ชาวบ้านทุ่งตะเซะ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง รวมตัวจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา นำ” ใบจากจากต้นจาก” ซึ่งขึ้นอย่างชุกชุมในพื้นที่มาผลิตเป็นจานใบจาก ถือเป็นจานรักษ์โลก ทดแทนการใช้กล่องพลาสติก และโฟม ช่วยชุมชนและสังคมลดขยะ
วันที่ 12 สิงหาคม 2563 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา ม.9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง พบว่าบรรดาเหล่าแม่บ้านบ้านทุ่งตะเซะ นำโดย นางแช่ม เพ็ชรจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา ร่วมกันใช้เวลาว่างหลังจากการประกอบอาชีพสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และอาชีพประมง ช่วยกันผลิตจานใบจาก ซึ่งได้จาก “ต้นจาก” ที่มีขึ้นอย่างชุกชุมในพื้นที่ เพราะสภาพพื้นที่ทั่วไปของบ้านทุ่งตะเส๊ะอยู่ติดลำคลองปะเหลียน น้ำทะเลจะหนุนถึง ทำให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลอยู่โดยรอบ ทำให้มี “ต้นจาก” ขึ้นอย่างหนาแน่นในพื้นที่ ประกอบกับชาวบ้านซึ่งเห็นคุณค่าของต้นจาก ยังได้นำต้นจากมาปลูกไว้ตามพื้นที่ต่างๆในที่ดินของตนเองที่น้ำทะเลขึ้นถึง เพื่อเพิ่มพื้นที่และปริมาณต้นจากให้มากขึ้น เพราะต้นจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ใบ ใช้เย็บจากเพื่อใช้มุงหลังคา ผล หรือลูกจาก เนื้อในสีขาวอ่อนสามารถรับประทานได้รสชาติเหมือนกับผลตาลสด รวมทั้งใช้ทำขนม เช่น ลูกจากเชื่อม ลูกจากลอยแก้ว ปลายช่อดอก จะมีรสหวานสามารถทำน้ำตาลจาก น้ำตาลปึก หรือทำน้ำส้มจาก นำไปผสมกับอาหารเลี้ยงกุ้ง ใบอ่อน ใช้สำหรับมวนบุหรี่ ทำของใช้ต่างๆภายในบ้าน เช่น โคมไฟ หมาจาก แก้วน้ำ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ใบอ่อนของต้นจาก กลุ่มชาวบ้านหัวใสนำมาประดิษฐ์ หรือสานเป็นจานสำหรับใช้ใส่อาหารได้ทั้งของคาว ของหวาน รวมทั้งใส่แกงต้ม ก็ได้ด้วย ถือเป็นจานรักษ์โลก นำวัสดุที่มีในชุมชนมาต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ ทดแทนการใช้พลาสติก และกล่องโฟม ช่วยลดขยะในชุมชน และกระตุ้นสังคมร่วมกันใช้วัสดุจากธรรมชาติช่วยกันดูแลรักษาโลก เนื่องจากจานใบจากสามารถใช้งานได้ดี โดยสามารถใช้ซ้ำได้ ถึง 3 ครั้ง และยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เพราะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ที่มีอยู่ในพื้นที่
ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำ “จานจาก” ทำได้ง่ายๆ เริ่มจากการไปตัดยอดอ่อนจากต้นจาก ที่มีขึ้นอยู่ทั่วไปริมคลองประเหลียนหรือที่มีน้ำทะเลหนุนถึง โดยชาวบ้านจำนวนมากยังได้นำมาปลูกไว้ในที่ดินว่างเปล่าของตนเองที่มีน้ำทะเลหนุนถึง และเพาะปลูกพืชชนิดอื่นไม่ได้ จึงนำต้นจากมาปลูกแทน ทั้งนี้ ในการตัดจะต้องเลือกเอายอดอ่อนที่ได้ขนาด นำมาตัดแล้วลอกออกเป็นใบๆ (ลักษณะเหมือนเป็นเส้น แต่พอใช้มีดสับลงไปจะขาดออกมาเป็นใบๆ) จากนั้นนำมาคลี่ม้วนๆ เป็นใบ มัดรวมกัน แล้วนำไปตากแดดประมาณ 2 ชม. และนำมาตัดเป็นท่อนให้ได้ความยาวขนาด 12 นิ้ว และความกว้างขนาด 8.3 นิ้ว หรือความกว้าง – และยาว เท่ากับกระดาษ เอ 4 โดยชาวบ้านจะตัดขนาดด้วยแผ่นใส แทนกระดาษ เอ 4 จากนั้นนำใบจากที่ได้มาทาบตามแนวยาวของแผ่นใสแล้วตัดออกมาเป็นแผ่นๆ ก่อนนำมาจัดวางเรียงกันตามแนวนอน และตามแนวขวางของแผ่นใสจนเต็มแผ่นใส จากนั้นใช้แป้งเปียกที่กวนเองทำจากแป้งมันสำปะหลังนำมาทาให้ยึดติดเป็นแผ่นเดียวกัน จากนั้นนำมาซ้อนทับกันสองชั้นระหว่างแนวขวางกับแนวนอน แล้วทายึดให้ติดกันอีกครั้งด้วยแป้งเปียก เพื่อให้จานที่จะออกมามีขนาดที่หนา แข็งแรง ทนทานใช้งานได้หลายครั้ง จากนั้นเมื่อทั้งสองติดกัน นำไปวางโดยใช้แท่งเหล็กสี่เหลี่ยมที่มีน้ำหนักมากวางทับให้แป้งเปียกที่ยึดกันทั้ง 2 ชั้น ติดแน่นยิ่งขึ้น และใบจากมีความเรียบไม่งอตัว หลังจากนั้นเอาแผ่นใบจากที่อัดกาวแป้งเปียกแล้วออกมาตัดมุม 2 ด้าน ตรงข้ามกัน และนำเข้าเครื่องอัดขึ้นรูปจาน จนได้รูปทรงจานตามแบบ โดยอัดขึ้นรูปใบละ 2 ครั้ง จากนั้นนำมาตัดแต่งให้สวยงาม เป็นอันเสร็จขั้นตอนการผลิตจานใบจาก 1 ใบ ก็จะได้จานใบจากที่ลวดลายสวยงาม แข็งแรง ทนทาน ไม่อ่อนตัว เมื่อโดนความร้อน ไม่รั่วซึม สามารถใช้งานได้จริง
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง คุณทวดวัย 94 ให้กำลังใจ 'บุ่นเล้ง' ชิงเก้าอี้นายก อบจ.ตรัง
- ตรัง ผู้ว่าฯ ตรังจับมือปุ้มปุ้ยมอบถังขยะการ์ตูนสุดคิวท์ 14 ร.ร.หวังปลูกจิตสำนึกรักษ์โลก
- ผู้การ ตร.ตรัง รุดเยี่ยมเด็กวัยขวบเศษ เหยื่อวัยรุ่นคะนองโยนระเบิดปิงปองกลางเคาท์ดาวน์หาดปากเมง สั่งล่าตัวมือปา ล่าสุดส่งตัวต่อรพ.ตรังแล้ว…
- ทีม “นายกบุ่นเล้ง” เบอร์ 1 ขยับก่อน ยกพลหาเสียงเกาะสุกร เช็คอินถนนสีรุ้ง ดันนโยบาย เปิดมิติใหม่ อบจ.ตรังหนุนท่องเที่ยว…
ทางด้านนางแช่ม เพ็ชรจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา กล่าวว่า กลุ่มของตนมีสมาชิกกลุ่มซึ่งเป็นแม่บ้านทั้งหมดรวม 31 คน รวมทั้งนายสมพงศ์ ไพบูลย์ กำนันต.ทุ่งกระบือ และนายจำเริญ นิลพันธ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่ มีความเห็นตรงกันว่าเราควรจะผลิตจานใบจาก โดยเกิดจากฐานความคิดต้องการลดขยะพวกพลาสติก และกล่องโฟม ในชุมชน แต่การจะเลิกใช้นั้น ต้องมีวัสดุอื่นมาทดแทน และเห็นว่าในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วย “ต้นจาก” เนื่องจากอยู่ติดริมชายฝั่งลำคลองปะเหลียนซึ่งน้ำทะเลหนุนถึง จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มผลิตจานใบจากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และจะได้เป็นแบบอย่างแก่ชุมชนและสังคมให้ทุกคนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาขยะ ร่วมกันรักษาโลกร้อน ต้องการผลักดันให้ชุมชนทุ่งตะเซะเป็นแบบอย่างชุมชนรักษ์โลกต่อไป โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง เป็นที่ปรึกษา และถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่ม ซึ่งการผลิตทุกขั้นตอนใช้วัสดุจากธรรมชาติ ได้แก่ใบจากที่หาได้ทั่วไปในชุมชน กาวที่ใช้ยึดผสานทำจากแป้งมันกวนในน้ำร้อนจนเกิดความเหนียวเหมือนกาว ซึ่งมั่นใจได้ว่าปลอดภัยไร้สารตกค้าง เมื่อใช้เสร็จสามารถทิ้งและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทั้งยังเป็นอาหารของมดปลวกและเป็นปุ๋ยได้ด้วย ปัจจุบันในแต่ละวันสามารถผลิตได้แค่วันละ 40 – 50 ใบเท่านั้น เพราะมีเครื่องจักรขึ้นรูปเพียงเครื่องเดียว และขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เพราะต้องนำไปจากไปตากแดดก่อน โดยจานที่ผลิตได้ขายในราคาใบละ 15 บาท โดยปัจจุบันมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางไลน์ และทางเฟซบุ๊ก ทั้งจากในจังหวัดตรัง จังหวัดใกล้เคียง และจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการในพื้นที่จะนิยมสั่งซื้อไปใช้ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน แต่ในอนาคตทางกลุ่มจะเพิ่มกำลังการผลิต โดยกำลังมองหาเครื่องจักรขึ้นรูปมาเพิ่ม แต่จะมองหาที่จะใช้กับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ด้วย เพื่อประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่ลากหลายขึ้น สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์จานใบจาก สามารถสั่งซื้อได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา โทร.085-7917327
ทางด้านนายสมพงศ์ ไพบูลย์ กำนันต.ทุ่งกระบือ กล่าวว่า หลังจากสังคมภายนอกเริ่มรับรู้ว่าทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา เราสามารถผลิตจานใบจากและมีคุณภาพดีได้ ก็มีการสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากครั้งละ 100 – 200 ใบ โดยเฉพาะพรรคพวกของตนเองที่มีร้านอาหารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทางกลุ่มจึงต้องเร่งผลิต แต่ขณะนี้ยังผลิตได้น้อยจะต้องจัดหาเครื่องจักรมาเพิ่ม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามออร์เดอร์ของลูกค้าที่สั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก โดยแนวโน้มของตลาดมีความต้องการสูงมาก เพราะทุกคนตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ลดปัญหาขยะ ขณะเดียวกันทางกลุ่มจะพยายามเจาะตลาดในพื้นที่จังหวัดตรังให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะตลาดนัดชุมชนต่างๆ ในทุกอำเภอ และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมการลดขยะ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากธรรมชาติ เพื่อสร้างกระแสการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมขยายไปสู่สังคมอื่นๆ ต่อไปด้วย เชื่อว่าต่อไปจะเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาวต.ทุ่งกระบือ ส่วนการอนุรักษ์พื้นที่ หรืออนุรักษ์ป่าจากให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไปนั้น ทางกลุ่มมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ขณะนี้ส่งเสริมให้ทุกคนช่วยกันปลูกทดแทนในพื้นที่ว่างของตน เช่น ร่องน้ำสวนปาล์มน้ำมัน ริมคูน้ำต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลหนุนถึงให้ได้มากที่สุด และอาจจัดหางบประมาณสำหรับการปลูกทดแทนขยายพื้นที่ด้วย เพื่อรองรับการขยายตัวของการผลิตจานใบจากของชุมชนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: