ผลจากนโยบายรัฐให้ท้องถิ่นลดอัตราการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้างปีนี้สูงถึง 90% เหลือเก็บได้เพียง 10% กระทบท้องถิ่นอย่างหนัก โดยเทศบาลนครตรังจากเดิมเก็บได้ประมาณ 44 ล้านบาท เหลือ 17 ล้านบาท และต้องขยายเวลาไปถึงเดือนธันวาคม 2563 ทำต้องชะลอโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขทุกชนิด เพื่อประคองตัวเอง ต้องปรับปรุงแผนอัตรากำลังลดลงกว่า 10 ตำแหน่ง แต่จะไม่แตะเรื่องบุคลากรการศึกษา เนื่องจากเป็นไปตามจำนวนเด็กและครูต้องรักษาคุณภาพการศึกษา พร้อมเสนอแนะไปถึงรัฐบาลที่ตัดงบอุดหนุนทั่วไป รวมทั้งเงินภาษีที่ถูกตัดไป 90% อยากให้รัฐบาลหางบประมาณส่วนอื่นมาทดแทน และส่งคืนให้ท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อให้งานพัฒนาท้องถิ่นและบุคลากรคงอยู่
วันที่ 1 กันยายน 2563 ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี 2563 จำนวน 90% เหลืออัตราการจัดเก็บจริงเพียง 10% เท่านั้น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดเก็บภาษีได้จำนวนน้อยนิด กระทบต่องานพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งงานบริหารงานบุคคล
ในส่วนของเทศบาลนครตรัง พบว่าประชาชนจำนวนมาก เร่งเดินทางไปจ่ายภาษีไม่ขาดสาย โดยนายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า ผลจากที่รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี 2563 จำนวน 90% เหลืออัตราการจัดเก็บจริงเพียง 10% เท่านั้น กระทบอย่างหนักกับเทศบาลนครตรังเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อื่นๆทั่วประเทศ เพราะเงินภาษีของแต่ท้องถิ่นขาดหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเทศบาลนครตรังมีที่ดินจำนวน 30,410 แปลง จำนวนผู้เสียภาษีรวม 15,000 ราย ในปีที่ 2562 เทศบาลนครตรังจัดเก็บภาษีได้จำนวน 44 ล้านบาทเศษ แต่ในปี 2563 หลังรัฐมีนโยบายนี้ออกมา ทำให้เป้าหมายของเทศบาลนครตรังจัดเก็บภาษีได้ 10 % เหลือเพียง 17 ล้านบาท เท่านั้น ทำให้เงินภาษีขาดหายไปเป็นจำนวนมาก กระทบต่องานพัฒนาพื้นที่ ทั้งงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน ต้องชะลอโครงการทั้งหมด รวมทั้งงานปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล ที่ตั้งงบไว้จำนวน 42 ล้านบาท ก็ต้องชะลอไว้ก่อน ต้องใช้อาคารเก่าไปก่อน แต่ไม่สะดวกเท่าที่ควร นอกจากนั้นมีการประชุมคณะกรรมการแผนพัฒนาบุคลากร โดยต้องตัดตำแหน่งต่างๆออกไปจำนวน 10 ตำแหน่ง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยต้องให้ตำแหน่งอื่นๆมาช่วยงานแทน ทั้งๆที่ทุกตำแหน่งมีความจำเป็น เพราะเป็นการจ้างงานตามความจำเป็นทั้งสิ้น แต่ต้องปรับแผนเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่จะไม่แตะเรื่องบุคลากรการศึกษา เนื่องจากเป็นไปตามสัดส่วนบังคับจำนวนเด็กและครู ต้องรักษาคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ ทางเทศบาลนครตรังได้ทำการขยายเวลาการจัดเก็บภาษีออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 พร้อมกับเร่งส่งรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ออกไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบแล้ว
นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง ยังได้กล่าวข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลว่า ทั้งเงินอุดหนุนทั่วไป ที่ต้องขอจากสำนักงบประมาณรวมประมาณ 50 กว่าล้านบาท รวมทั้งงบอาหารเสริมเด็ก นมเด็กที่ถูกตัดไป และเงินภาษีที่ถูกตัดไปทั้ง 90% ก็อยากให้รัฐบาลหางบประมาณส่วนอื่นมาทดแทน และส่งคืนให้ท้องถิ่นทุกแห่ง เพราะรายได้แต่ละท้องถิ่นขาดหายไปจำนวนมากกระทบหนักกับท้องถิ่น ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น บางรายต้องเสียภาษีจำนวนกว่า 2,000 บาท เหลือจ่ายเพียง 200 บาทเท่านั้น จึงทำให้ทุกท้องถิ่นรายได้หดหายไปเป็นจำนวนมากดังกล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง โครอตายยกฝูง โรคปากเท้าเปื่อยระบาดหนักขยายวงกว้าง
- ตรัง ชนสนั่น! เก๋งปะทะกระบะ ถนนตรัง-สตูล ดับ 2 เจ็บอีก 9 ราย
- ไร้ปาฏิหาริย์ สิ้น “อ.สุนทรี สังข์อยุทธ์” อดีตหัวหน้าหอจม.เหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ กวีซีไรต์ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” โพสต์อาลัย
- ตรัง สปช.วอนช่วยคุณยายนอนข้างถนน 2 เดือนกลางเมืองตรัง ห่วงสุขภาพทรุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: