก้ไข และขณะนี้รัฐปล่อยสัญญาณทีแบนได้ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ดีขึ้น


ตัวอย่าง นร.ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไทรงาม และครูประจำชั้น ได้ออกเยี่ยมบ้านนักเรียน เช่น ที่บ้านเลขที่ 95/13 ม.6 ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็นบ้านของนางรุ่งนภา เถรว่อง อายุ 63 ปี เป็นผู้ปกครองของนักเรียนเรียน จำนวน 3 คน ซึ่งเรียนในระดับชั้น อนุบาล 3 ป.4 และ ป.5 โดยปัญหาที่พบคือ มีอุปกรณ์ไม่เพียงพอ คือ มีทีวี 1 เครื่อง และ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ครูประจำชั้นจึงแนะนำให้นักเรียนสลับกันดู และเปิดเรียนแบบย้อนหลัง โดยน้อง ๆ ทั้ง 3 คน บอกกับผู้สื่อข่าวว่าอยากไปเรียนในโรงเรียนมากกว่า เพราะคิดถึงเพื่อน และคุณครูที่โรงเรียน

บางครอบครัวอาศัยเด็ก ๆ อาศัยอยู่กับย่า-ยาย และมีฐานะลำบาก ขาดอุปกรณ์สำหรับรับการเรียนออนไลน์ และทีวีเพียงเครื่องเดียวที่มีอยู่ในบ้านรับสัญญาณถ่ายทอดฯไม่ได้ อย่างภายในบ้านเลขที่ 46/7 ม.6 ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็นบ้านอยู่อาศัยของนักเรียน ระดับ ป.2 ป.4 และ ป.6 เด็กต้องใช้วิธีเรียนเรียนพร้อมกับเพื่อนระดับชั้นเดียวกันในละแวกบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีเพื่อนระดับชั้นเดียวกัน ใช้วิธีเรียนจากใบความรู้ ใบงาน ที่ครูมอบให้ ซึ่งบ้านดังกล่าวขาดความพร้อม ครูประจำชั้นจึงต้องมาติดตาม และ ดูแลเป็นกรณีพิเศษ

ในขณะที่บางครอบครัวมีความพร้อมสำหรับเรียนออนไลน์ ที่บ้านของของเนเน่ นักเรียนหญิง ชั้น ป.3 ซึ่งได้นั่งเรียนอย่างตั้งใจหน้าที่ทีวี พร้อม เปิดเอกสารประกอบการเรียน เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาที่ครูกำลังสอน และน้องเนเน่ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนอยากให้โรงเรียนเปิดเทอมเร็วเร็ว เพราะอยากเรียนในห้องเรียนมากกว่าเรียนผ่านจอทีวี อยากเจอเพื่อนๆ และครู

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน