สนามเลือกตั้งนายกอบจ.ตรังสัปดาห์นี้ พบกับผู้สมัครอิสระ ผู้เสนอลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ นายกอบจ.เพียงตำแหน่งเดียว โดยไม่เสนอ ส.อบจ.ร่วมแข่งขันในเขตใดทั้งสิ้น เขาคือ ผู้สมัครหมายเลข 3 “ทนายตุ้ม-ภูผา ทองนอก” ที่ลงชิงชัยในนาม “กลุ่มตรังก้าวใหม่”
“ภูผา” เป็นทนายความหนุ่มชาวย่านตาขาว ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำงานภาคประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในเรื่องข้อกฎหมาย เป็นอดีตผู้ประสานงาน “พรรคอนาคตใหม่” ที่เคยฝากผลงานในฐานะพาผู้สมัครในนามพรรคอนาคตใหม่ ตรัง ได้เป็นส.ส. 1 ที่นั่ง ในระบบบัญชีรายชื่อ และหลังจากนั้นเมื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ถูกยุบ เขาได้ออกตัวว่าไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับ “คณะก้าวหน้า” รวมทั้ง “พรรคก้าวไกล” อีกเลย จนมาถึงสนามเลือกตั้งอบจ.ในครั้งนี้ ที่เขาตัดสินใจลงแข่งขันด้วยตัวเองแบบเต็มตัว
ผู้สื่อข่าว ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ภูผา” ผู้มีแนวคิดการทำการเมืองแนวใหม่ ที่ควงเอาสมาชิกในทีม “ปองศักดิ์ ชอบทำกิจ” ว่าที่รองนายกอบจ. กับ “เชอรี่-ชนรดี ปิยภาณีกุล” ว่าที่เลขานุการนายกอบจ. มาร่วมสนทนาอย่างออกรส เมื่อได้ฟังแล้ว ทนายหนุ่มคนนี้ น่าจับตา
@มีการวางแผนหรือว่าตัดสินใจไว้นานแค่ไหนก่อนลงสนามครั้งนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง สปช.วอนช่วยคุณยายนอนข้างถนน 2 เดือนกลางเมืองตรัง ห่วงสุขภาพทรุด
- "พานเพชร โพธิ์ทอง" ลูกชายนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์ พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์พ่อเป็นทายาททางการเมืองส่วนคู่แข่งลงพื้นที่หนักขอคะแนน
- "กกต.นครพนมติวเข้ม! เครือข่าย ศส.ปชต. เสริมศักยภาพ สร้างการมีส่วนร่วมเลือกตั้ง อบจ. อย่างมีคุณภาพ"
- ผู้สมัครนายก อบจ.พังงาพรรคประชาชนนำลูกทีมขึ้นรถสองแถวเข้าร่วมกิจกรรมเลือกตั้งสมานฉันท์ ชี้ระบบขนส่งสาธารณะพังงาผ่านไปกี่ปีก็ยังเหมือนเดิม
เราเห็นการเมืองที่ผ่านมาของจังหวัดตรัง ยังพัฒนาจังหวัดตรังเราไม่ได้เต็มศักยภาพ สิ่งที่เราตัดสินใจลงสมัครในครั้งนี้เป้าหมายหลักก็คือ ต้องการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง รูปแบบใหม่ ให้ทุกๆคนมีสิทธิ์ มีพื้นที่ และเปิดโอกาส ให้กับทุกๆคนที่มีความรู้ความสามารถ ในการเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายกเทศมนตรี นายกอบจ. และ ส.ส.ก็ตาม เราจะเห็นว่าเรื่องของการเมืองในสังคมไทยของสังคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะท้องถิ่น มักจะถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนในจังหวัดเป็นหลัก แล้วก็ผูกขาดโดยกลุ่มตระกูลของนักการเมือง ที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองเป็นหลัก ส่วนคนที่ไม่มีทุน ไม่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง หรือตระกูลนักการเมืองเราจะเห็นว่า จะมีน้อยมากที่จะเข้ามาเสนอตัวทำงานการเมือง
และวัฒนธรรมทางการเมืองโดยเฉพาะการหาเสียง ต้องใช้เงินจำนวนมาก แม้แต่อุปกรณ์การเลือกตั้ง รถแห่ ป้ายโปสเตอร์ การใช้คนเป็นผู้ช่วยผู้สมัคร ผู้ช่วยผู้หาเสียง ต้องใช้เงิน ขั้นต่ำแล้ว ถึง 2 ล้านบาท เหล่านี้มันจะผูกขาดอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคม กลุ่มคนรวย ลูกตาสีตาสาคนรับจ้าง คนที่มีความรู้ความสามารถหากไม่มีทุน ก็ไม่มีทาง
@นโยบายที่ทำได้จริงของกลุ่ม “ตรังก้าวหน้า” คืออะไร
นโยบายนั้นเราได้ประกาศไปแล้ว แต่หัวใจคือเรามองเห็นสภาพปัญหาของจังหวัดตรัง ใน 25 ปีที่ผ่านมา คือการกินรวบ สจ. ผมขอยกตัวอย่างตรัง มีสจ. 30 เขต ที่ผ่านมาเป็นทีมไหน ทั้งหมดล้วนสังกัดทีมผู้บริหารแค่ทีมทีมเดียว ฉะนั้น สจ.ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลตั้งกระทู้ถามปัญหา นำปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่มา บรรจุแผนงบประมาณ แผนการพัฒนา ถ้าเขาไม่ถูกแยกออกเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของฝ่ายสภาได้ เขาจะไปถ่วงดุลตรวจสอบหรือไปสร้างสรรค์โครงการใดๆได้
@แต่คนเข้าใจว่า สจ. กับฝ่ายบริหาร คือทีมเดียวกันมาตลอด
คือความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะถ้าสจ.ลงสมัครทีม แบบทีมเดียวกับทีมบริหารแล้ว ตรงนี้คือการกินรวบ ที่ผ่านมาเราเข้าใจผิดกันมาตลอดว่า มาสมัครเป็นทีมได้ แต่จริงๆจะมาเป็นทีมได้ แต่การเป็นทีมก็คือทีมสจ.ไม่มีผู้บริหารอยู่ด้วย สจ. 30 คนคือหนึ่งทีม และผู้บริหารอีก 1 ทีม ไม่ใช่เอาทีมสจ.มาอยู่ทีมเดียวกับผู้บริหาร มันต้องแยกออกกัน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าตรังเรายังไม่สามารถที่จะยุติสิ่งเหล่านี้ได้ เหมือนเป็นประตูบานแรก ถ้าเราเปิดไม่ได้ โอกาสจะไปคิดทำหรือพัฒนาด้านอื่นจะยากมาก วันนี้มันเป็นการรวมกันเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง เป็นการเมืองแบบเก่าที่ใช้สจ.เป็นหัวคะแนน
“วันนี้ถ้าผมในนามของ “ตรังก้าวใหม่” ได้เข้าไป เราต้องล้างระบบเส้นสายเพื่อให้มีความเท่าเทียมกัน และสร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง ต้องโปร่งใสเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย อบจ.ต้องกลับคืนมาเป็นของประชาชน การลงพื้นที่หาเสียงของเรา เราทำการเมืองแบบมีทุนน้อยมากๆ ไม่มีการจัดเวทีปราศรัย เราทำการเมืองแบบแนวร่วม การเมืองแบบนี้เป็นการเมืองของทุกคน ต่างจากการทำการเมืองแบบหัวคะแนนที่ต้องมีเงินอย่างน้อย 20 ล้าน วัฒนธรรมการเมืองใหม่ คือ ต้องลดต้นทุน อย่าให้ผูกขาดอยู่เฉพาะกลุ่มทุน การเมืองแบบมีหัวคะแนนต่อไปจะเป็นการเมืองล้าหลัง ผมไม่ได้มีธุรกิจ ผมไม่มีเครือข่ายใดๆ เป็นลูกคนธรรมดา เป็นแค่ทนายความเล็กๆอยู่ในจังหวัดตรัง ต่อไปในอนาคต ผมจะสร้างวัฒนธรรม ให้ใครๆก็ลงสมัครได้”
………
@การศึกษาเท่าเทียม
“เชอรี่-ชนรดี ปิยภาณีกุล” ว่าที่เลขานุการนายกอบจ.ตรังกลุ่มตรังก้าวใหม่
ตั้งแต่ “เชอรี่” กลับมาอยู่บ้านที่ตรัง มีโอกาสได้สอนเด็กนักเรียนในเขตอ.ปะเหลียน โดยช่วยหาครูฝรั่งมาสอนนักเรียนในเขตอ.ปะเหลียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีครูอาสาชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษให้เด็ก สอนให้ฟรี ที่ทำแบบนี้เพราะได้พบกับครูฝรั่งที่อยู่ในตัวเมืองแล้วเห็นความเหลื่อมล้ำ ทำไมโรงเรียนเทศบาลในตัวเมือง เด็กได้เรียนกับครูชาวต่างชาติ มีงบประมาณในการจ้างครูชาวต่างชาติ แต่อีก 9 อำเภอที่เหลือ เด็กกลับไม่มีโอกาสได้เจอครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษา “ตรังก้าวใหม่” จะทำตรงนี้ โดยรวบรวมเครือข่ายครูต่างชาติมาสอนโรงเรียนในแต่ละอำเภอ
เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัวเยอะมาก แต่เขาไม่มีโอกาส ถ้าเราสร้างโอกาสตรงนี้ เด็กจะค้นพบตัวเอง มีโอกาสได้ต่อยอดได้เร็วกว่าปกติ ปัจจุบันเด็กไทยไม่รู้ว่าไปโรงเรียนเพื่ออะไร เราโดนเรียนตามบนกระดาน แต่เมื่อไหร่ที่เรามีทรัพยากรบุคคลเข้าไปสอนเด็กในเรื่องที่เขาถนัด จะทำให้เขาต่อยอดและนำความรู้ มาพัฒนาเมืองตรังของเราได้
……..
@ท่องเที่ยว-ทางรอด
“ปองศักดิ์ ชอบธรรมกิจ” ว่าที่รองนายกอบจ.กลุ่มตรังก้าวหน้า
การท่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นรายได้หลักของประเทศ ตรังมี ชายหาดยาว 119 กิโลเมตร แล้วยังมีภูเขา มีน้ำตก มีทรัพยากรมากมาย มีเกาะ 46 เกาะ ถ้าได้รับการบริหารจัดการที่ดี สร้างองค์ความรู้ มีการบริหารจัดการที่ดี มีผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ ก็สามารถทำให้ GDP ของจังหวัดเพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็ทราบอยู่ 25 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเราอยู่กับที่ หรือถดถอย เราเสียโอกาส ภูเก็ตมีรายได้การท่องเที่ยวปี 1 เป็นแสนล้านบาท กระบี่เกือบแสนล้าน สตูลเกือบจะนำหน้าเรา และตอนนี้พัทลุงนำหน้าเราไปแล้ว ขณะที่ตรังมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีหนึ่งแค่ 9 พันกว่าล้าน เหตุปัจจัยเหล่านี้ใช่ว่าคนตรังจะไม่ทราบ
อย่างหาดปากเมงมีปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน ที่คาบเกี่ยว 3 หน่วยงาน ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน และอบจ. ที่กำลังฟ้องร้องกัน กลายเป็นว่านักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าตัดสินใจมาลงทุน เราต้องไม่อนุรักษ์ไว้ให้มีแต่ป่า ขณะที่คนกำลังอดตาย นั่นคือการท่องเที่ยวที่ต้องอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม
…….
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: