X

ตรัง เร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งพท.สวนปาล์มหมดสัมปทาน

หัวหน้าคณะทำงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ติดตามสภาพพื้นที่จริง สวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทาน ในพื้นที่ ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เนื้อที่รวมกว่า 638 ไร่ ที่ขณะนี้นายทุนผู้รับสัมปทานรายเก่ายังอ้างสิทธิการครอบครองต้นปาล์มน้ำมัน เข้าไปไถปรับพื้นที่ปราบวัชพืช เพื่อเข้าจัดเก็บผลผลิตต่อไป ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ระหว่างฝ่ายนายทุน และฝ่ายชาวบ้านที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินการจับกุม และนำที่ดินมาจัดสรรให้ชาวบ้านยากไร้ทำกิน ด้านเจ้าหน้าที่ทำได้แค่เข้าไปตรวจสอบและเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันเท่านั้น แต่ไม่กล้าจับกุมดำเนินคดี เนื่องจากฝ่ายนิติกร กรมป่าไม้ เสียงแตกตีความออกเป็น 2 แนวทางว่า นายทุนยังมีสิทธิในการเข้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ กับไม่มีสิทธิ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าจับกุมเครื่องจักรกลและคนงาน ส่วนผลผลิตซึ่งถือเป็นของป่า เตรียมนำป้ายห้ามเก็บเข้าไปติดประกาศ ด้านหัวหน้าด้านคณะกรรมาธิการฯมีความเห็นว่า หากหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ทรัพย์สินก็ต้องกลับมาเป็นของรัฐใครจะเข้าไปดำเนินการไม่ได้ เตรียมนำปัญหาความขัดแย้งในสวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทานทั้งในจังหวัดตรัง ,จ.กระบี่ ,และ จ.สุราษฎร์ธานี ไปหารือในที่ประชุม กมธ.วิสามัญที่ดิน ที่จ.สุราษฎร์ธานีในวันศุกร์นี้ ระบุรัฐไม่ควรให้สัมปทานขนาดใหญ่ในเชิงพาณิชย์อีกต่อไป

วันที่ 23 มิถุนายน 2563 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร และคณะทำงานพรรคก้าวไกล ในพื้นที่ จ.ตรัง ลงพื้นที่ติดตามกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายทุน อดีตผู้รับสัมปทานสวนปาล์มน้ำมัน กับชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่ จากกรณีพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน พื้นที่หมู่ 3 ต.วังมะปราง ของกรมป่าไม้ เนื้อที่รวมกว่า 638 ไร่ ที่หมดสัญญาสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ขณะนี้นายทุนผู้รับสัมปทานเดิมยังอ้างสิทธิเข้าเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และดำเนินการนำเครื่องจักรเข้าไปไถปรับพื้นที่ โดยที่กรมป่าไม้ ยังไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาตสัญญาสัมปทาน ขณะที่ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่ ต.วังมะปราง เรียกร้องให้นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านทำกิน จนขณะนี้ปัญหาส่อเค้ารุนแรง โดยมีนายประสาร เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตรัง และนายสมนึก กุนหลัด หัวหน้าชุดปฏิบัติพิเศษป่าไม้ตรัง ร่วมให้ข้อมูล


ทั้งนี้ นายประสาร เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตรัง ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทางผู้แทน บริษัท ตรังค์ธารทอง จำกัด ผู้รับสัมปทานเดิม นำเครื่องจักรกลเข้าไปไถปรับวัชพืชในพื้นที่ได้ เนื่องจากบริษัทยังอ้างสิทธิการครอบครองสวนปาล์ม แม้จะหมดสัญญาสัมปทานไปแล้ว และทางกรมป่าไม้ ยังไม่ต่อสัญญาสัมปทานก็ตาม ทั้งนี้ ตนเองได้ชี้แจงไปแล้วว่า จะเข้าไปเก็บผลปาล์มไม่ได้ เพราะเท่ากับไปเก็บของป่า ผิดกฎหมายป่าไม้ แต่การดูแลต้นปาล์มด้วยการนำเครื่องจักรกลเข้าไปดูแลนั้น ตนเองยังไม่กล้าสั่งระงับ เพราะตนได้นำหนังสือหารือไปยังฝ่ายกฎหมาย กรมป่าไม้ ได้รับคำตอบเสียงแตกออกเป็น 2 แนวทาง คือ บางคนบอกว่าหมดสัญญาสัมปทานแล้วก็ต้องหมดสิทธิเข้า แต่บางคนบอกว่าสิทธิของผู้รับสัมปทานรายเดิมยังไม่ขาด ทำให้ตนเองไม่กล้าจับกุม และไม่กล้าสั่งให้ระงับการนำเครื่องจักรเข้าไป เพราะกลัวถูกฟ้องกลับ หากภายหลังบริษัทยังมีสิทธิ ส่วนการดูแลพื้นที่กรณีเก็บของป่า ถือว่ามีความผิด จะเข้ามาเก็บไม่ได้ โดยคนที่มาเก็บไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นใครบ้าง โดยตนเองเข้ามาสืบในพื้นที่ 2 ครั้งแล้ว ได้รับคำตอบว่าเป็นพวกเด็กติดยา ส่วนการดูแลพื้นที่ ถ้าจะต้องจัดกำลังมาเฝ้าระวังทำไม่ไหว เนื่องจากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ เพราะพื้นที่ตรงนี้สภาพจริงๆ คือ สวนปาล์มน้ำมัน ส่วนปัญหาความขัดแย้งเป็นของเจ้าของปาล์มน้ำมันเดิม กับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะได้พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่คือ การดูแลรักษาพื้นที่ป่า ในเมื่อไม่มีสภาพความเป็นป่า เป็นข้อขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย การจะไล่จับใครก็ยากลำบาก เบื้องต้น ที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบนั้น ได้ทำการลงบันทึกประจำวันเอาไว้แล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดูได้ว่า ใครเป็นผู้เข้ามาทำพื้นที่นี้

ทางด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า หากหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ทรัพย์สินก็ต้องกลับมาเป็นของรัฐใครจะเข้าไปดำเนินการไม่ได้ การเก็บหาของป่าก็ไม่อนุญาต เพราะฉะนั้นควรที่จะขึ้นป้ายประกาศให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินแปลงนี้หมดสัญญาสัมปทานแล้วตั้งแต่เมื่อไร และไม่อนุญาตให้มีการเก็บหาของป่า การเขียนแบบนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน 2. เมื่อมีการดำเนินการลงบันทึกประจำวันแล้ว เรื่องก็อยู่ที่พนักงานสอบสวน ทางเจ้าหน้าที่ก็ควรไปเร่งรัดพนักงานสอบสวน ให้เร่งรัดดำเนินการติดตามหาผู้กระทำความผิด โดยให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป ส่วนประเด็นที่ 3. เป็นส่วนที่คณะกรรมาธิการจะดำเนินการได้ คือ เร่งให้กรมป่าไม้มีนโยบายให้ชัดว่า ที่ๆหมดสัญญาสัมปทานจะดำเนินการอย่างไรต่อ ความเห็นของกรรมาธิการฯคือ ไปจัดสรรให้ประชาชนผู้ยากไร้ในรูปแบบของ คทช.(โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งเป็นเรื่องของกรมป่าไม้จะต้องไปดำเนินการต่อ สามารถทำได้ 3 แนวทาง ส่วนที่ชาวบ้านร้องเรียนคือ เวลามีการโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ถ้าข้อมูลที่เป็นความลับรั่วไหลออกไปเกรงจะเกิดความไม่ปลอดภัย จึงขอกำชับทางฝั่งเจ้าหน้าที่ว่าถ้ามีการโทรไปแจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงแล้วขอให้เก็บเป็นความลับ ส่วนพื้นที่ภายในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง มีหลายฝ่ายทั้ง อบต. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ถ้ามีใครที่เข้ามาทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ไม่ถูกต้อง ก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ไปดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งที่ส่อเค้าจะเกิดรุนแรงในพื้นที่

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวอีกว่า ทางคณะกรรมาธิการฯจะนำไปหาทางออกบนเวทีประชุมที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันศุกร์นี้ โดยจะเอาปัญหาพื้นที่เช่าสวนปาล์มน้ำมัน ตรัง-กระบี่ และสุราษฎร์ธานีไปเข้าที่ประชุมทั้งหมด และเตรียมเชิญกรมป่าไม้มาให้ข้อมูลและหาทางออกด้วย ในส่วนของรัฐบาลคนที่เข้ามาดูแลคือ รองนายกฯพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ และลงที่สุราษฎร์ธานีไปแล้ว ขณะนี้กำลังขอข้อมูลเช่นกันว่า ทางฝั่งรัฐบาลมีข้อสั่งการใดๆหรือไม่ ถ้ามีข้อสั่งการใดก็จะเอาเข้าที่ จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นอีก 2 สัปดาห์จะลงพื้นที่จ.กระบี่ ก็จะไปดูเรื่องเดียวกันคือ เรื่องสวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทาน ซึ่งเมื่อจบแล้วก็จะมีข้อมีสรุปของกรรมาธิการเรื่องของที่เช่าที่เป็นสวนปาล์ม โดยเอาข้อเท็จจริงมาไล่เรียงกันทั้งหมด ซึ่งข้อเท็จจริงแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน โดยที่สุราษฎร์ธานี มีคนเข้าไปยึดพื้นที่เลยและจัดสรรพื้นที่แล้ว ซึ่งก็เป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนที่จ.กระบี่มีการไปขออนุญาตขุดหาของป่า ซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตแล้ว ก็เป็นประเด็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นกรรมาธิการจะต้องดูในภาพรวม และก็จะดูแนวทางของรัฐบาลด้วย ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ต้องเชิญคณะทำงานของรองนายกประวิทย์มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงก็ต้องเชิญ แล้วก็ต้องดูในภาพใหญ่ แล้วก็จะมีความเห็นร่วมกับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาเบื้องต้นที่คณะกรรมาธิการเห็นขณะนี้คือ แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ออกมาในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน โดยจ.ตรังไม่อนุญาตให้หาของป่า แต่บางพื้นที่อนุญาต ความเห็นเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการขณะนี้คือ ที่ๆที่หมดสัญญาสัมปทานแล้ว ไม่ควรอนุญาตให้ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเก็บหาของป่า หรือดำเนินการใดๆ แต่บางพื้นที่ก็มีฝั่งทุน หรือฝั่งที่ขอสัญญาสัมปทานไปฟ้องศาลก็เป็นคดีในศาล ยังไม่จบ ซึ่งเมื่อเป็นคดีในศาลเราจะไปละเมิดศาลก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไป แต่ในประเด็นที่ไม่มีการฟ้องก็ต้องคุยกันในแต่ละประเด็น เช่น กรณีขอเก็บหาของป่าต้องไม่อนุญาต เมื่อไม่อนุญาตที่ดินแปลงนี้กลับมาเป็นของรัฐแล้ว เราก็มีความเห็นต่อว่า ควรดำเนินการจัดสรรให้ประชาชนที่ยากไร้ตามรูปแบบของ คทช.ต่อไป ทั้งนี้ ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าจะต้องได้ข้อสรุปเพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นแนวทางการปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่คือ ข้อสรุปทางนโยบาย คือ หมดสัญญาสัมปทาน ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน ห้ามเก็บของป่า เคลียร์พื้นที่กลับมาเป็นของรัฐแล้วนำไปจัดสรรให้ชาวบ้านถือเป็นข้อยุติเชิงนโยบาย แต่ข้อยุติเชิงพื้นที่จะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละที่ ถ้าตรงไหนที่เป็นคดี ก็ต้องปล่อยที่ๆที่เป็นคดีตรงนั้นไป ให้คดีจบก่อนค่อยว่ากัน ส่วนที่ไม่เป็นคดีที่เป็นลักษณะการหวนเข้ามาอ้างสิทธิของนายทุน เมื่อแจ้งความไว้แล้ว จะดำเนินคดีก็ต้องว่าไป แต่ที่ดินแปลงนี้ เมื่อปลอดจากการสัมปทาน และปลอดจากการเก็บหาของป่า ก็ต้องไปจี้กรมป่าไม้ให้เอาที่กลับ เอาไปจัดสรรให้ชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้สัมปทานขนาดใหญ่เชิงพาณิชย์แบบนี้ควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ความเห็นของเราในคณะกรรมาธิการสามัญเรื่องที่ดินซึ่งเป็นชุดใหญ่ และตนเองก็อยู่ด้วย ว่าการเอาที่ดินของรัฐไปให้เอกชนเช่าทำเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่ควรทำแล้ว พอถึงจุดหนึ่งมันผ่านจุดนั้นมาแล้ว ในอดีตเราจำเป็นที่จะต้องมี แต่ในอนาคตไม่จำเป็นแล้ว แต่ว่าบางที่ที่กรมป่าไม้มีนโยบายที่จะไปปลูกป่าเพื่อที่จะเอาเครดิตคาร์บอน แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละที่ แต่ไม่ควรให้มีการเช่าในเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะได้ประโยชน์เฉพาะนายทุน แต่คนยากไร้ที่ไม่มีดินทำกินมีอีกจำนวนมาก ควรจะได้รับการดูแล ซึ่งทางด้านชาวบ้านที่ร้องเรียนร้องขอให้มีการจัดการพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ จัดเป็นป่าชุมชน และแบ่งจัดสรรให้ชาวบ้านอยู่อาศัยทำกิน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน