วราวุธ ลั่นปัญหาขยะทะเลยังไม่จบนำหน่วยงานในสังกัดบุกเมืองตรังเซ็น MOU ร่วมมือหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่เดินหน้าปราบขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมอนุรักษ์พะยูน และแหล่งหญ้าทะเล ปลุกคนไทยอย่าลืมบทเรียน “น้องมาเรียม” เสียชีวิต ทุกวันนี้ยังมีสัตว์ต้องตายจากขยะพลาสติกมาก ย้ำต้องลด ละ เลิก การใช้พลาสติกให้มากที่สุด
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ที่บริเวณหาดยาว บ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตังจังหวัดตรัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนทะเลตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนตรัง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมควบคุมมลพิษจังหวัดตรัง, องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง, องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง, มูลนิธิอันดามัน และชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งมีขยะจำนวนมาก ถูกพัดพาลงไปสู่ทะเลจนเกิดผลกระทบ และความสูญเสียตามมาอย่างมากมาย เช่น กรณี “น้องมาเรียม” พะยูนขวัญใจคนไทยที่ต้องมาเสียชีวิตจากการกินเศษขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่คนไทยจะต้องตื่นรู้ และให้ความสนใจกับการจัดการขยะให้มากยิ่งขึ้นและที่ผ่านมาแม้จะมีสัญญาณดีหลายอย่าง เกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทย เช่น ผลจากมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่ทำกันมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงหูหิ้วพลาสติก ได้ถึง 11,958 ล้านใบ หรือคิดเป็น 108,220 ตัน และเมื่อรวมกับการดำเนินโครงการอื่นๆ ก็สามารถลดอันดับของประเทศจากประเทศที่มีขยะสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ให้มาอยู่ในอันดับที่ 10 แต่ก็ยังต้องถือเป็นเพียงก้าวแรกของการทำงานเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วปัญหาจากขยะและขยะทะเลยังไม่จบ วันนี้เรายังคงได้ยินข่าวการสูญเสียสัตว์ จากการกินขยะพลาสติกเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันสู้ต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เพราะหากเราไม่ร่วมมือกันในวันนี้ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะต้องมีเพื่อนของ “น้องมาเรียม” หรือสัตว์อื่นๆ ที่ต้องตายจากไปจากปัญหาขยะโดยหลังจากนี้ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปคิดต่อว่าจะขยายผลความร่วมมือในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปอย่างไร และที่สำคัญอยากขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อลดขยะที่ไม่จำเป็นและขยะพลาสติกลงให้มากที่สุด เช่น การนำหลัก 3R Reduce ,Reuse, Recycle มาใช้ในชีวิตประจำวัน แม้การลด ใช้พลาสติกอาจทำให้ชีวิตเราไม่สะดวกในระยะแรก แต่มันคือราคาที่คุ้มค่าที่เราควรจ่ายเพื่อรักษาโรคใบนี้ไว้ต้องไม่ลืมว่าต้นตอขยะคือ “มนุษย์” ดังนั้นจึงอยู่ที่ตัวเราว่าจะยอมปล่อยให้พลาสติกเป็นปัญหาที่จะทำให้สภาพแวดล้อมโลกเลวร้ายลงต่อไปหรือไม่
ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าบันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ เอกชน สถานศึกษา ภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะร่วมกันแก้ไขปัยหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูนตามแนวทางขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย
1. ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจากต้นทางโดยสำนักงานสถานที่ราชการร้านค้าตลาดสวนสาธารณะและกิจกรรมการท่องเที่ยวปลอดขยะพลาสติกและโฟมขับเคลื่อนครัวเรือนต้นแบบการจัดการขยะการนำขยะจากกิจกรรมในทะเลเช่นเรือโดยสารเรือประมง กลับคืนสู่ฝั่ง
2. พัฒนาระบบการคัดแยกขยะจัดเก็บและการขนส่งขยะให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลรวมทั้งสนับสนุนธุรกิจซื้อขายขยะรีไซเคิล
3. พัฒนามาตรการด้านการเงินการคลัง เช่น ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีท้องถิ่นหรือภาษีสิ่งแวดล้อมโดยยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
4. พัฒนาการผลิต บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำบรรจุภัณฑ์กลับสู่กระบวนการรีไซเคิล
5. ประสานความร่วมมืออนุรักษ์พะยูนคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยยาทะเลและระบบนิเวศทะเล
6. พัฒนาและสนับสนุนกลไกความร่วมมืออาสาสมัครเครื่องมือหรือกระบวนการในการจัดการการติดตามและเฝ้าระวังเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูนขับเคลื่อนตรังสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากประชาชนในจังหวัดตรังโดยมีกลไกการทำงานที่สำคัญคือ คณะทำงานขับเคลื่อนตรังยั่งยืนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธานด้วยตัวเอง และมีตัวแทนจากภาคีความร่วมมือต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสิเกา,อำเภอกันตัง,อำเภอปะเหลียน,อำเภอหาดสำราญ และอำเภอย่านตาขาว ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งเกิดการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: