จนท.ศูนย์วิจัยฯชี้เต่าฟักไข่ออก 1,000 ตัว มีโอกาสรอดกลับมาวางไข่ที่จุดกำเนิดได้เพียง 1 ตัว เพราะธรรมชาติของเต่าเดินทางหากินในระยะไกลไปถึงน่านน้ำต่างประเทศ ส่วนไข่เต่าตนุที่พบที่เกาะลิบงยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ และเงียบสงบ และเชื่อว่าเป็นเต่าตนุสาวจึงออกไข่ได้น้อยเพียง 81 ฟอง จากปกติจะออกไข่ได้ประมาณ 150 ฟอง และยังเลือกทำเลไม่เป็น เพราะวางไข่บริเวณที่น้ำท่วมถึง จนท.จึงต้องย้ายไข่ไปอยู่ที่ในปลอดภัย ขณะที่หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงระบุหลังจากนี้จะต้องจัดเวรยามเฝ้าตลอด 24 ชม.และร่วมมือกับชาวบ้านค้นหารังอื่นๆ ต่อไป เชื่อว่าจะต้องมีอีก เพราะทะเลตรังมีเต่าเป็นจำนวนมาก
วันที่ 8 มกราคม 2564 ตามที่ชาวบ้านตำบลเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พบพื้นที่วางไข่ของเต่าตนุโดยบังเอิญในบริเวณอ่าวหมาดำ ใกล้ปากคลองจาก ม .5 ต.เกาะลิบง จึงแจ้งเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง นำโดยนายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง นำกำลังเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯรวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ร่วมกันสำรวจและขุดหาอย่างระมัดระวัง โดยพบเส้นทางการเดินของเต่าอย่างชัดเจนและพบหลุมทั้งหมด 3 หลุมอยู่บนชายหาดใกล้พุ่มไม้ใหญ่ ห่างจากน้ำทะเลประมาณ 30 เมตร เจ้าหน้าที่จึงพยายามขุดหา จนกระทั่งมาถึงหลุมที่ 3 เมื่อขุดลงประมาณ 60 ซม. ก็พบเจอไข่เต่าตนุในสภาพที่สมบูรณ์ฝังอยู่ใต้ทราย แต่กลับพบว่าจุดที่พบไข่เต่าเป็นจุดที่น้ำทะเลท่วมถึง จึงเกรงว่าไข่เต่าจะเน่าเพราะต้องใช้เวลาในการฟักตัวนานถึงประมาณ 50 -55 วัน เจ้าหน้าที่จึงเป็นต้องขุดไข่เต่าขึ้นมาทั้งหมด นับได้จำนวน 81 ฟอง แต่แตกไป 1 ฟอง จึงเหลือ 80 ฟอง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำไข่เต่าใส่ลังโฟมและย้ายไปใส่หลุมใหม่ ห่างจากหลุมเดิมประมาณ 50 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขุดหลุมไว้กว้างประมาณ 60 เซนติเมตร และลึกประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร จากนั้นได้นำไข่เต่าลงไปวาง และโรยด้วยทรายเดิมที่ได้จากหลุมเก่าลงไปด้วย จากนั้นช่วยกันกลบด้วยทรายและจะเร่งทำการล้อมคอกด้วยไม้ไผ่และสแลมป้องกันสัตว์ร้ายเข้าไปรบกวนและกัดกิน เนื่องจากก่อนหน้านี้ในเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่บริเวณแห่งนี้ เจ้าหน้าที่ได้มาพบซากไข่เต่าตนุในหลุม และพบว่าถูกตะกวดกัดกินหมด เพราะในพื้นที่มีตะกวดอยู่เป็นจำนวนมาก ครั้งนี้จึงต้องระมัดระวัง และจะต้องจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชม..เป็นเวลาประมาณ 50 -60 วัน จนกว่าเต่าจะฟักออกไข่ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เตรียมติดตั้งกล้องถ่ายสัตว์ไว้ใกล้กัน เพื่อสังเกตุการณ์ และติดตามเฝ้าระวังเต่าฟักออกตัว และเฝ้าระวังภัยคุกคามต่างๆ ทั้งนี้ สำหรับอ่าวหมาดำ เป็นพื้นที่เงียบสงบ ชายหาดขาวกว้างสะอาดทอดยาวหลายร้อยเมตร มีต้นไม้ขึ้นอุดมสมบูรณ์ และพุ่มใหญ่จำนวนมาก เหมาะสำหรับที่เต่าตนุจะขึ้นไปวางไข่เป็นอย่างมาก
ทางด้านนางสาววรรณษา เรืองแก้ว เจ้าพนักงานประมงชำนาญงาน ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กล่าวว่า ไข่เต่าที่พบเชื่อว่าเป็นเต่าตนุ เพราะวางไข่ใต้พุ่มไม้ ส่วนถ้าเป็นเต่ามะเฟืองจะวางไข่บริเวณทรายโล่ง แต่ถ้าเป็นเต่ากระจะเข้าไปวางไข่ลึกเข้าไปริมป่า และคาดว่าจะเป็นเต่าตนุสาว เพราะวางไข่ได้น้อยเพียง 81 ฟอง จากปกติควรจะวางได้ประมาณ 150 ฟอง และวางไข่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัย แม้จะเป็นใต้พุ่มไม้ใหญ่ แต่วางไข่ในจุดที่น้ำท่วมถึง ซึ่งหมายถึงว่าอาจจะเป็นเต่าสาว ที่ยังไม่ชำนาญ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม โดยอาจต้องร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสำรวจ เพราะหากพบแล้วเชื่อว่าจะต้องมีอีก โดยธรรมชาติของเต่าจะใช้เวลาฟักประมาณ 50-55 วัน ช่วงฟักไข่จนกระทั่งออกเป็นตัว จะต้องเฝ้าระวังภัยคุกคามทุกชนิดเป็นพิเศษ ทั้งสัตว์เลื้อยคลาน และอื่นๆ รวมทั้งขณะไข่ออกเป็นตัวและเดินลงทะเลก็มีศรัตรู เช่น นก รวมทั้งสิ่งขีดขวาง จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สำหรับเกาะลิบงกรณีพบเต่าตนุวางไข่ยืนยันได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และธรรมชาติของเต่าฟักออกเป็นตัวได้ 1,000 ตัว แต่มีโอกาสรอดกลับมาวางไข่ในจุดกำเนิดได้เพียง 1 ตัว เพราะธรรมชาติของเต่าจะเป็นสัตว์ที่เดินทางไกลไปมาก เคยมีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวพบไปไกลถึงประเทศอินเดีย ดังนั้นโอกาสกลับมาจึงน้อยมาก แต่หากกลับมาแล้ว พบว่าพื้นที่ไม่เงียบสงบมีการรบกวนก็จะไม่วางไข่ แต่หากเงียบสงบก็จะวางไข่ แสดงว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ไข่แดงของการวางไข่ของเต่า เพราะทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าพบร่องรอยมาแล้วหลายครั้ง
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า ทะเลตรัง โดยเฉพาะเกาะลิบงเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์ทะเลหายาก ทั้ง พะยูน เต่าทะเล และโลมา การพบไข่เต่าตนุในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และเป็นการยืนยันได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตรังที่เต่าจำนวนมาก และพบในบริเวณอ่าวหมาดำ ก็ยืนยันได้ถึงพื้นที่ไข่แดงของการวางไข่ เพราะเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบเพียงร่องรอย ส่วนไข่เต่าเชื่อว่าถูกตะกวดกัดกินหมด และจะร่วมมือกับชาวบ้านค้นหารังอื่นๆ ต่อไป เชื่อว่าจะต้องมีอีก เพราะทะเลตรังมีเต่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังช่วยชีวิตเต่าตนุ เพศเมีย น้ำหนักประมาณ 150 กก.ที่เข้ามาเกยตื้นบริเวณหาดตูบลงสู่ทะเลได้สำเร็จ หลังจากนี้จะจัดเวรยามเฝ้า 24 ชม.ตลอดระยะเวลา 50 – 60 วัน ตามระยะเวลาของการฟักไข่ของเต่า และเตรียมติดตั้งกล้องถ่ายสัตว์ เพื่อบันทึกภาพ และเฝ้าระวังภัยคุกคามต่างๆ ด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ระทึก เพลิงไหม้บ้าน 2 ชั้นวอดทั้งหลัง น้องแมว 7 ชีวิต รอดตายหวุดหวิด โดย 3 ตัวโดนไฟลวกบาดเจ็บ
- บุรีรัมย์ คริสตจักรเมืองบุรีรัมย์ จัดงานเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งความสุขก่อนปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่
- บุรีรัมย์ เตือนวัยรุ่นอย่าทำ ขับรถหวาดเสียว ยกล้อโชว์ จับส่งศาล ศาลพิพากษาสั่งปรับและจำคุก
- ปป.แม่สายทานมูมมามจนลืมตัว เรียกเก็บเงินแบบไม่อาย แต่ต่อรองราคาได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: