ผู้ปกครองและนักเรียน ผวาแห่เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อที่โรงพยาบาลตรังไม่ขาดสาย ขณะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เปิดศูนย์คัดกรองและประเมินความเสี่ยงผู้สัมผัสเชื้อโควิด 19 ขึ้นมารองรับเสริมโรงพยาบาลตรัง สำหรับจ.ตรัง พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ระลอกใหม่แล้วรวม 5 ราย ออกจากรพ.1 ราย คงรักษาตัวที่รพ.อีก 4 ราย ในขณะที่ รร.ในจังหวัดตรัง จำนวน 50 โรงเรียน ประกาศปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษ
วันที่ 19 มกราคม 2564 ตามที่จังหวัดตรังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 3 ราย เป็นแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมา จำนวน 2 ราย อายุ 33 ปี ประจำโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราแห่งหนึ่ง ในอ.ห้วยยอด ที่ได้จากการค้นหาผู้ป่วยในเชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดตรัง โดยมีผู้สัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงสูงจำนวน 15 คน เป็นแรงงานข้ามชาติ 9 คน และคนไทย 6 คน ขณะนี้รอผลการตรวจหาเชื้อ และอีกรายเป็นนักเรียนหญิง อายุ 16 ปี ของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งใน อ.เมือง ที่พบไทม์ไลน์ก่อนแสดงอาการและยืนยันผลตรวจว่าติดเชื้อ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตรัง เดินทางไปหลายหนหลายแห่งในจังหวัดตรัง รวมทั้งเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ กลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดที่สุดคือ เพื่อนร่วมห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นห้องแอร์ มีนักเรียนรวม 31 คน มีครูประจำห้องเรียนและครูห้องพยาบาล รวมทั้งคนในครอบครัวเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดและเสี่ยงที่สุดรวมประมาณ 40 คน ทั้งนี้ทำให้โรงเรียนที่นักเรียนหญิงเรียนอยู่ต้องปิดเรียนเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ทั้งในอ.เมือง และอ.ห้วยยอด จำนวนมากต้องปิดการเรียนการสอน และเปิดสอนผ่านระบบออนไลน์แทน
ล่าสุด พบว่าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้เปิดศูนย์คัดกรองและประเมินความเสี่ยงผู้สัมผัสเชื้อโควิด 19 ขึ้น บริเวณด้านข้างที่ทำการ มีเจ้าหน้าที่มาประจำการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงแบบ One Stop Covid -19 ทั้งการลงทะเบียนวัดไข้ ซักประวัติความเจ็บป่วย การสอบสวนโรค การพิจารณาตรวจหาเชื้อ และการประเมินสุขภาพจิต หาพบใครมีความเสี่ยงสูงก็จะส่งไปเก็บตัวอย่างหาเชื้อที่โรงพยาบาลตรัง และเช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลตรัง ทางโรงพยาบาลตรังสั่งงดเยี่ยมทุกกรณี อนุญาตให้เฝ้าไข้ครั้งละ 1 คนเท่านั้น และคลินิกโรคไข้หวัดในเต้นท์ชั่วคราวด้านข้างตึกรพ.ตรัง พบว่าในวันนี้ มีการเพิ่มเต้นท์ เป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วยรอตรวจสารคัดหลั่ง สำหรับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับไทม์ไลน์นักเรียนหญิงรายดังกล่าว พบว่ามีประชาชน และผู้ปกครองนำบุตรหลานที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน และมีไทม์ไลน์ในสถานที่เดียวกับนักเรียนหญิงคนดังกล่าว ไปเข้าคิวรอการซักประวัติและตรวจสารคัดหลั่งหาเชื้อจำนวนมาก
ข่าวน่าสนใจ:
ในขณะที่ในวันนี้ โรงเรียนต่างๆในจังหวัดตรังประกาศปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษแล้ว จำนวน 50 โรงเรียน โดย นายปราโมทย์ เกี่ยวพันธ์ ศึกษาธิการจังหวัดตรัง กล่าวว่า เบื้องต้นมีการส่งรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษ แล้วจำนวน 50 โรงเรียน เข้ามาที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตรัง ซึ่งจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโครา 2019 กระทรวงศึกษาได้สั่งการให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามคู่มือควบคุมโรคตั้งแต่การระบาดระลอกที่แล้ว และยังคงยึดปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการปิดเรียนนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงเรียน ที่จะเป็นผู้ประเมินสถาการณ์ความเสี่ยงของแต่ละโรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนสามารถประกาศปิดเรียนกรณีพิเศษ ได้จำนวน 7 วัน แต่หากต้องการปิดยาวกว่านั้น ต้องส่งรายงานเพื่อขอขยายเวลาปิดเรียนมาตามลำดับขั้น ซึ่งหากโรงเรียนในเขตเมือง ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่หากเขาเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถสั่งปิดได้ ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จะไม่ค่อยประกาศปิด เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่มีน้อยสามารถจัดการระยะห่างทางสังคมได้ดี
กรณีผู้ติดเชื้อเป็นนร.หญิง อายุ 16 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีกลุ่มเสี่ยงสูงมากกว่า 30 คนนั้น จากการแถลงของผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และ นายแพทย์สสจ.ตรัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าได้ตรวจเชื่อโควิดทั้งหมดแล้ว และจะทราบผลในวันนี้ (19 มกราคม 64) ซึ่งตนเห็นว่ากลุ่มเสี่ยงสูง และ ผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงสูง เหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ส่วนการเรียกร้องให้ปิดโรงเรียนในจังหวัดตรัง นายปราโมทย์กล่าวว่า อำนาจที่พึงกระทำได้ โดยระเบียบผู้บริหารโรงเรียนสามารถบอกปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษได้ไม่เกิน 7 วัน หากเห็นว่าการปิดเรียนจำนวน 7 วันยังไม่เพียงพอก็เป็นอำนาจของหน่วยงานระดับสูงขึ้นไปในการขยายการปิดเรียน และหากประเมินแล้วสถาการณ์ไม่คลี่คลายทางศึกษาธิการจังหวัดสามารถสั่งปิดได้เช่นกัน แต่ละโรงเรียนจะรู้ดีว่าโรงเรียนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลปฐมภูมิ แต่หากดูแล้วว่าสถานการณ์ภาพรวมของทั้งจังหวัดไม่น่าไว้วางใจ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผอ. ศบค.ประจำจังหวัด สามารถสั่งปิดเรียนเป็นรายอำเภอ หรือ ทั้งจังหวัด
ในขณะเดียวกันผู้ปกครองของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดตรัง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปิดโรงเรียนและสถานศึกษาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID19)
นายสักขฉัฐ เชี่ยวภู่ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสภาราชินี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการสั่งปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันและจำกัดกรอบการแพร่ระบาดของโรค การปิดเรียนเพื่อให้นักเรียนอยู่บ้านนั้นนักเรียนควรได้รับการดูแลจาก อสม. ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง ต้องร่วมกันดูแลบุตรหลานไม่ให้เด็กไปรวมตัวกันทำกิจกรรม หรือ งดเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือ ลักษณะเป็น Home quarantine (โฮมควอเลนเทียร์) ซึ่งจริงๆแล้วการตรวจสอบในเชิงลึก ควรเริ่มตั้งแต่ 7 วันหลังเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากช่วงปีใหม่มีการเคลื่อนไหวของคนจากต่างพื้นที่เข้ามาในจังหวัดตรัง เพราะหากกลุ่มคนที่เข้ามาจังหวัดตรังนำเชื้อเข้ามาด้วย จะเกิดการบ่มเชื้อ เพาะเชื้อ ในจังหวัดตรัง แล้วแพร่ไปยังประชาชนได้ พร้อมทั้งได้ฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ว่าควรตั้งโต๊ะคัดกรองบุคคลที่เข้ามาในจังหวัดตรัง สอบถามข้อมูลเบื้องต้นของผู้มาเยือนว่ามาจากจังหวัดไหนพื้น ที่ไหน ตรวจัดอุณหภูมิ อย่างเข้มข้น พร้อมให้เจ้าหน้าที่สอดส่องการลงทะเบียนหรือสแกนแอพฯไทยชนะ อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่ายังหละหลวมอยู่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: