X

ตรัง ศรชล.ภาค 3 ตรัง ตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุ ดิน ทราย ตะกอนดิน จากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง

มูลนิธิอันดามัน รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 ตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุ (ดิน ทราย ตะกอนดิน)ที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง ของกรมเจ้าท่า เพื่อคำนวณทิศทางการไหลของน้ำและกระแสคลื่นลม รวมทั้งใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่ความเสียหาย หลังพบหญ้าทะเลแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและอาหารของพะยูนเน่าตายเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หวั่นกระทบฝูงพะยูน พบจุดทิ้งอยู่ห่างจากแหล่งหญ้าทะเลประมาณ5 กม. เชื่อเกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวนส่งผลต่อทิศทางการกระจายของตะกอนดิน จนยากต่อการควบคุม ทั้งนี้ ทางตัวแทนชาวบ้านเสนอให้กรมเจ้าท่าเปลี่ยนจุดทิ้งในปีงบประมาณหน้า และจะร่วมกันฟื้นฟูต่อไป

วันที่ 4 กันยายน 2563 เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาน้ำ กลุ่มแผนงานพัฒนาทางน้ำ กรมเจ้าท่า พร้อมด้วยตัวแทนบริษัท แสงเจริญมารีนเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง นำโดยนายสมบัติ ยวนยี่ ผู้ควบคุมงานโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง กรมเจ้าท่า นำตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่มูลนิธิอันดามัน นำโดยนายแสวง ขุนอาจ ,นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน,น.อ.เฉลิมพล โกมลฤทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 ตรัง ( รอง.ผอ.ศรชล.ตรัง) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ผู้แทนส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 7 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทิ้งวัสดุ (ดิน -ทราย-ตะกอนดิน) ที่ได้จากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง บริเวณพื้นที่ระหว่างเกาะเหลาเหลียงกับเกาะลิบง (พื้นที่ไฟขาวเส้นทางเดินเรือเข้าร่องน้ำกันตัง) เพื่อดูสภาพพื้นที่จริงจุดทิ้งวัสดุดังกล่าว หลังชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ปลายปี 2562 – 2563 การตายของหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวทุ่งจีนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและอาหารของพะยูนได้เน่าตายลงเป็นบริเวณกว้าง ว่าน่าจะเกิดจากการทับถมของตะกอนดินที่ถูกนำไปทิ้งบริเวณดังกล่าว ก่อนถูกกระแสคลื่นลมพัดพาเข้าไปทับถม หวั่นพะยูนจะสูญพันธุ์ในอนาคต ทั้งนี้ ทางผู้รับเหมาได้สาธิตการทำงานจริงในการทิ้งตะกอนดินให้คณะได้ดูด้วย เพื่อประเมินทิศทางการไหลของน้ำและกระแสคลื่นลมทะเล จากการตรวจสอบพบว่า จุดทิ้งดังกล่าวอยู่ห่างจากเกาะลิบงประมาณ 5 กม.ห่างจากเกาะเหลาเหลียงประมาณ 3.28 กม. แต่ละวันจะนำตะกอนดินมาทิ้งประมาณวันละ 6 – 7 เที่ยวๆ ละ 3,000 คิว รัศมีครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 กม. ทั้งนี้ ได้รับคำยืนยันจากฝ่ายผู้รับผิดชอบ กรมเจ้าท่า รวมทั้งตัวแทนบริษัทรับเหมาว่า
จุดทิ้งตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำกันตังดังกล่าวนี้ เป็นจุดทิ้งเดิมที่เคยดำเนินการตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่เคยพบปัญหากระทบกับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่บริเวณเกาะลิบง ได้ให้ข้อมูลว่า ในห้วงเวลาประมาณ 2-3 ปี ที่ผ่านมา สภาพอากาศทางทะเลมีความแปรปรวนผิดปกติ ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นช่วงคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง ก็จะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านด้วยสลับไปมา
เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ตะกอนดินดังกล่าวถูกกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปพัดเข้าพื้นที่ จนยากต่อการคำนวณ และควบคุม ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ร้องขอให้ทางกรมเจ้าท่า ย้ายจุดทิ้งตะกอนดินจากบริเวณดังกล่าว ออกไปทิ้งระหว่างเกาะตะเกียง กับเกาะกระดาน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดปลอดภัยกับแหล่งหญ้าทะเล
หรือนำตะกอนดินไปทิ้งบนฝั่ง ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินการย้ายจุดทิ้งในปีงบประมาณ2564 สำหรับโครงการปีนี้ กำลังจะแล้วเสร็จและหมดสัญญาภายในเดือนกันยายนนี้

จากนั้นทางคณะได้เดินทางไปตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงบริเวณอ่าวทุ่งจีนภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หญ้าทะเลตายเป็นบริเวณกว้าง พบว่า สามารถมองเห็นเรือบรรทุกตะกอนดินที่จอดทิ้งตะกอนดินอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กม.ได้อย่างชัดเจน และอยู่ในทิศทางตรงกับบริเวณอ่าวทุ่งจีนแหล่งหญ้าทะเลสำคัญ โดยทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง และผู้แทนส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 7 ได้ใช้โดรนบินสำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ความเสียหาย เพื่อนำไปศึกษา และใช้ในการวางแผนร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อไป ทางด้านนายสมบัติ ยวนยี่ ผู้ควบคุมงานโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง

กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ทางกรมเจ้าท่าจะนำข้อเสนอของคณะตรวจสอบในครั้งนี้ ไปนำเสนอต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าต่อไป เพื่อย้ายจุดทิ้งตะกอนดินไปในพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องการ แต่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด แต่สำหรับจุดทิ้งดังกล่าวนี้ เป็นจุดทิ้งเดิมที่กรมเจ้าท่าใช้พื้นที่มาโดยตลอดหลายสิบปีที่มีการขุดลอก
เพราะการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง ดำเนินต่อเนื่องกันมาทุกปี และมีการติดตามตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ไม่เคยพบปัญหา แต่พร้อมดำเนินการตามความต้องการของชาวบ้าน และจะร่วมกับชุมชน และชาวบ้านในการช่วยฟื้นฟูหญ้าทะเลต่อไป
ทางด้านนายแสวง ขุนอาจ ตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวว่า การนำหน่วยงานต่างๆลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทิ้งตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำของกรมเจ้าท่า ในครั้งนี้ เพื่อดูว่าการทิ้งตะกอนดินดังกล่าว ใช่เป็นปัญหาสำคัญทำให้หญ้าทะเลตายหรือไม่ ซึ่งในที่นี้ ไม่ได้ต้องการหาคนผิดหรือหาคนรับผิดชอบ แต่เพื่อร่วมกันศึกษาพื้นที่ว่าสภาพพื้นที่ดังกล่าว ยังเหมาะสมต่อไปหรือไม่ เพื่อการวางแผนในการทำงานร่วมกัน โดยชาวบ้านได้เสนอให้มีการย้ายจุดทิ้งตะกอนดินออกไปอีกจากจุดเดิมประมาณ 8 กม. เชื่อว่าจะเป็นการปลอดภัยสำหรับพื้นที่ ถือเป็นการทำงานร่วมกัน เพราะการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช้หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมทั้งจะต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ระดับจังหวัดด้วย เพราะต้องทำงานให้สอดรับการแผนพะยูนแห่งชาติของรัฐบาลและจังหวัดตรังเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง (ร่องน้ำเศรษฐกิจประกันความลึก) ของกรมเจ้าท่า ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จุดเริ่มต้นนับจากสะพานท่าปาบ ต.บางเป้า อ.กันตัง ขณะนี้ดำเนินการมาถึงบริเวณบ้านพระม่วง ต.นาเกลือ อ.กันตัง ความยาวร่องน้ำ 30.85 กม.กว้าง 60 เมตร ลึก 5.50 เมตร เฉลี่ยปีละ 1 ล้านคิว โดยปี 2560 งบประมาณ 30 ล้านบาท ,ปี 2561 จำนวน 78 ล้านบาท ,ปี 2562 งบ 86 ล้านบาท (สิ้นสุดสัญญา4 ตุลาคม 2563) และ ปี 2563 งบประมาณ 60 – 70 ล้านบาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน