สาทิตย์ระบุเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลทำให้เกิดขึ้นการเมืองใหม่ชัดเจนจากเดิมมี 2 ขั้ว คือ เอา -ไม่เอาทักษิณ แต่เกิดขั้วพรรค คสช.ขึ้นมา หากมีการปรับ ครม.เชื่อว่าจะกระทบต่อพรรคร่วม และอายุของรัฐบาลแน่นอน
วันที่ 23 มิถุนายน 2563 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นการปรับดุลกำลังภายในของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อมีปัญหาก็ต้องขยับกัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการเมือง เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่ และเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งต้องดูต่อไปว่าการปรับครั้งนี้จะนำสู่การปรับ ครม.หรือไม่ 2.หากพล.อ.ประวิตร จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค สื่อให้เห็นชัดเจนว่าอดีต คสช.ก้าวเข้าสู่การเมืองเต็มตัวแล้ว เพราะรับมาเป็นหัวหน้าพรรคเสียเอง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ถ้ามีการปรับครม.ดุลกำลังในรัฐบาลจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าดุลเปลี่ยน พรรค พปชร.มีคนเยอะขึ้น พรรคภูมิใจไทยมีคนเยอะขึ้น ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองมีจำนวนสมาชิกเท่าเดิม รัฐบาลก็อาจจะมีพรรคเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่ม มีพรรคเล็กบางพรรคที่ประกาศตัวแล้วว่าจะยุบพรรคไปรวมกับพลังประชารัฐด้วย ทั้งหมดจะส่งผลทำให้เกิดการปรับ ครม.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับแกนนำรัฐบาลจะไปคุยกัน ซึ่งหากปรับ ครม.ก็ต้องเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า สัดส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคร่วมด้วยกันยังคงเดิมอยู่หรือไม่ ส่วนการที่อดีต คสช.มาเล่นการเมืองโดยตรง ย่อมชัดเจนขึ้นว่า ขั้วอำนาจเดิมในทางการเมืองซึ่งมาจากการยึดอำนาจ พอเข้ามาสู่การทำการเมืองเต็มตัว จะยิ่งส่งผลให้เห็นขั้วการเมืองเห็นได้ชัดเจนขึ้น เดิมมี 2 ขั้ว คือ ขั้วที่เอานายทักษิณ กับขั้วไม่เอานายทักษิณ ก็จะเกิดขั้วใหม่ชัดเจน (พรรค พปชร.ขั้วอำนาจ คสช.) โดยพรรคภูมิใจไทย กับประชาธิปัตย์ เป็นขั้วหนึ่ง ,ส่วนของพรรคเพื่อไทยก็เป็นอีกขั้วหนึ่ง ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองอื่นๆก็คือ เมื่อพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่มีอดีต คสช.การเปลี่ยนทิศทางด้านการเมือง การกำหนดเป้าหมายต่างๆในอนาคต จะเป็นอย่างไร อาจเกิดคำถาม แสดงว่า คสช.เข้ามาเล่นเต็มตัวใช่หรือไม่ และคิดจะเล่นการเมืองอีกยาวใช่หรือไม่ ก็จะเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งในทางการเมือง แต่ละพรรคก็ต้องเตรียมทิศทางการเมืองของพรรคตัวเอง ส่วนกรณีจะมีการดูดส.ส.หรือไม่ดูด ซึ่งพรรคเล็กบางพรรคก็มีข่าวเรื่องยุบรวม ที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่าสนับสนุน เพียงแต่ทำให้เห็นชัดขึ้นเท่านั้นว่าใครอยู่ฝ่ายไหน จะทำให้ขั้วทางการเมืองชัดเจนขึ้นเท่านั้น
ส่วนถ้ามีการปรับครม.จะส่งผลต่ออายุขัยของรัฐบาลชุดนี้ทำให้ยาวขึ้น หรือว่าเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้นหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า การเมืองไทยขณะนี้ อธิบายด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์เดิมยาก โดยเฉพาะหลังยุคโควิด เพราะจู่ๆเราก็มีรัฐธรรมนูญที่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องลงเลือกตั้งมาก่อนได้ อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การปรับ ครม.ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าสามารถที่ดุลกำลังของรัฐบาลได้หรือไม่ ถ้าในแง่ของเสถียรภาพของรัฐบาลมองว่าจะแน่นปึ๊กกว่าเดิม เพราะตอนนี้เสียงของรัฐบาลมีถึง 260-270 เสียงแล้ว แต่การจะอยู่ได้ยาวนานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดซึ่งเป็นวิกฤติ แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ สามารถฝ่าวิกฤติมาได้ค่อนข้างดี เพราะในการบริหารสถานการณ์โควิดได้ปล่อยให้มืออาชีพคือ แพทย์ บุคลากร สาธารณสุขทำ ในแง่ผลกระทบก็ใช้วิธีการเยียวยา แต่การเยียวยามีผล 3 เดือน ถ้าเป็นยาก็ถือเป็นยาระงับชั่วคราว การปรับครม.ครั้งนี้ ก็เพื่อรับมือสถานการณ์ของจริง ทั้ง 1.ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลบ 5 , 2.วงเงินกู้สาธารณะเกินเพดาน 3. การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า 4.ผลกระทบของตลาดส่งออกทั้งหลาย เกิดรัฐบาลบริหารได้ไม่ดี ทีมเศรษฐกิจทำไม่ได้ ประชาชนไม่ตอบรับการทำงานของรัฐบาลก็อยู่ยาก ดั้งนั้น ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ตนเองก็พูดกับพรรคไว้แล้วว่า ถึงเวลาต้องทบทวนตัวเอง ว่าในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราสามารถทำได้ดีหรือไม่ ได้คะแนนเพิ่มขึ้นหรือไม่ คนยังคาใจหรือไม่ เช่น กรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญเราร่วมครม.ไปแล้วปีเศษ คนที่ทำงานแต่ละคน ได้ทำตามนโยบายที่พรรคได้ประกาศเอาไว้หรือไม่ ถึงเวลาต้องตรวจการบ้านรัฐมนตรี ถ้าไม่ผ่านกระแสการปรับครม.ในพรรคก็ต้องเกิดขึ้น ส่วนจะรักษาเก้าอี้เดิมไว้ได้อีกหรือไม่ เป็นเรื่องยากที่จะตอบขึ้นอยู่กับแกนนำรัฐบาลจะคุยกัน ซึ่งคาดว่ามี 2 สูตร คือ การมีพรรคเล็กเข้ามา หน้าที่จัดสรรให้ควรเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ถือว่าเป็นพันธมิตรดั้งเดิม ที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลก็ควรจะได้เท่าเดิม แต่อีกสูตรหนึ่งบอกว่า ต้องนับไปตามจำนวนของคน ซึ่งทั้ง 2 สูตร ไม่ว่าจะออกทางไหน จะส่งผลกระทบแน่นอน และกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลด้วย เพราะหากเอาโควตาของพลังประชารัฐ จะต้องเฉือนของกลุ่มไหน จะรักษาความเหนียวแน่นไว้ได้หรือไม่ หรือจะเกิดรอยร้าว ถ้าเกิดรอยร้าวทำอย่างไร ถ้าไม่เฉือนเนื้อตัวเองไปตัดของพรรคร่วม ก็ย่อมส่งผลกระทบอีก พรรคดังกล่าวจะอยู่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ระหว่างการวิเคราะห์สถานการณ์ เตรียมพร้อมทั้งการยังอยู่ หรือเตรียมพร้อมเลือกตั้งปลายปี ก็อยู่ระหว่างการวิเคราะห์สถานการณ์ เตรียมพร้อมรับมือไว้ทุกทาง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง สถาบันพระบรมราชชนกเตรียมผลิต 9 หมอรุ่นใหม่ นวัตกรรมสุขภาพไทยสู่ระดับโลก
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
- ชวน” คลี่ปมขัดแย้งแก้พ.ร.บ.กลาโหม นักการเมือง-ทหาร ไม่ไวใจกันเอง สลับกันแก้หวังกระชับอำนาจ อ้างตัดไฟรปห.แค่ปลายเหตุ ต้นเหตุเพราะนักการเมืองโกง!
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: