ตัวอย่างชุมชนเข้มแข็งที่เกิดจากวิถีชุมชนดั้งเดิม คือ กลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ที่โดดเด่นด้านการรวมกลุ่มสตรีทุกวัยในชุมชน ให้มีกิจกรรมร่วมกันและสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัด สามารถส่งขายไปทั่วประเทศ รวมทั้งของฝากไปถึงต่างประเทศ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
วันที่ 5 กันยายน 2563 กลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ หมู่ที่ 5 ต.ท่าข้าม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ยิ่งเติบโตเข้มแข็งต่อเนื่อง ด้วยฝีมือของสมาชิกกลุ่มทั้ง คนวัยทำงาน วัยชรา และวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่เข้ามาเป็นสมาชิก โดยฝีมือการฝึกอบรม และถ่ายทอดวิชาการเพ้นท์ และปักผ้าด้วยงานฝีมือที่ประณีตสวยงาม ของนางราตรี เอ้งฉ้วน อายุ 57 ปี ประธานกลุ่มฯ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มดังกล่าว มีอาชีพประมงพื้นบ้าน กรีดยางพารา แต่จะเอาเวลาว่างหลังเลิกงานมารวมกลุ่มกันทำงานให้ทันตามออร์เดอร์ของลูกค้าที่มีเข้ามา โดยเฉพาะใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่และวันวาเลนไทน์ จะมียอดสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก และบางส่วนต้องผลิตไว้เตรียมพร้อมรองรับความต้องการ ทำให้สมาชิกกลุ่มต้องเร่งมือกันทำงาน โดยเฉพาะบางคนยังเป็นนักศึกษา แต่ชื่นชอบในงานศิลปะจึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม และทำงานร่วมกัน โดยกลุ่มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างรายได้แก่สมาชิกตลอดเวลา ทั้งการเลือกผ้าลวดลายใหม่ๆให้ตรงความต้องการของลูกค้า เพื่อนำเพ้นท์ผ้า ด้วยสีสันต่างๆอย่างประณีตและสวยงาม เช่นเดียวกับงานปัก ก็จะมีการเพิ่มลูกปัดขนาดและสีสันต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เสริมความระยิบระยับ ทำให้สินค้าที่ได้จากผืนผ้าปาเต๊ะธรรมดาๆ โดดเด่น เพิ่มมูลค่าให้แต่ละผืนได้มากขึ้น ถูกใจลูกค้าที่เดินเข้ามาเลือกซื้อไม่ขาดสาย ทั้งซื้อเพื่อเป็นของฝาก รวมทั้งสวมใส่ทำงาน หรือออกงาน ทั้งแบบเดี่ยว และเป็นแบบธีม รวมทั้งยังมีคณะศึกษาดูงานจากหลายจังหวัดในภาคใต้เดินทางมาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สมาชิกในกลุ่มที่ทำงานทั้งงานปัก และงานเพ้นท์นั้น ก็ยังมีน้องๆ วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มในการผลิตผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับรางวัลเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของจังหวัดตรังด้วย นอกจากนั้นในกลุ่ม ขณะนี้ยังต่อยอดด้วยการส่งผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ และปัก ของกลุ่มไปตัดเป็นกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายเก๋ๆ สำหรับคนวัยทำงาน และวัยรุ่น ที่มีรูปแบบให้เลือกซื้อได้หลากหลายอีกด้วยร่วมกัน
ทางด้านนางสาวสรารัตน์ แก้วสม หรือน้องเตย อายุ 18 ปี นักศึกษา กศน.อ.ปะเหลียน ที่เป็นสมาชิกกลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ ต.ท่าข้าม เปิดใจว่า ได้เข้ามาคลุกคลีอยู่กับกลุ่มตั้งแต่เด็ก จนซึมซับและชื่นชอบ จากนั้นก็เริ่มฝึกมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการฝึกเพ้นท์ผ้า จากนั้นบางคนมีแววก็พัฒนาตัวเองรวมเป็นวิทยากรถ่ายทอดให้แก่กลุ่มต่างๆที่สนใจด้วย โดยผ้าถุงที่ได้ก็นำมาสวมใส่ด้วยความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง ซึ่งก็จะมีเพื่อนๆถาม เพราะไม่คาดคิดว่าวัยรุ่นอย่างตนสวมใส่ผ้าถุง เพราะทั่วไปจะสวมใส่กางขาสั้น หรือไม่ก็กางเกงยีนส์ขาดๆ ส่วนตัวก็อยากเป็นตัวอย่างให้แก่น้องๆ เพื่อนๆพี่ๆ ได้หันมาสนใจสวมใส่ผ้าถุงพื้นเมืองของเรากันให้มากขึ้น เพราะหากไม่สวมเป็นผ้าถุง ก็สามารถนำไปออกแบบใหม่ตัดเป็นกางเกง กระโปรง เป็นชุดต่างๆได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ เป็นภาคที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งทางด้านภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม จึงอยากเชิญชวนวัยรุ่นไทยที่ไม่เคยสวมใส่ลองหันมาสวมใส่ ก็เชื่อว่าจะติดใจ ส่วนตัวจึงรู้สึกตื้นตันและภูมิใจมากที่พอไปเป็นวิทยากรแล้วมีคนเรียกว่าครู ส่วนรายได้ไม่ใช่ปัญหา แต่จะเป็นความสุข ความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองมากกว่า
นางราตรี เอ้งฉ้วน ประธานกลุ่มฯกล่าวว่า จะต้องเริ่มจากการคัดเลือกลวดลายผ้าที่ผ่านการเพ้นท์ การปักแล้ว จากนั้นส่งไปออกแบบ เมื่อได้แบบก็ส่งไปให้โรงงานตัดให้ตามแบบ เนื่องจากทางกลุ่มยังไม่สามารถตัดเองได้ เพราะต้องอาศัยเครื่องจักร จึงต้องส่งไปให้โรงงานตัดให้แล้วส่งกลับมาจำหน่าย ปรากฏว่าได้รับความสนจากลูกค้าเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ ทางกลุ่มก็เตรียมตัวเต็มที่และเร่งทำงาน ทั้งงานเพ้นท์ งานปัก และลวดลายผ้าปาเต๊ะ เพื่อให้เพียงพอรองรับลูกค้า รวมทั้งกระเป๋า ซึ่งหลังวางจำหน่ายปรากฏว่ากำลังซื้อมีมาก จึงเป็นที่ต้องการ จึงต้องเร่งมือผลิตไว้ เพราะผ้าปาเต๊ะเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ และเสน่ห์ของผ้าปาเต๊ะจะสวยงามมาก โดยเฉพาะหากนำมาเพิ่มงานปัก เพิ่มสีสันงานเพ้นท์ลวดลาย เพิ่มงานฝีมือเสริมลูกปัดและเครื่องประดับให้ระยิบระยับเล่นไฟกลางคืน หรืองานแต่งงาน งานขันหมาก ชุดธีมขององค์กร หน่วยงาน และโรงเรียนต่างๆ ก็สั่งซื้อผ้าปาเต๊ะจากกลุ่มเกือบทั้งหมด จากเดิมคนเคยยึดติดว่า ผ้าปาเต๊ะใส่แล้วแก่ แต่กลุ่มมองเห็นคุณค่าที่คนรุ่นก่อนสร้างเอาไว้ให้เป็นมรดก จึงหันมาสืบทอด ทั้งนี้ จุดเด่นผ้าปาเต๊ะของกลุ่ม คือ จะคัดเลือกผ้าปาเต๊ะลายใหม่ๆตลอดเวลา ใส่แล้วสวย มีคุณค่าและไม่เหมือนใคร ราคาจะมีทุกกลุ่มลูกค้า คือ ตั้งแต่ 600 – 5,000 บาท เลือกซื้อได้ตามเหมาะสมของกลุ่มลูกค้า หรือรับเพ้นท์ รับปัก ตามลวดลายออร์เดอร์ที่ต้องการ ส่วนกระเป๋า จะเลือกเฉพาะกระเป๋าผ้าปาเต๊ะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้ ราคามีตั้งแต่หลักไม่ถึงร้อยบาท หรือ 150 – 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับลวดลายผ้าและรูปแบบของกระเป๋า โดยทั้งหมดวางจำหน่ายที่กลุ่ม ส่งขายออนไลน์ไปทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นของฝากไปถึงต่างประเทศ โดยกลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ ต.ท่าข้าม ปัจจุบันมีหลายคนสนใจเข้ามาลงหุ้นคนละ 200 บาท รวมทั้งหมด 24 คน ส่วนเงินปันผลอาจจะได้ไม่มาก แต่ที่ผ่านมาเงินปันผลที่ได้จะใช้สำหรับการเป็นค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาดูงาน เพื่อมาต่อยอดงานของกลุ่ม ซึ่งถือเป็นกำไรของทุกคน
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง สปช.วอนช่วยคุณยายนอนข้างถนน 2 เดือนกลางเมืองตรัง ห่วงสุขภาพทรุด
- ไร้ปาฏิหาริย์ สิ้น “อ.สุนทรี สังข์อยุทธ์” อดีตหัวหน้าหอจม.เหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ กวีซีไรต์ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” โพสต์อาลัย
- ตรัง โครอตายยกฝูง โรคปากเท้าเปื่อยระบาดหนักขยายวงกว้าง
- ตรัง เกษตรกรเกาะลิบง เลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี รายเดียวในตรัง สร้างรายได้งาม
สำหรับกลุ่มผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ ต.ท่าข้าม ถือเป็นความสำเร็จของชุมชนที่รู้จักการนำเอาอัตลักษณ์ และวิถีชุมชนดั้งเดิม มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นจนมีชื่อเสียงของจังหวัด เพราะชุมชนโดยรอบส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม ซึ่งจะสวมใส่ผ้าปาเต๊ะเป็นกิจวัตรประจำวัน ดังนั้น การเลือกส่งเสริมงานผ้าปาเต๊ะธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด จึงสามารถรวมกลุ่มสมาชิกได้ทุกวัย ทั้งรุ่น วัยทำงาน และวัยชรา ได้กลายเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับชุมชนได้อย่างแท้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: