ส.ส.สาทิตย์ สนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองผ่านระบบรัฐสภา โดยมองว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติใหญ่ 3 เรื่อง คือ วิกฤติโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำจะนำไปสู่อนาธิปไตย ข้อเสนอเรื่องสถาบันเป็นไปไม่ได้ และมองว่าขณะนี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว ไม่เฉพาะเป็นนักเรียน นักศึกษาแล้วเท่านั้น แต่พบว่ามีฝ่ายการเมืองที่ไม่พอใจรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว สังเกตได้จากการจัดม๊อบล่าสุดมีการกระจายตามถิ่นคนเสื้อแดง หรือนปช.เดิม และมีกลุ่มฮาร์ดคอร์เข้ามาครอบคลุมกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งไม่ใช่ต้องการปฏิรูปสถาบันเท่านั้น แต่เป็นไม่ต้องการให้มีสถาบัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย เชื่อหากแก้ในรัฐสภาไม่ได้ จะเกิดการเผชิญหน้าแน่นอน
วันที่ 20 ตุลาคม 2563 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเป็นต่อสถานการณ์ทางการเมือง กรณีการออกมาชุมนุมเรียกร้องของนิสิต นักศึกษา ที่ใช้ชื่อว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ว่า ขณะนี้ไทยเรากำลังเผชิญกับวิกฤติทางเมืองอีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งโดยรวมไทยเราขณะนี้กำลังเผชิญกับวิกฤติใหญ่ทั้งหมด 3 ด้าน คือ 1.วิกฤติโรคโควิดซึ่งขณะนี้ก็ยังต้องมีมาตราการป้องกัน 2. วิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด ที่ทำเศรษฐกิจติดลบ กระทบต่อหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อของประชาชน และงบประมาณของรัฐ ซึ่งต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้มาช่วยพัฒนาประเทศ และ 3.วิกฤติทางการเมือง ซึ่งวิกฤติทางการเมือง ส่งผลให้ และหน้าที่ของรัฐสภาที่จะช่วยกันฝ่าวิกฤติผ่านไปให้ได้ ทั้งนี้ วิกฤติโควิด ประชาชนช่วยกันอยู่แล้ว ส่วนวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีบทบาทหลัก ส่วนวิกฤติทางการเมือง ส่วนตัวมองว่าทุกคนช่วยกันได้ ปัญหาวิกฤติการเมืองขณะนี้ เกิดจากการออกมาชุมนุมของนิสิต นักศึกษา แต่ขณะนี้ไม่ใช่จะมีแต่ 2 กลุ่มนี้เท่านั้นแล้ว เพราะจากเหตุการณ์การชุมนุมล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) เห็นชัดว่า มีกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ,ไม่พอใจ คสช. และไม่พอใจพรรคพลังประชารัฐ เข้ามาผสมโรงด้วยแล้ว เห็นได้จากเมื่อวานไม่ใช่มีเฉพาะที่อโศก กับอนุสารวีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่กระจายไปในพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ ซึ่งเป็นถิ่นคนเสื้อแดง หรือ นปช.เดิม เช่น ที่อิมพีเรียล สำโรง , สมุทรสาคร ,สมุทรปราการ ,นนท์บุรี ปทุมธานี และอีกหลายจังหวัด โดยวิกฤติการเมืองขณะนี้ ฝ่ายรัฐสภาเสนอตัวออกมาแล้วว่า พร้อมจะเปิดเวทีพูดคุยหาทางออก คาดว่าพรุ่งนี้วันอังคารที่ 20 ต.ค.ครม.คงหารือเรื่องนี้ แต่ประเด็นขณะนี้พบว่า รัฐบาล รัฐสภาพร้อมจะเปิดเวทีนี้ แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่เคยพูดถึงเลย จึงไม่รู้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคิดอย่างไร ปัญหาขณะนี้คือ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำ ทุกคนสามารถเป็นแกนนำได้ ฟังดูสวยหรู ดูดี แต่จะเข้าข่ายการเป็นอนาธิปไตย ซึ่งหมายถึงว่า ใครจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย หากถึงเวลาจะต้องตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ จะใช้แนวคิดแบบอนาธิปไตยไม่ได้ ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆที่ออกมา ก็เห็นว่าไม่ชัดเจน
ส่วนตัวจึงกังวลว่าการเปิดประชุมรัฐสภาซึ่งมีข้อดีแน่นอน ที่รัฐบาลจะต้องฟังความเห็นของ ส.ส.ด้วย แต่กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีท่าทีอย่างไร หรือว่ารัฐสภาประชุมไป กลุ่มผู้ชุมนุมก็ชุมนุมไป ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านรัฐสภา จะสำเร็จได้อย่างไร ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ความร่วมมือเลย ปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุมขณะนี้ ไม่มีแกนนำ การเชื่อมต่อด้วยโชเชี่ยลมีเดีย มีลักษณะที่ใครชอบอะไร ก็ไปทางด้านนั้น โอกาสที่จะรับฟังข้อมูลรอบด้านในโซเชี่ยลมีเดียไม่มีเลย แนวคิดการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะผ่านไปถึงตัวกลุ่มผู้ชุมนุมได้อย่างไร เป็นปัญหามาก ดังนั้น โจทย์นี้คนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็ควรไปพูดคุยกัน จะใช้วิธีชุมนุมอย่างนี้ไปทุกวัน จนกว่าจะบรรลุตามที่ตัวเองต้องการ จะก่อให้เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายมากมายแน่นอน ตนจึงขอเสนอให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปคุยกันให้ชัดถึงข้อเสนอ ส่วนข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นข้อเสนอที่ขณะนี้เป็นไปไม่ได้เลย และคนส่วนใหญ่ของประเทศก็รับไม่ได้เลย และขณะนี้ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ประกาศตัวว่า เป็นกลุ่มปกป้องสถาบัน และได้ออกมาแสดงตัวแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม วันที่กลุ่มผู้ชุมนุมนิสิต นักศึกษา ป่วนขบวนรถเสด็จ กลุ่มดังกล่าวนี้ถือเป็นตัวแทนกลุ่มพลังเงียบของคนในประเทศด้วย ขณะนี้ยังได้แต่จับตามองอยู่ ยังไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งหากกลุ่มดังกล่าวออกมาเคลื่อนไหวด้วย จะยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนและแก้ยากยิ่งขึ้น จะกลายเป็นบาดแผลระยะยาว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตนเองกังวลอยู่ส่วนข้อเรียกร้องให้นายกประยุทธ์ ลาออกนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มองว่า มีลักษณะย้อนแย้งกับข้อเรียกร้องเดิมหรือไม่ เช่น เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องอาศัยรัฐสภา นายกลาออก ต้องมีการเลือกใหม่ เกิดตกลงกันไม่ได้ หรืออาจสู่การยุบสภา การแก้รัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ ความต้องการให้มีการแก้ไขรัฐบาลธรรมนูญ ตัดอำนาจสว.นำประสู่ประชาธิปไตยมากกว่านี้ใช่มั๊ย ต้องไปดูที่เป้าประสงค์หลักของผู้ชุมนุม ต้องไปทบทวนข้อเรียกร้องกันมาให้ชัด ถ้าใช่ก็เดินสู่ขั้นตอน หรือตามข้อเรียกร้องอื่นๆก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีเวลา เมือถึงเวลาหนึ่งเมื่อดำเนินการได้สำเร็จนายกก็ต้องออกไปอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายเป็นห่วง การที่ผู้ชุมนุมมีหลายกลุ่ม และไม่มีแกนนำ คุมกันไม่ได้ ปัญหาจะเกิดเช่นเดียวกับที่บางนา และไม่มีใครรับรองได้ว่าจะเกิดกับที่อื่นอีกหรือไม่ การใช้ถ้อยคำวาจา หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรงมาก ซึ่งความก้าวร้าวดังกล่าวจะไม่เกิดผลดีกับข้อเรียกร้อง ยิ่งทำให้เกิดอคติมันรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น 1.กลุ่มผู้ชุมนุมต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน และต้องมีตัวแทนกลุ่ม ในการนำเสนอข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการและติดต่อกับฝ่ายอื่นๆได้ และ 2.ต้องลดท่าทีที่ก้าวร้าว และจาบจ้วงต่อสถาบันลง สถานการณ์ก็น่าจะคุยกันได้ และนำสู้การแก้ไขปัญหาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป้าประสงค์หลัก กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการปฏิรูปสถาบัน แต่ไม่สามารถทำได้ รวมทั้งระบบรัฐสภาก็แก้ไม่ได้ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเดิมของกลุ่มมี 2 ส่วน คือ 1.ข้อเรียกร้องปฎิรูปทางการเมือง เช่น นายกประยุทธ์ลาออก จะพ่วงด้วยเรื่องปฏิรูปการศึกษาของกลุ่มนักเรียนเลว พ่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจของบางส่วนด้วย และข้อเรียกร้องที่ 2 คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งข้อเรียกร้องปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ขณะนี้พบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทำหายไป แต่จะมีกลุ่มฮาร์ดคอร์เข้ามาที่ไม่ได้แค่คิดจะปฏิรูป แต่คิดไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์มาเป็นกลุ่มความคิดหลัก แล้วไปคลุมความคิดเรื่องการเมืองหมด ส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไปชุมชนไม่ได้คิดล้มสถาบันเช่นกลุ่มฮาร์ดคอร์ แต่ทุกวันนี้เมื่อปล่อยให้กลุ่มฮาร์ดคอร์เข้ามาครอบคลุมความคิดเดิม จึงถูกเหมารวม ทำให้กลุ่มคนที่ไม่ชอบการชุมนุมอยู่แล้ว จะยิ่งอคติกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสเกิดการเผชิญหน้า นำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น ดังนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมต้องให้ชัดเรื่อง การปฏิรูปการเมือง การให้นายกลาออก สามารถคุยกันได้ รัฐสภาสามารถหาทางออกให้ได้ แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย และคนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัด ไม่ให้แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ในกลุ่มผู้ชุมนุมก็ต้องยอมรับความเห็นที่ต่างจากตัวเองด้วย เหมือนที่เรียกร้องให้คนอื่นยอมรับกลุ่มตัวเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: