กุ้งตรังจับขายไม่ได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ค้างคาบ่อกว่า 200 ตัน ขณะที่พ่อค้าคนกลาง รวมทั้งห้องเย็นบางแห่งฉวยโอกาสกดราคาลงกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม หวังซื้อเก็บในสต๊อก รอปล่อยขายทำกำไรในช่วงราคาสูงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐบาลเร่งหาวิธีการช่วยเหลือ เช่น เปิดโครงการรับจำนำ หรือเช่าห้องเย็นให้เกษตรกรใช้เก็บสต๊อก
วันที่ 29 ธันวาคม 2563 นายเจริญ หยงสตาร์ อายุ 63 ปี ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด พร้อมด้วยนายห้าหรน กองข้าวเรียบ อายุ 53 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวตรวจสอบผลกระทบของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจ.ตรัง ที่พบว่าขณะนี้มีกุ้งที่ถึงเวลาต้องจับขายในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ แต่ยังไม่สามารถจับขึ้นจากบ่อส่งขายได้ ทำให้คงค้างอยู่บ่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคาตกต่ำอย่างหนัก อันเป็นผลกระทบที่เกิดการปิดตลาดกลางกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร อันเนื่องมาจากพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 จึงได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ เนื่องจากประชาชนไม่กล้ารับประทานกุ้ง และถูกประเทศเพื่อนบ้านประกาศไม่นำเข้ากุ้งจากไทย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งระบบ จนส่งผลทำให้ราคากุ้งตกต่ำ เนื่องจากไม่มีตลาดจำหน่าย ขณะที่มีพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งเจ้าของผู้ประกอบการห้องเย็นบางราย ยังฉวยโอกาสซ้ำเติมด้วยการไปติดต่อขอซื้อกุ้งแต่ให้ในราคาที่ต่ำกว่าทุนถึงกิโลกรัมละกว่า 50 บาท เช่น กุ้งขนาด 42 – 43 กิโลกรัม จากราคาขายกิโลกรัมละ 220 บาท แต่ไปขอซื้อในราคากิโลกรัมละ 165 บาท ยิ่งซ้ำเติมปัญหาอย่างหนัก
นายเจริญ หยงสตาร์ ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด กล่าวว่า พอเกิดโรคระบาดที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นตลาดกลางของกุ้ง ส่งผลให้การซื้อกุ้งของพ่อค้าทั่วไปรวมทั้งของห้องเย็น ฉวยโอกาสตามกระแส ที่ผู้ซื้อก็น้อย ไม่มีตลาดระบาย ไม่มีการแข่งขันกันซื้อ กดราคาลงอย่างมาก เช่น จากราคาที่กิโลกรัม 200 บาท กดลงเหลือกิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ หากถึงเวลายื้อเลี้ยงต่อไปไม่ได้จริงๆ เกษตรกรก็ต้องขาย จึงอยากให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือ ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดตรังมีประมาณ 60 ราย มีกุ้งรวมกันประมาณ 200 ตัน ที่ยังคงค้างอยู่ในบ่อเลี้ยง เพื่อรอราคาให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ในการทนเลี้ยงต่อไปของเกษตรกรก็ทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร แนวทางแก้อยากให้รัฐช่วยการเก็บกุ้งที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเหมือนกันทั่วประเทศ ด้วยวิธีการเปิดรับจำนำ หรือด้วยวิธีใดก็ได้หลังสถานการณ์ดีขึ้น รัฐสามารถระบายขายได้ หรือใช้วิธีเช่าห้องเย็น เพื่อให้เกษตรกรได้สต๊อกกุ้ง หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา ๆ ต่อไปคือ เกษตรกรไม่กล้าลงกุ้ง ต่อไปก็จะขาดแคลนกุ้งภายในประเทศ ก็แน่นอน ควรช่วยให้หาห้องเย็น รับจำนำ เพื่อให้ระบบการเลี้ยงยังคงดำเนินต่อไป
นายห้าหรน กองข้าวเรียบ เกษตรกร กล่าวว่า ตนเองมีกุ้งเหลืออยู่จำนวน 4 บ่อ โดยจำนวน 2 บ่อ เป็นกุ้งขนาด 40 – 50 ตัวต่อกิโลกรัม รวมประมาณ 10 ตัน ส่วนอีก 2 บ่อ ขนาด 70 – 80 ตัวต่อกิโลกรัม รวมประมาณ 8 ตัน ถ้าปล่อยขายจะขาดทุนกิโลกรัมละ 20 – 55 บาท โดยล่าสุด มีเจ้าของห้องเย็นมาติดต่อซื้อกุ้งขนาด 42 – 43 ตัวต่อกิโลกรัม จากปกติราคากิโลกรัม 220 บาท แต่กดราคาขอซื้อกิโลกรัมละ 165 บาท ซึ่งขายไม่ได้ เพราะขาดทุน จึงต้องทนเลี้ยงต่อไป หลังจากเลี้ยงมา 4 เดือน 10 วัน หรือเลี้ยงเลยกำหนดจับขายมาประมาณ 20 วัน แต่ในการเลี้ยงต่อไปก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม และยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไร ตอนนี้ถ้าจับก็ขาดทุน กังวลมากคือ หวั่นกุ้งจะเกิดปัญหาเช่นเกิดโรค ระบาดตามมา ซึ่งห้องเย็นที่มาซื้อก็หวังฉวยโอกาสซื้อกดราคา เพื่อนำไปเก็บไว้ห้องเย็น รอทำกำไรในช่วงสถานการณ์ดีขึ้นเช่นกัน
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
- นราธิวาส-สุดทน! พ่อค้าแม่ค้าร้อง ส.ส.นำเรื่องเข้าสภาฯ หลัง "บอสตลาดเก็นติ้ง" จัดหนัก! ปรับราคาเช่า-ต่อสัญญาสูงลิ่ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: