หญ้าทะเลตรังวิกฤติหนักเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง ทำกระทบสัตว์น้ำทะเลลดลงอย่างมากขณะที่ชาวบ้านและเครือข่ายประมงพื้นบ้าน หวั่นกระทบประชากรพะยูนไม่มีอาหารจะสูญพันธุ์ในอนาคต
วันที่ 25 สิงหาคม 2563 ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจ.ตรัง นำโดยนายแสวง ขุนอาจ นางแช่ม เพ็ชรจันทร์ และนายสุเวทย์ เกตุแก้ว ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเลบริเวณหน้าแหลมจุโหยภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่และเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ของจังหวัดตรังที่มีประมาณ 180 ตัว หลังพบว่าหญ้าทะเลเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง เพื่อตรวจจับพิกัดค่าจีพีเอส ประมาณพื้นที่ความเสียหายที่ชัดเจน โดยสาเหตุทางชาวบ้านและเครือข่าวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังเชื่อว่า เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรัง ของกรมเจ้าท่า เพราะมีการนำตะกอนดินที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำไปทิ้งในทะเลซึ่งอยู่ห่างจากจุดแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 2 – 3 กม. แต่ถูกกระแสคลื่นลมซัดเอาตะกอนดินดังกล่าวเข้ามาทับถม จนเป็นเหตุให้หญ้าทะเลเน่าตายจนโล่งเตียนเป็นบริเวณกว้างตามภาพที่ปรากฎ เมื่อเข้าไปตรวจสอบดูใกล้ๆ และเดินย่ำพบตะกอนดิน ซึ่งไม่มีหญ้าพบมีแต่ตะกอนดินทับถมอย่างหนาแน่น จนเป็นดินโคลน โดยเฉพาะพื้นที่นับจากบริเวณหน้าเกาะนก แหลมจุโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง โดยสภาพปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2562 – 2563
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจจับพิกัดจีพีเอสพื้นที่ เพื่อนำไปคำนวณพื้นที่ความเสียหาย โดยนายสุเวทย์ เกตุแก้ว และนางแช่ม เพ็ชรจันทร์ ตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังกล่าวว่า นับจากบริเวณเกาะนก มาถึงบริเวณแหลมจุโหย ชาวประมงพื้นบ้านทั้งจากเกาะมุก และ เกาะลิบง เคยนำสภาพปัญหาดังกล่าวมาพูดคุยกันในการประชุมชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังมาตั้งแต่ปี 2561 ว่าถ้ามีการขุดลอกปากแม่น้ำตรัง ถ้ามีการขนย้ายตะกอนดินไปทิ้ง เชื่อว่าจะกระทบหญ้าทะเลอย่างแน่นอน แต่ไม่มีความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากนั้นเมื่อต้นปี 2562 ก็เริ่มพบตะกอนดินทับถมหญ้าทะเลบริเวณรอบนอกประมาณ 200 ไร่ แต่พอปลายปี 2562 พบว่าหญ้าทะเลเสียหายเป็นบริเวณกว้างมากยิ่งขึ้นจนถึงบริเวณนี้ จึงนำเข้าหารือในที่ประชุมชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังอีกครั้ง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ ให้มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลหญ้าทะเล ซึ่งมีความสำคัญมากกับระบบนิเวศทางทะเล เพราะเป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเล และที่สำคัญหญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูน โดยปี 2563 ยิ่งพบหญ้าทะเลตายลามมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความหายนะ มองออกไปเตียนโล่งไม่มีหญ้าทะเลเหลือ ทำสนามกอล์ฟได้เลย เชื่อว่าประมาณด้วยสายตาเสียหายนับ 1,000 ไร่ ซึ่งหญ้าทะเลตายดังกล่าวทำสัตว์น้ำทะเลสูญหาย ทั้งหอยหวาน หอยชักตีน ปูม้า กุ้ง ปลิงทะเล ไม่เหลือขณะนี้ชาวบ้านจับไม่ได้เลย
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม ปลาส้ม ของแซ่บ ยอดขายพุ่งเท่าตัว ประชาชน แห่ซื้อหลังเทศกาลปีใหม่
- ส.ส.ตรัง อวยพรปีใหม่ชาวตรัง-ประชาชนเดินทางกลับบ้านแน่นสถานีรถไฟทุกขบวน
- ปีใหม่สุราษฎร์ ฯ สุดเศร้า เกิดอุบัติเหตุหมู่เสียชีวิต 12 เจ็บสะสม 73
- กาญจนบุรี หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ จับแรงงานเถื่อนกว่า 100 ชีวิต และบุหรี่หนีภาษีมูลค่ามากกว่า 1.6 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่ออกมาเดินหาหอยชักตีนในช่วงน้ำลดต่างบอกยืนยันเช่นกันว่า ในบริเวณดังกล่าวสัตว์น้ำทะเลหายาก ทั้งไม่กุ้ง หอย ปู ปลา อย่างหอยชักตีนปกติในช่วงน้ำลดชาวบ้านจะออกมาเดินหาเก็บได้เป็นจำนวนมากวันละนับ 10 กิโลกรัมต่อคน แต่ขณะนี้เหลือประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อคน ส่วนสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เช่นกัน ร่อยหรอลงไปอย่างมาก ทำชาวบ้านที่เคยหากินจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
นายแสวง ขุนอาจ ก็กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มาตรวจสอบก่อนหน้านี้แล้ว 2 ครั้ง เชื่อสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ ปัญหาการขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่า กระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศ และมลพิษทางน้ำ เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นรุนแรงมากกับท้องทะเลตรังที่เดิมเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าทะเลและสัตว์น้ำนานาชนิด ในอนาคตอาจกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพะยูนตรังที่มีอยู่เกือบ 200 ตัว และกระทบกับแผนพะยูนแห่งชาติที่ทางจังหวัดพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะการเกิดแผนพะยูนแห่งชาติภายใต้ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นั้น จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารสัตว์ทะเลหายาก อาชีพและวิถีชีวิตชุมชนต่อไป แต่ปัญหาที่เกิดรุนแรงมาก เมื่อสำรวจในวันนี้แล้ว จะต้องเร่งนำเข้าที่ประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป จากนั้นคณะได้เดินทางไปตรวจสอบสภาพพื้นที่บริเวณอ่าวมดตะนอย – บ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงเช่นกัน และเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ และเป็นแหล่งหากินของพะยูนด้วย พบว่า หญ้าทะเลคงอุดมสมบูรณ์สีเขียวเต็มพื้นที่ เนื่องจากตะกอนดินดังกล่าวพัดเข้ามาไม่ถึงพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลด้านใน ทำให้ในช่วงน้ำทะเลลง ชาวบ้านออกมาหาหอยกันเป็นจำนวนมากเจ้าหน้าที่จึงได้จัดเก็บข้อมูล พร้อมกับค่าพิกัดจีพีเอส เพื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งหญ้าทะเลที่อยู่บริเวณด้านนอกที่เสียหายดังกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: