X

ตรัง ชาวสวนวอนรัฐแก้ปัญหาชาวสวนยาง ให้ชาวสวนไม่มีเอกสารสิทธิ เข้าถึง พ.ร.บ.การยาง

กรรมการการยางแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งเป็นกลุ่มคนกรีดยาง และชาวสวนยางไม่มีเอกสารสิทธิ ร้องขอบอร์ดแก้ไข พ.ร.บ.การยาง ให้ชาวสวนไม่มีเอกสารสิทธิเข้าถึงสวัสดิการ และสามารถโค่นยางปลูกทดแทนใหม่ได้ ขณะเดียวกันตัวแทนชาวสวนยางถามบอร์ดการยาง วิกฤติโควิดเอกชนผลิตถุงมือยางออร์เดอร์สั่งซื้อมหาศาล แต่ราคาผลผลิตของชาวสวนยังตกต่ำ โดยวันนี้ราคาน้ำยางสดเหลือกิโลกรัมละ 38 – 40 บาท

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่วัดเขาแก้ว ต.นาเมืองเพ็ชร อ.สิเกา จ.ตรัง นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง (สคยท.) และนายภิรมย์ หนูรอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จ.ตรัง ลงพื้นที่พบปะกับกลุ่มคนกรีดยางบ้านทุ่งทวย ,เครือข่ายสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เพื่อชี้แจงนโยบายการยางเกี่ยวกับความมั่นคงของอาชีพทำสวนยาง ของการยางแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.การยางฯ และสิทธิประโยชน์ชาวสวนยาง โดยมีเครือข่ายกลุ่มคนกรีดยางบ้านทุ่งควาย และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งในบ้านทุ่งควาย และและตำบลใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟัง ประมาณ 100 คน โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ลุกขึ้นนำเสนอปัญหาต่างๆของตนเอง เช่น ปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ (ภบท.5) ที่ไม่สามารถโค่นยางและปลูกทดแทนใหม่ได้ ,ปัญหาสวัสดิการชาวสวนยางที่ได้เฉพาะการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น ทั้งเงินชดเชย และค่าทำศพ แต่ไม่ได้รับกรณีการบาดเจ็บ ต้องรักษาพยาบาลขาดรายได้ และชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว ขอให้นำเข้าสู่บอร์ด และแก้ไข พ.ร.บ.การยางฯ เพื่อให้ครอบคลุมเกษตรกร

ขณะเดียวกันเกษตรกร เสนอ กยท.ตรัง ให้มีการจัดเวทีลักษณะนี้ทุกเดือน หรือเปิดเป็นสภากาแฟ เพื่อให้ชาวสวนได้นำเสนอปัญหา และรับฟังความคืบหน้าในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร รวมทั้งเสนอการจัดตั้งไตรภาคีชาวสวนยาง ลักษณะเช่นเดียวกับชาวไร่อ้อย ที่รวมเกษตรกรชาวสวน และพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อ และส่งออกยาง

ขณะที่นายชัยพร จันทร์หอม ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ยังได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กรณีการเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่บริษัทเอกชนผลิตถุงมือยาง มีออร์เดอร์สั่งซื้อมหาศาล แต่ราคายางพาราของชาวสวนกลับสวนทางราคาตกต่ำสุดขีด โดยขณะนี้น้ำยางสดเหลือกิโลกรัมละ 38 – 40 บาทแล้วเท่านั้น รัฐบาลควรจะหันมาแก้ปัญหาให้ชาวสวนยางได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ โดยการผลักดันให้มีการใช้ยางธรรมชาติแทนการใช้ยางสังเคราะห์มาผลิตถุงมือยาง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับการแก้ปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ

ทางด้านนายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง (สคยท.) กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะพยายามผลักดันให้เกษตรกรที่ถือบัตรสีชมพู ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิได้รับการยกระดับเป็นบัตรสีเขียวให้ได้ เพื่อให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับเกษตรกรที่ถือบัตรสีเขียว โดยจะผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทางบอร์ดการยางจะกลับไปหารือเรื่องการขึ้นทะเบียน เพื่อให้เกษตรกรที่มีบัตรสีชมพูขึ้นเป็นบัตรเขียว เพื่อให้ได้รับสิทธิ์จาก พรบ.การยาง สิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เดิมบัตรสีชมพูไม่เคยได้ แต่ขณะนี้ได้แล้ว โครงการประกันรายได้ระยะที่ 2 ที่จะเริ่มต้นสิงหาคม – ต้นปี 2564 จะได้รับสิทธิในครั้งนี้ด้วย ซึ่งในเฟสแรกไม่มี การแก้ปัญหาสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยให้ชาวสวนใช้ความคิดสวนยางยั่งยืนที่ปลูกพืชอื่นๆแซมด้วย เป็นกลไกและเครื่องมือ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายผ่านแปลงรวม คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ) หรือแปลงโฉนดชุมชน เข้าไปขอมติจากบอร์ดการยาง เพื่อให้ได้รับการปลูกแทนตาม มาตรา 36 ซึ่งใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (2) ต่อไป

ส่วนกรณีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด -19 ทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ถุงมือยางเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เคยมีความหวังก่อนหน้านี้ว่า เมื่อมีการผลิตถุงมือยางเกิดขึ้นจำนวนมาก จะทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ผิดคาดเพราะปรากฏว่าผลประโยชน์มหาศาลไปตกกับบริษัทเอกชนที่ผลิตถุงมือยางทั้งหมด เนื่องจากบริษัทเอกชนต่างๆเหล่านั้นใช้ยางสังเคราะห์แทนการใช้ยางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวสวนยางแต่อย่างใด ตรงกันข้ามราคาน้ำยางสดกลับดิ่งตกต่ำลงเหลือกิโลกรัมประมาณ 38 – 40 บาทเท่านั้น นายสุนทร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราควรต้องใช้สถานการณ์โควิด ที่มีความต้องการใช้ถุงมือทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวสวนยาง ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันส่งเสียงเรียกร้อง โดยเฉพาะเครือข่ายชาวสวนยางทั่วประเทศ จะต้องเรียกร้องไปยังแพลตฟอร์มเวทีระดับโลกที่เรียกว่า GPSNR (Global Platform Sustainable Natural Rubber ) ที่เป็นเวทีความร่วมมือระดับโลก เพื่อยางธรรมชาติที่ยั่งยืน ให้เป็นผู้นำการต่อสู้และผลักดันในเรื่องนี้ และเป็นไปตามกระแสกรีน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของโลกต่อไป ดังนั้น จะต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการใช้ยางธรรมชาติจากชาวสวนไปผลิตเป็นถุงมือทางการแพทย์ แทนการใช้ยางสังเคราะห์ จากปิโตรเลียม ขณะเดียวกันขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมผลักดันก่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางเอง เพื่อส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติผลิตเป็นถุงมือยาง ซึ่งหากทำได้จะเกิดประโยชน์กับชาวสวนยางทำให้ราคายางสูงขึ้นแน่นอน และเป็นผลดี จะเป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน