คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของพื้นที่ภาคใต้ ตรัง – พัทลุง สตูล ทั้งนี้ หลายปัญหารับไว้เข้าคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากเป็นปัญหาระดับนโยบายไม่สามารถแก้ได้ในระดับพื้นที่ โดยชาวบ้านจากหลายกลุ่มยื่นหนังสือเรียกร้องและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาด้วย ขณะที่ชาวบ้าน ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ ร้องเรียนกรณีนายทุนนำเครื่องจักรกลเข้าบุกรุกพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทานโดยที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ดำเนินการจับกุม และชาวบ้านวังวน ต.วังวน อ.กันตัง เข้าร้องเรียนกรณีกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธินส.3 ก.ของนายทุน ที่ออกผิดตำแหน่งและเนื้อที่ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ ส.ค.1 หลังเวลาผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ยังยืดเยื้อ ไม่ดำเนินการเพิกถอน
วันที่ 20 มิถุนายน 2563 ที่โรงละคร ชั้น 3 มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตตรัง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย หัวหน้าคณะทำงาน ลงพื้นที่รับฟังปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของพื้นที่ภาคใต้ ตรัง – พัทลุง สตูล ที่มีปัญหาคาราคาซังมายาวนาน โดยชาวบ้านพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหามาแล้วหลายปี แต่ยังไม่ได้ โดยนายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังร่วมรับฟังด้วย พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัด , ตัวแทนระดับกรม และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ในระดับเขต เข้าร่วมรับฟังและตอบคำถามในประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ มีตัวแทนชาวบ้านที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐหลายกลุ่มเข้าเสนอปัญหา เช่น ปัญหาที่ดินในที่สาธารณะประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน ,ปัญหาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ, เขตอุทยานฯ, เขต สปก. ,เขตรถไฟที่เช่าพื้นที่ไม่ได้ ,ปัญหาน้ำ- ไฟฟ้า ไม่มี, รวมทั้งปัญหาที่ดินในพื้นที่เช่าของกรมป่าไม้ ปัญหาการออกเอกสารสิทธิมิชอบด้วยกฎหมาย แต่กรมที่ดินดำเนินการล่าช้าในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาทุกกลุ่มเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติกับชาวบ้าน ด้วยสาเหตุปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ ปัญหาการอ้างสิทธิถือครอง ปัญหาการประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน การถูกจับกุมดำเนินคดี การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินไม่ได้ การขอออกเอกสิทธิในที่ดินทำกิน/อยู่อาศัยไม่ได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิการถือครองว่าใครมาก่อน-หลัง ระหว่างชาวบ้านกับการประกาศพื้นที่ป่า ความไม่ชัดเจนในขอบเขตที่ดิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของแต่ละกลุ่ม จะต้องใช้กฎหมาย และแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน โดยชาวบ้านแต่ละกลุ่มที่นำเสนอปัญหาก็จะเสนอแนะแนวทางผ่านคณะกรรมาธิการฯด้วย เช่น ปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน คณะกรรมาธิการฯเสนอให้ทั้ง 3 จังหวัด จัดทำโครงการสำรวจที่ดินสาธารณะที่มีในจังหวัดทั้งหมด เพื่อให้รู้ขอบเขตที่ชัดเจน , ถ้าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.)ก็ดำเนินการออก,หากอยู่นอกเขตพื้นที่ก็ออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้าน ,หากอยู่ในเขต น.ส.ล.ก็ให้ชาวบ้านอยู่ทำกินได้ แต่การจัดโครงการดังกล่าวจะต้องกำหนดให้มีตัวแทนชาวบ้านร่วมเป็นคณะทำงานด้วยเพื่อความเป็นธรรม ,ปัญหาที่ดินรถไฟ ซึ่งชาวบ้านเตรียมพร้อมชุมชนแล้ว ให้การรถไฟเร่งดำเนินการตรวจสอบ และให้ชาวบ้านเช่าให้ถูกต้องและเข้าพื้นที่เช่าได้ โดยให้ชะลอการบังคับคดี, ปัญหาที่ดินในเขตอุทยานฯ ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการแก้ไข พรบ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ ขณะที่หลายปัญหาคณะกรรมาธิการรับเรื่องไปดำเนินการนำเข้าคณะกรรมาธิการฯ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาในระดับจังหวัดหรือระดับพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นปัญหาระดับนโยบาย
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
นอกจากนั้น ตัวแทนชาวบ้าน ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯให้เร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กรณีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนในพื้นที่ จากกรณีพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน พื้นที่หมู่ 3 ต.วังมะปราง ของกรมป่าไม้ เนื้อที่รวมกว่า 638 ไร่ ที่หมดสัญญาสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ขณะนี้นายทุนผู้รับสัมปทานเดิมยังอ้างสิทธิเข้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และดำเนินการนำเครื่องจักรเข้าไปไถปรับพื้นที่ โดยที่กรมป่าไม้ ยังไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตสัญญาสัมปทาน ขณะที่ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่ ต.วังมะปราง เรียกร้องให้นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านทำกิน จนขณะนี้ปัญหาส่อเค้ารุนแรง ทั้งนี้ นายประสาร เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตรัง ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทางผู้แทน บริษัท ตรังค์ธารทอง จำกัด ผู้รับสัมปทานเดิม นำเครื่องจักรกลเข้าไปไถปรับวัชพืชในพื้นที่ได้ เนื่องจากบริษัทยังอ้างสิทธิการครอบครองสวนปาล์ม แม้จะหมดสัญญาสัมปทานไปแล้ว และทางกรมป่าไม้ ยังไม่ต่อสัญญาสัมปทานก็ตาม ทั้งนี้ ตนเองได้ชี้แจงไปแล้วว่า จะเข้าไปเก็บผลปาล์มไม่ได้ เพราะเท่ากับไปเก็บของป่า ผิดกฎหมายป่าไม้ แต่การดูแลต้นปาล์มด้วยการนำเครื่องจักรกลเข้าไปดูแลนั้น ตนเองยังไม่กล้าสั่งระงับ เพราะตนได้นำหนังสือหารือไปยังฝ่ายกฎหมายกรมป่าไม้ ได้รับคำตอบเสียงแตกออกเป็น 2 แนวทาง คือ บางคนบอกว่าหมดสัญญาแล้วก็ต้องหมดสิทธิเข้า แต่บางคนบอกว่าสิทธิยังไม่ขาด ทำให้ตนเองไม่กล้าสั่งให้ระงับการนำเครื่องจักรเข้าไป เพราะกลัวถูกฟ้อง หากบริษัทยังมีสิทธิ ด้านคณะกรรมาธิการฯมีความเห็นว่า หากหมดสัญญาแล้ว ทรัพย์สินก็ต้องตกเป็นของกรมป่าไม้ใครจะเข้าไปดำเนินการไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมาธิการฯจะนำไปหาทางออกในสัปดาห์หน้า ที่จะไปประชุมเวทีที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะเอาปัญหาพื้นที่เช่าสวนปาล์มน้ำมัน ตรัง-กระบี่ และสุราษฎร์ไปเข้าที่ประชุมครั้งต่อไป
นอกจากนั้น ชาวบ้าน ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ได้ร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการฯด้วย เรื่องความล่าช้าของกรมที่ดิน ในการเพิกถอน น.ส.3 ก.ออกจากสารบบที่ดิน โดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ตรัง ได้มีมติเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอน น.ส.3 ก.ทั้ง 11 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 608 ไร่ ออกจากสารบบที่ดิน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เนื่องจากออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะออกไม่ตรงกับตำแหน่ง ส.ค.1 เดิม และเนื้อที่ไม่ตรงกับ ส.ค.1 (เนื้อที่ส.ค.1 รวมประมาณ 100 ไร่เศษ แต่นำไปออกเป็นน.ส.3 ก.ได้จำนวน 608 ไร่ ) โดยนายทุนผู้ครอบครองปลูกปาล์มน้ำมันขณะนี้ ซื้อมาจากการกรมบังคับคดี แต่ขณะนี้ระยะเวลาผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี การเพิกถอน น.ส.3 ก.ดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่ทางเจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดตรัง เคยกล่าวกับชาวบ้านขณะเข้าไปติดตามทวงถามความคืบหน้าว่า หากมีการเพิกถอนจะทำให้นายทุนได้รับความเดือดร้อนได้ ทั้งนี้ นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ ผู้ตรวจราชการ กรมที่ดิน กล่าวว่า ตนเองตอบได้แค่ทฤษฎีเท่านั้นว่า การเพิกถอน น.ส.3 ก.เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมอบหมายให้รองอธิบดีเซ็นคำสั่งเพิกถอน โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพิกถอน ดังนั้น การจะเซ็นรองอธิบดีก็ต้องรอบคอบที่สุด เพราะเซ็นเมื่อไร ก็เป็นจำเลยเมื่อนั้น เพราะจะต้องถูกฟ้องกลับแน่นอน จึงต้องรอบคอบที่สุด
ทางด้านนายวิเชียร รัตนโสม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง กล่าวยอมรับว่า ที่ดินดังกล่าวออกไม่ตรงกับเอกสาร ส.ค.1 จริง แต่การดำเนินการล่าช้า เพราะต้องรอบคอบ และที่สำคัญเจ้าพนักงานที่ดินกันตัง ซึ่งเป็นกรรมการด้วยนั้นเปลี่ยนมาแล้วถึง 3 คน แต่ละคนไม่กล้าเกี่ยวข้องด้วย จึงย้ายหนีหมด ทำให้เกิดความล่าช้า พร้อมปฏิเสธว่า ตนเองไม่เคยกล่าวกับชาวบ้านว่า หากเพิกถอนน.ส.3 ก.จะทำให้นายทุนเดือดร้อน ด้านชาวบ้านก็ยืนยันอีกครั้งต่อหน้าคณะกรรมาธิการฯ พร้อมเล่าเหตุการณ์ที่เดินทางไปจากหน้าห้องผู้ว่าฯไปหาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง จนได้รับคำตอบดังกล่าวกลับมา ให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ ทางด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย หัวหน้าคณะทำงาน คณะกรรมาธิการฯตั้งคำถามกลับว่า ความล่าช้าดังกล่าว เป็นเพราะกรมที่ดินต้องการยื้อหรือไม่ หรือจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน พร้อมให้ชาวบ้านติดตามทวงถามจากที่ดินในพื้นที่ และหาไม่คืบหน้าจะเตรียมนำเข้าคณะกรรมาธิการฯด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม ชาวบ้านจากทุกกลุ่มยื่นหนังสือเรียกร้อง และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎรด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: