คณะที่ปรึกษาและคณะทำงานสร้างอนุสาวรีย์ “พุฒ ล้อเหล็ก” และ รวมรวบประวัติ ผลงาน ทั้งหมดไว้ในหอเกียรติยศ เพื่อระลึกถึงปูชนียบุคคลด้านกีฬาคนแรกของเมืองตรัง
ที่สนง.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง นายภูวณัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการประชุมคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานสร้างอนุสาวรีย์ “พุฒ ล้อเหล็ก” รวมทั้งจัดทำข้อมูล รางวัล ผลการ ของ “พุฒ ล้อเหล็ก” เผยแพร่ในหอเกียรติยศ ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความสามารถด้านกีฬามวยไทยของ “พุฒ ล้อเหล็ก” เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี ที่”พุฒ ล้อเหล็ก”ได้สร้างไว้ให้แผ่นดิน
สำหรับการประชุมคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานสร้างอนุสาวรีย์ “พุฒ ล้อเหล็ก” ในการประชุมครั้งนี้ มีการเสนอให้จัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 4 มิ.ย.64 ภายใต้ชื่องาน วันรำลึกยอดมวยไทย”พุฒ ล้อเหล็ก”เด็กเมืองตรัง” มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย 1)การแข่งขันมวยไทย”ศึกวันรำลึกยอดมวยไทย”พุฒ ล้อเหล็ก”เด็กเมืองตรัง” โดยมีโปรโมเตอร์มืออาชีพ จัดประกบคู่นักมวยไทยที่มีชื่อเสียงมาชกกันในรายการนี้ จัดโดยคณะกรรมการกีฬามวย 2)การสัมมนาเรื่อง”มาตรฐานของกีฬามวยไทย”โดยมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตตรัง 3)การแสดงศิลปะมวยไทย”การอนุรักษ์มวยไทย”โดยกรมพลศึกษา 4)กิจกรรม”การออกกำลังกายด้วยลีลามวยไทย”โดยผู้นำการออกกำลังกายจำนวนมากกว่า 1,000 คน จากชมรมออกกำลังกายทั้งจังหวัดตรัง โดยศูนย์ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรังรับผิดชอบดูแล และ 5)พบกับยอดมวยไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันในกิจกรรม”คลินิกมวยไทย”
ข่าวน่าสนใจ:
- บพท.ร่วม มรภ.ชัยภูมิ ส่งเสริมงานวิจัยต่อยอดบันทึกประวัติศาสตร์เมืองชัยภูมิรอบ 198 ปี!
- สงขลา “นายกชาย” เคลียร์ชัดจบย้ำหนุน “สุพิศฯ” ลงสมัครชิง นายก อบจ.สงขลา
- นราธิวาส-สุดทน! พ่อค้าแม่ค้าร้อง ส.ส.นำเรื่องเข้าสภาฯ หลัง "บอสตลาดเก็นติ้ง" จัดหนัก! ปรับราคาเช่า-ต่อสัญญาสูงลิ่ว
- "ทีเส็บ" และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชียงรายหลังวิกฤตน้ำท่วม
“พุฒ ล้อเหล็ก” มีชื่อว่า นายทวี พิพัฒน์กุล หรืออีกหนึ่งฉายา “ไอ้หนูเมืองตรัง” เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 ที่ตำบลบางด้วน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ 2 ตำบลท่าพญา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และ ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที 1 มิถุนายน 2563 ในวัย 68 ปี สำหรับ“พุฒ ล้อเหล็ก” เป็นนักมวยที่มีชื่อเสียง โดยเริ่มฝึกหัดมวยครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี และได้ตระเวนชกมวยในภาคใต้ จนชนะติดต่อกัน 10 กว่าครั้ง และได้ชกมวยที่สนามมวยมาตรฐาน เวทีมวยลุมพินี ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2512
“พุฒ ล้อเหล็ก” เป็นนักมวยที่มีหมัดหนัก สไตล์การชกบนเวทีพริ้วไหว มีลีลาแม่ไม้มวยไทยที่งดงาม และ โด่งดังในเรื่องมวยไทย ในช่วง พ.ศ 2516 – 2517 สามารถชกมวยชนะยอดมวยดัง ในยุคนั้นได้หลายคน ในปี พ.ศ. 2527 “พุฒ ล้อเหล็ก” ติดอันดับ 1 ใน 10 ของการจัดอันดับมวยไทยตลอดกาลของสนามมวยเวทีราชดำเนิน และ จากโพลสำรวจของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เมื่อปี พ.ศ 2542 ระบุว่าพุฒ ล้อเหล็ก คือ ยอดนักมวยที่ได้รับคะแนนยอดนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในรอบ 50 ปี (พ.ศ. 2492 – 2542) ด้วยสถิติการชกมวยมากกว่า 80 ครั้ง
และในช่วง ปี 2560-2563 พุฒ ล้อเหล็ก ได้รับการชักชวนจากนายสมชาย พูลสวัสดิ์ ให้ไปดูแลค่ายมวยลูกเจ้าพ่อโรงต้ม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ฝึกกีฬามวยไทย พุฒ ล้อเหล็ก ซึ่งระหว่างดูแลค่ายมวยโรงเจ้าพ่อโรงต้ม พุฒ ล้อเหล็ก ได้เดินทางมาเยี่ยมบ้านที่จ.ตรัง อยู่บ่อยครั้ง และการเดินทางครั้งสุดท้ายของพุฒ ล้อเหล็ก ก็สิ้นสุดลงที่นี่… หลังจากกรเสียชีวิตลงของ พุฒ ล้อเหล็ก เกิดการรวมกลุ่มของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานสร้างอนุสาวรีย์ “พุฒ ล้อเหล็ก” ด้วยจุดมุ่งหมายเชิดชูปูชนียบุคคลด้านกีฬาของจังหวัดตรัง
อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมายน้อมนำให้ระลึกถึง วีรกรรม หรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจ เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่ บ้านเมือง สมควรจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ปรากฏเพื่อเป็นที่รวมพลังใจ พลังศรัทธาและความนิยมนับถือ ของประชาชน เพื่อให้เป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทยสืบต่อไป
นายณรงค์ โสภารัตน์ ผอ.สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง กล่าวว่า ข้อสรุปการประชุมในครั้งนี้ คือ จ.ตรัง จะก่อสร้างอนุสาวรีย์ พุฒ ล้อเหล็ก ที่บริเวณด้านหน้าโรงยิม 1,000 ที่นั่ง สนามกีฬาเทศบาล2 (ทุ่งแจ้ง) ซึ่งอนาคตบริเวณดังกล่าวจะเป็นสนามมวยมาตรฐานจ.ตรัง โดยอนุสาวีย์ เป็นงานประติมากรรม มีขนาดความสูง เท่าตัวจริง ในกริยาบถแสดงท่วงท่าชกมวย สำหรับพุฒ ล้อเหล็ก นั้นเป็นมวยที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ ได้รับการยกย่องว่าเป็นมวยที่มีหมัดหนัก พลิ้วไหวเป็นเลิศ เนื่องจากมีรูปร่างเล็ก นอกจากนี้ทางคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน จะได้รวมรวบข้อมูลต่าง ๆ และผลงาน ของพุฒ ล้อเหล็ก เพื่อแสดงในหอเกียรติยศ ปูชนียบุคคลด้านกีฬา ซึ่งจะจัดแสดงไว้ภายในหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ตรัง โดยได้ตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 300,000 บาท แบ่งเป็น ใช้เพื่อการก่อสร้างประติมากรรม พุฒ ล้อเหล็ก จำนวน 200,000 บาท และ ใช้เพื่อจัดทำข้อมูลแสดงในหอเกียรติยศ จำนวน 100,000 บาท ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ มาจากงบประมาณของกกท. , งบประมาณของกรมพละ , งบประมาณจากอปท. และงบสนับสนุนจากภาคเอกชน ส่วนรายได้จากการจัดงาน “วันรำลึกยอดมวยไทย”พุฒ ล้อเหล็ก”เด็กเมืองตรัง” จะนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนากีฬามวยใทย ในจังหวัดตรัง ต่อไป
ด้านนายกิตติพันธ์ พิพัฒกุล (บุตรชายของพุฒ ล้อเหล็ก) กล่าวว่า ตน พี่ น้อง คนในครอบครัว รู้ดีใจ ภูมิใจ และตื่นตัน ที่มีคนเห็นถึงคุณค่าในตัวคุณพ่อ ซึ่งได้ทำเกียรติประวัติให้กับเมืองตรัง ได้รับการยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านกีฬาของเมืองตรัง และ จะก่อสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับท่าน ซึ่งหลังจากคุณพ่อเสียตนได้เก็บรวบรวบรางวัล ถ้วยรางวัล ไว้ที่ตรังบางส่วน และอีกส่วนยังอยู่ที่โรงฝึกกีฬามวย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และหลังจากนี้ตนจะรับหน้าที่รวบรวมข้อมูล ถ้วยรางวัลต่างๆ ข้าวของที่เกี่ยวกับการชกมวยของพ่อทั้งหมด หรือ ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาจัดแสดงในหอเกียรติยศต่อไป
นายกิตติพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติพ่อจะไม่เคยคุยให้ลูกฟังถึงเรื่องชีวิตนักชกเท่าไหร่ และมักจะพูดกับลูกเสมอว่า “ไม่อยากให้ลูกต่อยมวย ต่อยไปก็ชนะใครไม่ได้ เพราะซ้อมไม่มากพอ ไม่หนักพอที่จะเป็นนักมวย” ส่วนเรื่องที่คุณพ่อชอบเล่าให้ลูกฟังด้วยความภาคภูมิใจ และเล่าให้ลูกๆ ฟังบ่อยมาก คืด การขึ้นเวทีชกกับนักชกชาวญี่ปุ่น ชื่อ “อิคาริ เคนชิว” ซึ่งเป็นการชก่อนแขวนนวม การขึ้นสังเวียนในครั้งนั้นถือว่ากดดัน เพราะหากชกแพ้นักมวยญี่ปุ่นจะโดนตราหน้าว่าขายชาติ… สุดท้ายพ่อก็ท้าต่อยมวยกับ“อิคาริ เคนชิว” การขึ้นชกครั้งนั้นมีคนดูหนาแน่นเต็มสนามมวย และไม่กี่นาทีของยกแรกพ่อสามารถชนะน็อคคู่ต่อสู้ได้ด้วยการเตะก้านคอ “อิคาริ เคนชิว” จนหลับคาเวที
นายพลชกร สิขราภรณ์ นักประติมากรรมอาวุโส อดีตอาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า ได้ปั้นขนาดประมาณ เท่าครึ่ง จะสง่างาม ยิ่งใหญ่ สมกับชื่อของอาจารยพุฒ ล้อเหล็ก ถ้าขนาดจริงจะเล็กไปหน่อย ส่วนสถานที่ถ้าสนามกีฬาอาจไม่เหมาะ อยากให้เป็นที่เฉพาะของเขา อาจจะเป็นสวนสาธารณะไปเลย มุมมองในสวนสาธารณะจะดูดีกว่า เป็นพื้นที่กว้าง ถ้าในสนามกีฬาอาจโดนสิ่งก่อสร้างอื่นบดบัง ที่เสนอให้มีขนาดเท่าครึ่งของตัวจริง เพราะเมื่อนำขึ้นไปวางบนฐาน ขนาดเท่าจริงอาจดูเล็กลง โดยสากลทั่วโลกแล้ว ประติมากรรมบุคคลจะทำขนาด เท่าครึ่งเท่านั้น ส่วนขนาดเท่าจริงโดยมากจะอยู่ในห้อง หรือ ภายในอาคารมากกว่า แต่ถ้าอยู่ในข้างนอกในพื้นที่ทีมีภูมิทัศน์ ขนาดท่าจริงจะไม่มีพลัง พลังจะน้อย เช่นอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 หน้าอบจ.ตรัง ก็ขนาดเท่าครึ่ง ชมระยะไกลก็สวย ระยะใกล้ยิ่งเล็ก ส่วนวัสดุ น่าจะหล่อโลหะ หรือไฟเบอร์ ที่มีความทนทานอยู่ได้เป็นร้อยปี มีความคงทนซ่อมแซมง่าย ทั้งหมดแล้วแต่ทางคณะกรรมการจะพิจารณา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: