X

ตรัง เร่งแก้ปัญหาสัตว์น้ำราคาตกไม่มีตลาดจำหน่าย

ประมงจังหวัดตรัง เรียกประชุมตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง สมาคมการประมงกันตัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความเห็นหาทางแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำราคาตกต่ำและไม่มีตลาดจำหน่าย หลังตลาดมหาชัย และตลาดแม่กลองถูกปิด เตรียมเสนอรัฐบาลและครม.สนับสนุนงบประมาณโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งให้เป็นนโยบายเร่งด่วน และให้จัดหาตลาดใหม่ นอกจากนั้น ในภาคบ่ายวันนี้ จะนำปัญหาของราคาและตลาดจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำทั้งหมด เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง เพื่อพิจารณาหาทางออก และผลักดันการแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลด้วย

วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่ห้องประชุมสำนักงานประมงจังหวัดตรัง นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดตรัง เรียกประชุมตัวแทนฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด ตัวแทนพานิชย์จังหวัด ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจ.ตรัง ตัวแทนศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.ตรัง สมาคมการประมงกันตัง ตัวแทนเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง และตัวแทนผู้จำหน่ายกุ้งในจังหวัดตรัง เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาสัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำทะเล และสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง เช่น กุ้ง เนื่องจากกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดตลาดกลางกุ้ง และตลาดอาหารทะเลไทย ที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้สัตว์น้ำทั้งหมด ไม่มีตลาดจำหน่าย ทำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง และผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์และแพกุ้ง แพปลา ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักอยู่ขณะนี้ ทั้งนี้ จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ปริมาณ / ผลผลิตกุ้งที่คงค้างในบ่อเลี้ยงรอการจับจำหน่ายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564 มีประมาณ 500 ตัน แต่ทั้งนี้ ทางด้านนายเจริญ หยงสตาร์ ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด ระบุว่าจะต้องมีมากกว่านี้รวมประมาณ 800 ตัน โดยราคาถูกกดให้ตกต่ำลงถึงกิโลกรัมละประมาณ 50 บาท ทางด้าน นายสฤษพัฒน์ ภมรวิศิษย์ นายกสมาคมการประมงกันตัง กล่าวว่า ในจังหวัดตรังมีเรือประมาณ 170 ลำ ผลิตปริมาณสัตว์น้ำได้ประมาณ 4,000 ตัน โดย 90% ส่งจำหน่ายตลาดมหาชัย และตลาดแม่กลอง จำหน่ายในจังหวัดเพียง 10 % เท่านั้น จึงเดือดร้อนหนัก โดยขณะนี้ไม่มีแหล่งตลาดจำหน่ายโดยสิ้นเชิง ราคาก็ตกต่ำ และไม่มีตลาดสำรอง เนื่องจากทั้ง 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ต่างประสบปัญหาเดียวกัน และล่าสุด อาจส่งผลทำให้เรือประมงบางลำ และแพ บางแห่ง อาจต้องหยุดกิจการเพิ่ม และไม่มั่นใจว่า หลังเทศกาลปีใหม่จะเปิดตลาดได้จริงตามที่มีการประกาศไว้หรือไม่ และหากเปิดตลาดได้จริง จะขนส่งสินค้าได้หรือไม่ เพราะคนขับรถขนส่งสินค้ายังอยู่ในกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการจังหวัด ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ อยากให้ทางจังหวัดเร่งทบทวนให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมสรุปแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.แนวทางแก้ปัญหาภายในจังหวัด คือ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ว่าจ.ตรัง เป็นฐานการผลิตกุ้งที่สำคัญ ปลอดภัยได้มาตรฐาน ไม่ได้นำกุ้งจากต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนคลายกังวล ช่องทางร้านค้า ผู้บริโภคภายในจังหวัด ต่างจังหวัด สื่อให้เห็นว่ากุ้งที่เลี้ยงในจังหวัดตรังกินแล้วปลอดภัย และเร่งจัดงานกินอาหารทะเล กินกุ้ง ปู ปลา เน้นประชาสัมพันธ์ร่วมกับการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง และ 2.เร่งเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล และศูนย์บริหารการแก้ปัญหาสินค้าสัตว์น้ำอย่างเร่งด่วน คือ จัดให้มีสถานที่กระจายซื้อขายสินค้าประมงจังหวัดละ 1แห่ง 2.เสนอรัฐบาล และครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง เพื่อแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำเป็นการด่วน และช่วยกระตุ้นให้เกษตรกล้าที่จะลงกุ้งในรุ่นต่อไป 3.เร่งประสานจัดหาตลาดสำรอง ซื้อ-ขาย กุ้ง เช่น ตลาดไท ,ห้างสรรพสินค้า,องค์การสะพานปลาฯลฯ 4.เร่งสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในสินค้าสัตว์น้ำ ในกิจกรรมต่างๆ และ 5.ให้การรับรองมาตรฐานเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อน เชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับฟาร์มเลี้ยง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนั้น ในภาคบ่ายวันนี้ จะนำปัญหาของราคาและตลาดจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำทั้งหมด เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง เพื่อพิจารณาหาทางออก และผลักดันการแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน