ชาวบ้านร้องนายทุนนำเครื่องจักรเข้าทำถนน ปรับพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทาน เนื้อที่รวมกว่า 600 ไร่ เพื่อเตรียมเข้าฮุบพท.หลังหมดสัญญาสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2558 และมีการข่มขู่ชาวบ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจสอบไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีการจับกุมดำเนินคดี ทั้งๆ ที่มีคนงานและเครื่องจักรกลอยู่ครบ โดยชาวบ้านเรียกร้องให้แจ้งความดำเนินคดี และเตรียมจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านไร้ที่ดินทำกิน ที่เคยเข้าชื่อยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ตั้งแต่ปี 2561 พร้อมร้องขอความมั่นใจด้านความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หวั่นจะเกิดเหตุเช่นเดียวกับพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทานที่ จ.กระบี่
วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตรัง (กอ.รมน.) นำโดย พ.อ.สุริยา ช่วยบำรุง หัวหน้านโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.ตรัง พร้อมด้วยนายเสกสันต์ จันทร์เกื้อ นายช่างสำรวจชำนาญงาน สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดตรัง (สปก.) เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่หมดอายุสัมปทานในพื้นที่หมู่ 3 ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เนื้อที่กว่า 638 ไร่ ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสายคลองร่มเมือง – ป่าสายควน และป่าเกาะอ้ายกลิ้ง หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีนายทุนนำเครื่องจักรกลเข้าไปบุกรุก ด้วยการไถปรับถนนใหม่ และปรับพื้นที่ภายในสวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทานดังกล่าว เพื่อหวังฮุบครอบครองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไป ทั้งๆที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ต่อใบอนุญาตสัมปทาน จากกรมป่าไม้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นว่า สวนปาล์มน้ำมันดังกล่าวเดิม บริษัท ตรังค์ธารทอง จำกัด เป็นผู้รับอนุญาตสัมปทาน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2545 สิ้นสุดใบอนุญาตเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ซึ่งก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานบริษัทดังกล่าวได้เสนอขอต่ออนุญาตสัมปทาน แต่กรมป่าไม้ไม่อนุญาต ทั้งนี้ พื้นที่ทั้งหมดจะต้องตกเป็นของรัฐ และใครจะเข้าไปหาผลประโยชน์ ยึดถือ ครอบครองไม่ได้ แต่ในข้อเท็จจริงหลังหมดอายุสัมปทานมีชาวบ้านลักลอบเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่าน มี ชาวบ้านพบเห็นมีนายทุน เข้าไปบุกรุกครอบครอง ด้วยการนำเครื่องจักรกลเข้าไปปรับถนนใหม่ตลอดแนวพื้นที่สัมปทาน รวมทั้งไถปรับพื้นที่จนโล่งเตียนไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการทำงานไถปรับเพิ่มเติม ขณะเดียวกันมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่าย โดยที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ไม่ได้เข้าดำเนินการใดๆ จนมีชาวบ้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานป่าไม้ และ กอ.รมน.ตรังให้เข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะเข้าตรวจสอบพบเห็นเครื่องจักรกล และคนงาน กำลังไถปรับพื้นที่ แต่ไม่ได้ดำเนินการตรวจยึดจับกุมหรือดำเนินคดีใดๆตามมา เมื่อเจ้าหน้าที่กลับไป กลุ่มดังกล่าวยังนำเครื่องจักรกลเข้าไปไถปรับพื้นที่ตามปกติ โดยไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ คาดเตรียมใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อยึดครองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ในการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งกำลัง กอ.รมน. ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไป ทำให้กลุ่มนายทุนผู้เข้าครอบครอง ได้เคลื่อนย้ายนำเครื่องจักรกล และคนงานออกจากพื้นที่ไปแล้ว เบื้องต้น ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะยุติปัญหาอย่างไร หวั่นจะเกิดเหตุการณ์บานปลายเหมือนดังเช่นพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทานในจังหวัดกระบี่ ที่มีปัญหากันระหว่างนายทุน และชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินที่ต่างจะเข้ายึดถือครอบครอง
ทางด้านนายธีระวัฒน์ หนูนุ่ม นายสมศักดิ์ อ่อนชื่นจิตร 2 สองราษฎร ชาว ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง กล่าวว่า พื้นที่แปลงสัมปทานดังกล่าว หลังหมดสัญญาสัมปทาน ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินได้รวบรวมรายชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม ,กอ.รมน.ตรัง รวมทั้งส่งหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้จัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน ตามมติ ครม. แต่ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา มีนายทุนซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้รับสัมปทานเดิม ยังอ้างสิทธิการครอบครอง ด้วยการนำเครื่องจักรกลเข้าไปไถปรับพื้นที่ ปรับถนนใหม่ ทั้งๆที่หมดสัญญาสัมปทานไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 โดยผู้สัมปทานเดิมได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตแต่ทางกรมป่าไม้ไม่อนุญาต แต่มีการเข้าไปอ้างสิทธิครอบครอง ขณะที่เจ้าหน้าที่เจ้าของพื้นที่ก็ไม่ดำเนินการใดๆ ทำให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เช่น นำวัวไปเลี้ยงไม่ได้ดังเดิม มีการข่มขู่กันตามมา ทำให้ชาวบ้านหวั่นความไม่ปลอดภัย ทั้งนี้เมื่อพื้นที่หมดสัมปทานแล้ว เรียกร้องให้ทางภาครัฐพิจารณาจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรที่ไร้ที่ดินทำกินตามมติ ครม. ที่มีการเข้าชื่อกันเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 2561 โดยผ่านการตรวจสอบของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่แล้วรวมประมาณ 300 คน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้บุกรุก เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่พบเห็นการกระทำผิดแต่ไม่ดำเนินการ ทั้งนี้ จะให้เวลาเจ้าหน้าที่ต่อไปอีกระยะ หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินคดีเอาผิดกับผู้บุกรุก พวกตนจะไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน เพื่อเอาผิดจนท.ในมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบให้ดำเนินคดี และจะใช้สิทธิในฐานะราษฎรฟ้องศาลทุจริตด้วยตัวเอง เพราะขณะนี้กลุ่มคนดังกล่าวเข้าไปครอบครอง มีการข่มขู่ คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมร้องขอความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ กอ รมน.ตรัง เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านถูกข่มขู่ คุกคาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: