เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง จัดโครงการ “ครูป่าไม้” ให้ความรู้น้องๆเกี่ยวกับการจัดการขยะทางทะเล โดยการนำขยะที่ไร้ค่า มาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ ของใช้ ของเล่น ของประดับตกแต่งชิ้นใหม่ หรือเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ ขายเป็นเงินได้ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการจัดการขยะ รับผิดชอบต่อสังคม และต่อยอดความรู้นำขยะที่ได้ไปรีไซเคิลทำเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ได้
ที่โรงเรียนบ้านน้ำราบ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง พี่ๆ “ครูป่าไม้” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง นำโดยนางสาวบัวทิพย์ จันทรมณี พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่สื่อความหมายธรรมชาติ และทีมงาน ร่วมกันให้ความรู้แก่น้องๆนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำราบ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ในโครงการ “ครูป่าไม้ เกี่ยวกับการจัดการขยะทางทะเล โดยการนำขยะที่ไร้ค่าที่ถือเป็นเศษขยะจริงๆ ซึ่งเมื่อเหลือจากการคัดแยกเพื่อส่งขายให้แก่โรงงานแล้ว จะต้องกลายเป็นขยะตกค้าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆได้อีก จะต้องนำไปกำจัดโดยวีธีการเผา หรือการฝังกลบเท่านั้น ซึ่งขยะบางชนิดใช้เวลานานมากในการย่อยสลาย แต่สามารถนำมารีไซเคิล ทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมชิ้นใหม่ที่สวยงาม เก๋ไก๋ แปลกตา เพื่อลดปัญหาขยะตกค้าง หรือขายเปลี่ยนสภาพเป็นเงินได้ ทั้งนี้ พี่ๆได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆที่ได้จากขยะ มาโชว์ผลงานได้น้องๆได้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อจะได้เกิดแนวคิดในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆจากขยะต่อไป โดยจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากฝีมือของพี่ๆ “ครูป่าไม้” ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง จะเห็นว่าขยะจากทะเลทุกชนิด ซึ่งเกิดจากเครื่องมือประมง และฝีมือมนุษย์ที่ทิ้งลงไป รวมทั้งขยะทั่วไปจากครัวเรือน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ชิ้นใหญ่ คัดแยกนำไปส่งขายให้แก่โรงงานนำไปทำขยะรีไซเคิล และเศษขยะซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการคัดแยกส่งขายแล้วที่เหลือเป็นเศษๆ เช่น เศษอวน เศษพลาสติกชนิดต่างๆ เศษลวด เศษไม้ เศษเชือก เศษโฟม เป็นต้น สามารถนำมาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆตั้งแต่ชิ้นเล็กๆจนถึงชิ้นใหญ่ที่มีมูลค่าได้ ทั้งของเล่น เช่น หุ่นยนต์ สิ่งประดับตกแต่ง แจกันดอกไม้ โมบาย กระถางต้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งขยะยัดใส่ขวดนำไปทำเป็นรั้วกำแพง ทำแพ และสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหญ่ที่สวยงาม เช่น นักดำน้ำ เต่าทะเล มนุษย์กบ มนุษย์อวกาศ ตุ๊กตาหมี เป็นต้น กลายเป็นงานฝีมือที่เป็นต้องการของโรงงานต่างๆ ที่หาซื้อนำไปเป็นตัวอย่างให้แก่บุคลากร บางแห่งซื้อนำไปประดับตกแต่งร้าน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลงานต่างๆของพี่ๆครูป่าไม้ จากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง พี่ๆ มักจะนำไปจัดแสดงนิทรรศการตามสถานที่การจัดงานต่างๆ ของหน่วยงานราชการทั้งในจังหวัดตรัง , จ.สตูล และ จ.กระบี่ รวมทั้งตามโรงเรียนต่างๆที่ลงไปให้ความรู้แก่นักเรียน รวมทั้งตามตลาดนัดชุมชนต่างๆ เพื่อถ่ายทอดแนวความคิดเรื่องการจัดการขยะตกค้างให้แก่เยาวชน ประชาชนทั่วไปได้เห็น และเกิดแนวคิดในการร่วมกันกำจัดขยะที่เหลือใช้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้ ทุกแห่งที่นำไปจัดแสดงจะได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะน้องๆเด็กๆ จะสนเป็นอย่างมาก
ทางด้านน้องๆนักเรียน โรงเรียนบ้านน้ำราบ ที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า ชอบมากที่ได้ฝึกคิดทำกิจกรรมแบบนี้ เพราะสนุก และได้ความรู้จากพี่ๆ ทำให้เรียนรู้เกี่ยวกับการนำขยะที่มีอยู่ นำมารีไซเคิล ประดิษฐ์เป็นของใช้ สิ่งประดับ และอื่นๆอีกมากมาย ขอบคุณพี่ๆที่มาให้ความรู้ ที่ผ่านมาทุกคนตระหนักดีในการช่วยกันรักษาความสะอาด และช่วยกันกำจัดขยะ โดยการคัดแยกขยะ ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด และช่วยกันเก็บขยะในทะเล
ขณะที่นางสาวบัวทิพย์ จันทรมณี เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง หรือป้าบัวของเด็กๆ กล่าวว่า โครงการนี้ชื่อว่า “โครงการครูป่าไม้” เพื่อสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้แก่ครู และเยาวชนในโรงเรียน ให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความรักความหวงแหน และสร้างเครือข่ายเยาวชนในการอนุรักษ์ กระตุ้นให้เด็กๆ ซึ่งเราเชื่อว่ามั่นเยาวชนมีความคิด มีพลังที่จะเปลี่ยนโลกได้ ช่วยลด เลิก ทิ้งขยะให้ถูกที่ และต้องใช้ใจ และจิตสำนึกในการร่วมมือกันกำจัดขยะ โดยเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พลังเพื่อสิ่งแวดล้อม จากชิ้นงานในวันนี้เด็กๆจะได้รู้ว่า ขยะ เราจะต้องทิ้งให้ถูกที่ และกำจัดให้ถูกวิธี จะรู้ว่าขยะชิ้นไหนที่เอาขายไม่ได้ แต่เรามาเปลี่ยนทำเป็นงานศิลปะและนวัตกรรมต่างๆได้ เพื่อจะได้ช่วยลดขยะชายทะเล และทำให้วันนี้เด็กจะได้กลับไปคิดได้ว่า ขยะที่เรารังเกียจ ไม่ชอบ สามารถเป็นทำเป็นชิ้นงานที่เรารักได้ ซึ่งเมื่อสิ่งของชิ้นใดที่เราใช้แล้ว หรือหมดสภาพแล้ว และกลายเป็นขยะ ทำให้เราคิดได้แล้วว่า เราควรจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ชิ้นงานบางชิ้น สามารถขายเปลี่ยนเป็นเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมาชิ้นงานที่ป้า และทีมงานประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อจัดแสดงเป็นตัวอย่างให้แก่คนทั่วไป และเด็กๆ จะมีคนติดต่อขอซื้อชิ้นงานไปนำไปประดับตกแต่ง และนำไปเป็นชิ้นงานตัวอย่างให้แก่บุคลากรในโรงงาน นำไปต่อยอดต่อไป ทั้งนี้ จะเห็นว่าขยะแม้แต่เศษขยะ ก่อนจะทิ้งก็สามารถนำไปทำประโยชน์ สามารถต่อยอดได้ หรือขายเป็นผลงานได้ โดยเด็กๆก็จะได้เกิดแนวคิดว่า ขยะนอกจากคัดแยกประเภท บางชนิดคัดแยกส่งขายได้แล้ว แต่ที่เหลือสามารถนำมาต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม สามารถสร้างมูลค่าของขยะได้อีกทางหนึ่งด้วย จะได้ช่วยกันไม่มีขยะตกค้างมากในโลก
ข่าวน่าสนใจ:
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: