X

ตรัง ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพท.แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

กรมเจ้าท่าปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม เพื่อเพิ่มความสมดุลให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ขณะเดียวกันได้สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตรัง พบโลมาขึ้นมาว่ายน้ำอวดโฉม

เมือวันที่ 1 ก.พ. 64 สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 นำโดยนายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายธรา วรรณพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ประมงจังหวัดตรัง นายวรรณ ชาตรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จ.ตรัง พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ต.เกาะลิบง ประชาชน นักเรียนและเยาวชน ต.เกาะลิบง ร่วมกันออกสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตรัง และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น พันธุ์ลูกปูทะเลทั้งลูกปูขาว และลูกพันธุ์ปูม้า จำนวน 5 ล้านตัว พ่อพันธุ์แม่พันธุ์หอยชักตีน จำนวน 20 กิโลกรัม พันธุ์ปลากะพงขาว 26,000 ตัว และพันธุ์กุ้งวัยอ่อน จำนวน 500,000 ตัว โดยทั้งหมดลงเรือกันแยกย้ายไปปล่อยในจุดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำแต่ละชนิดรอบๆบริเวณเกาะลิบง เช่น บริเวณลำคลองสาขาต่างๆ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าชายเลนจะปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว และกุ้ง และโดยเฉพาะบริเวณอ่าวทุ่งจีนถึงบริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ตำบลเกาะลิบง แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และแหล่งอาศัยหากินของพะยูนที่ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาเสื่อมโทรมเน่าตายเป็นบริเวณกว้างสาเหตุมาจากตะกอนดินจากการขุดลอกร่องน้ำมาทับถม ทำให้สัตว์น้ำทะเลลดลง กระทบต่อการทำมาหากินของชาวประมงในพื้นที่ และล่าสุด แหล่งหญ้าทะเลเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยทุกฝ่ายลงความเห็นตรงกันในการร่วมกันฟื้นฟู และปล่อยคืนสัตว์น้ำลงสู่ธรรมชาติในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลสำคัญดังกล่าว ทั้งนี้ บริเวณแหล่งหญ้าทะเลทำการปล่อยพันธุ์ปูขาว และพันธุ์ปูม้า ส่วนหอยชักตีน ต้องนำไปปล่อยในบริเวณน้ำลึกจุดที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลเช่นกัน โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน สัตว์น้ำทั้งหมดจะกลายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมทั้งแหล่งอาหารให้แก่ชาวประมงในพื้นที่ต่อไป

นายธรา วรรณพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กล่าวว่า ทางกรมเจ้าท่าทำการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ทะเลมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นการลงความเห็นร่วมกันของชาวบ้านในพื้นที่และบูรณาการกันหลายภาคส่วนจากหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคเอกชน ประชาชนและเยาวชนร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูหญ้าทะเล และสัตว์น้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทะเลตรัง ประชาชนและเยาวชนเกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรรู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า โดยสัตว์น้ำที่ปล่อยมีทั้งที่เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนที่จะมีอัตรารอดสูงถึง 80% ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อสัตว์น้ำเจริญเติบโต จะได้มีสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องออกเรือไปไกล ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำประมง เพิ่มรายได้ในครัวเรือน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนสามารถจับสัตว์น้ำได้หน้าบ้าน แม้แต่การเดินลงไปหาในช่วงน้ำลง หรือการทำประมงใกล้ฝั่ง และหากประชาชนและชุมชนมีรายได้เพิ่ม คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประชาชนที่ไปทำงานที่อื่น และได้รับผลกระทบโควิดจะได้กลับมาอยู่บ้านก็มีรายได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนการปล่อยครั้งต่อไปจะต้องหารือร่วมกันเป็นช่วงๆ ทั้งกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ เพราะจะต้องกำหนดพื้นที่ รวมทั้งต้องใช้เวลาในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ โดยทางกรมเจ้าท่าก็พร้อมจะช่วยสนับสนุนเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั่งเรือทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ก็ได้ทำการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตรังไปด้วย ทั้งนี้ พบเห็นชาวบ้านออกมาทำประมงใกล้บริเวณชายฝั่งจำนวนมาก ทั้งการวางอวนจับสัตว์น้ำชนิดต่างๆ การสำรวจพื้นที่วางไข่ของเต่าตนุ บริเวณบ้านหลังเขา รวมทั้งการสำรวจพะยูนและโลมาบริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ แหล่งอนุบาลมาเรียม และจุดชมวิวดูพะยูน ทั้งนี้ พบเห็นโลมาปากขวดสีชมพู จำนวน 4 ตัว หรือ 2 คู่ว่ายน้ำคลอเคลียอวดโฉมให้คณะได้เห็นความน่ารัก รวมทั้งพบพะยูนอีก 1 ตัว สร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้แก่ทุกคนเป็นอย่างมาก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน