ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.กะลาเส อ.สิเกา บุกที่ว่าการอำเภอสิเกา ร้องเรียนการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบมาพากล หลังพบชื่อชาวบ้านผู้มีสิทธิบางคนถูกเซ็นชื่อรับบัตรเลือกตั้งก่อนเจ้าตัวจะไปใช้สิทธิ
วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ว่าการอำเภอสิเกา จ.ตรัง ชาวบ้านหมู่ 5 ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง ประมาณ 50 คน นำโดย นายมนัส รักษ์ษาเมือง อายุ 58 ปี และนายทรงศักดิ์ บูก้ง อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.กะลาเส เดินทางไปที่ว่าการอำเภอสิเกา เพื่อขอพบกับนายมานะ เทือกสุบรรณ นายอำเภอสิเกา เพื่อร้องเรียนกรณีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.กะลาเส ที่ผ่านพ้นไป เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ที่ผ่าน ซึ่งมีผู้สมัครรวม 2 คน ประกอบ หมายเลข 1 คือ นายสมพร แซ่ต่อง ได้รับคะแนน 144 เสียง และหมายเลข 2 นายทรงศักดิ์ บูก้ง ได้รับคะแนน 138 เสียง เฉือนกันเพียง 6 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิรวม 289 เสียง โดยกลุ่มชาวบ้านมองว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เกรงกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะทุจริตช่วยเหลือผู้สมัครคู่แข่ง เนื่องจากเกิดกรณีผู้ใช้สิทธิบางคนเมื่อไปแจ้งชื่อขอลงคะแนนพบว่า ชื่อของตัวเองมีคนลงชื่อกำกับรับบัตรเลือกตั้งไปก่อนหน้าแล้ว ทำให้สงสัยว่ากรรมการประจำหน่วยจะเกิดการทุจริต เพื่อช่วยเหลือผู้สมัครอีกคน เมื่อมีการสอบถามทักท้วง ก็มีการเอาน้ำยาลบคำผิดมาลบ แล้วให้ผู้ใช้สิทธิคนดังกล่าวเซ็นชื่อใหม่ เพื่อรับบัตรลงคะแนน โดยให้เหตุว่าผู้สูงอายุคนหนึ่งที่มาใช้สิทธิก่อนหน้า ลงชื่อผิดช่อง โดยชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิรายดังกล่าว ได้ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรังแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ในวันที่ 26 มิถุนายน หลังวันเลือกตั้ง ทั้งผู้สมัคร และชาวบ้านผู้มีสิทธิได้เดินไปร้องต่ออำเภอสิเกา ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น และร้องขอให้มีการตรวจนับคะแนน และตรวจสอบการลงคะแนนใหม่ทั้งหมด ทั้งบัตรเลือกตั้ง จำนวนผู้มีสิทธิ ผู้มาใช้สิทธิ บัตรดี บัตรเสีย จำนวนบัตรที่เบิกมา และจำนวนบัตรที่ใช้ไป ว่าถูกต้องโปร่งใสตรงตามบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ โดยในวันดังกล่าว (26 ก.ค.) นายมานะ เทือกสุบรรณ นายอำเภอสิเกา แจ้งให้ผู้จะร้องเรียนไปรวบรวมหลักฐานมายื่นเรื่องคัดค้านการเลือกตั้ง เพื่อทางอำเภอจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายเลือกตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ในวันดังกล่าว ชาวบ้านแจ้งต่อนายอำเภอว่า จะไปดำเนินการแจ้งความลงบันทึกประจำ และจะไปร้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ท้ายที่สุดในวันที่ 26 มิถุนายนดังกล่าว ชาวบ้านก็ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน และร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง และรอทางศูนย์ดำรงธรรมดำเนินการ แต่รอมานานยังไม่ดำเนินการ และทางนายอำเภอสิเกา ได้รับรองผลการเลือกตั้งและแต่งตั้งตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านไปแล้ว จึงเดินทางมาทวงถามความคืบหน้าที่ได้ร้องเรียนไป โดยเข้าใจว่าการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรังดังกล่าว ถือเป็นการร้องคัดค้านการเลือกตั้งแล้ว
ทั้งนี้ ขณะเข้าพบนายมานะ เทือกสุบรรณ นายอำเภอสิเกา ชี้แจงว่า การร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมกรณีของผู้ใช้สิทธิที่สงสัยในการพฤติการณ์ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่เป็นการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง การร้องคัดค้านการเลือกตั้งจะต้องร้องคัดค้านต่อนายอำเภอเท่านั้น และจะต้องร้องเรียนภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง แต่การร้องเรียนนี้ เป็นการร้องเรียนทั่วไปเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย และไปร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรังมาแล้ว และเป็นเรื่องเดียวกันกับที่มาร้องกับตน ตนจะรายงานต่อทางจังหวัดให้รับทราบต่อไปเอง ดังนั้น ตนเองจึงไม่มีอำนาจอะไร จะไปเปิดหีบคะแนน ตรวจสอบบัตรเลือกตั้งและบัญชีเลือกตั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจในคำตอบ โดยให้เหตุผลว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ได้เดินทางมาร้องเรียน และปรึกษากับนายอำเภอในวันนั้น ทำไมนายอำเภอไม่ได้ชี้แจงให้เข้าใจว่า ตามระเบียบกฎหมายเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การร้องคัดค้านการเลือกตั้งจะต้องร้องต่อนายอำเภอคนเดียวเท่านั้น และไม่ชี้แจงให้ชัดเจนต่อไปว่า การร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม ไม่ถือว่าเป็นการร้องคัดค้านถ้าจะร้องคัดค้านต้องร้องคัดค้านต่อนายอำเภอเท่านั้น เพื่อให้พวกตนทำได้อย่างถูกต้อง แต่การแจ้งโดยไม่ทำความเข้าใจดังกล่าว ทำให้พวกตน ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาเข้าใจว่า การร้องคัดค้าน สามารถร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้ และเข้าใจผิดว่าการร้องคัดค้านจะต้องภายใน 15 วัน นับจากวันแต่งตั้ง เนื่องจากไม่ได้มีการอธิบายในข้อกฎหมายที่ชัดเจนจากนายอำเภอ จึงทำให้พวกตนเสียสิทธิในการร้องคัดค้านการเลือกตั้งในครั้งนี้
ทางด้านนายมนัส รักษ์ษาเมือง อายุ 58 ปี ชาวบ้าน กล่าวว่า ฟังการชี้แจงของนายอำเภอแล้ว ทำให้ผิดหวัง และอดคิดไม่ได้ว่าทางอำเภอเข้าด้วยช่วยเหลือผู้สมัครอีกคน เพราะในวันมาพบนายอำเภอเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ไม่มีการชี้แจงและให้เหตุผลอย่างละเอียด ถึงการร้องคัดค้านว่า ต้องทำกับนายอำเภอเท่านั้น เพียงแต่บอกให้ไปรวบรวมหลักฐานและพวกตนก็แจ้งในวันดังกล่าวแล้วว่า จะไปแจ้งความและร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งทางที่ควรจะเป็นคือ ทางอำเภอจะต้อง ชี้แจงให้พวกตนเข้าใจชัดเจนว่า การร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมนั้น ไม่ใช่การร้องคัด การร้องคัดค้านกระทำได้ต้องผ่านอำเภอเท่านั้น พวกตนจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยครั้งนี้ทำให้พวกตนเสียสิทธิ จึงจะร้องเรียนต่อทางจังหวัดและศาลปกครองต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: