X

“ลูกลมที่หายไป” งานลูกลม สะท้อนวิถีนา หรือวิถีใคร? ชาวบ้านอยู่ไหน? ไฉนจึงอยู่นอกนา?

“ลูกลมที่หายไป” งานลูกลม สะท้อนวิถีนา หรือวิถีใคร? ชาวบ้านอยู่ไหน? ไฉนจึงอยู่นอกนา?

ผ่านไปแล้วสำหรับพิธีเปิดงาน “ลูกลม ชมเขาช้างหาย” ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดขึ้นบริเวณนนเลียบคลองชลประทาน หรือ ทุ่งลูกลม หมู่ที่ 6 ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ที่มีกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 2-4 เมษายน 2564

โดยในค่ำคืนของพิธีเปิด มีนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดงาน และ นายกิจจา ไวชมภู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง กล่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวนั้นทางจังหวัดตรัง ได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัด จำนวน 1,112,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันบาทถ้วน) ให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง จัดกิจกรรม ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวถ้ำเขาช้างหาย ชุมชนนาหมื่นศรี โดยเฉพาะผ้าทอนาหมื่นศรี แหล่งท่องเที่ยวอำเภอนาโยง และใกล้เคียง ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการของจังหวัดตรัง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่คลี่คลาย

​อย่างไรก็ตาม งานลูกลมฯ ในปีนี้เป็นที่จับตามองกว่าปีก่อนๆ มีกระแสวิพากษ์วิจารการจัดงานรูปแบบการจัดงาน ที่หลายต่อหลายคนตั้งข้อสังเกต และ เป็นกระแสในโลกโซเซียล ตั้งแต่ก่อนเปิดงานกันเลย

หรือแม้แต่ก่อนเปิดงานเพียงครึ่งวันก็มีเรื่องสร้างความอือฮา ให้ชาวบ้านนาหมื่นศรี เมื่อเกิดเหตุลมพัดแรง ทำให้ฉากไม้ไผ่ที่ใช้ตกแต่งสถานที่ ความสูงประมาณ 2 เมตร ความยาวประมาณ 6 เมตร ล้มเพราะแรงลม อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

โดยเฟสบุ๊กส่วนตัว นายวานิช สุนทรนนท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ได้นำภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ พร้อมระบุข้อความ

“ไม่ทันได้เปิดงาน…แนวป้ายงาน Trang food festiWOW ในงานลูกลมถูกแม่ลมพัดพังซะแล้ว…!!! *** งานมีระหว่าง 2-4 เมย.64”

และมีผู้คนเข้ามาคอมเม้นท์ โดยให้น้ำหนักไปที่เรื่องของความเชื่อ เป็นสำคัญ เช่น “สงสัยแม่ลมรำคาญ…ว่ามากวนลูกลม” / “ร้ายจุงแม่ลม ดีนะคะไม่พัดโดนใคร”

ล่าสุด ยังมีสารนิรนามเล็ดลอดออกมา เปิดข้อมูล กลุ่มไลน์ลับ อ้างว่าเป็นกลุ่มไลน์ผู้จัดงานกับกลุ่มผู้ค้าออกร้านค้าชุมชน ในงานลูกลม นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ไม่ระบุปีที่จัดงาน

ตั้งข้อสังเกตุบทสนทนาในภาพกลุ่มสนทนาแอพบลิเคชั่นไลน์ เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายในงานจากบรรดาร้านค้าจากชุมชนต่างๆ ที่ผู้จัดงาน เชิญชวนมาออกร้าน เสริมให้งานสมบูรณ์ในเชิงภาพลักษณ์งานพื้นบ้านและชุมชน

ว่าการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจิปาถะหลายรายการนั้น ชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่? และรายได้ดังกล่าว นำส่งรัฐหรือไม่?

ข้อสังเกตุดังกล่าว ระบุดังนี้ และรอการตอบคำถามจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคงสามารถตอบได้ และไม่โยนลูกให้เป็นเรื่องของ “เอกชน” ผู้รับงาน ซึ่งผ่านการประมูลในระบบ “อีบิดดิ้ง” มาอย่างถูดต้อง ชอบธรรม ในราคาเคาะชนะประมูลที่ 999,999 บาท

จากภาพบทสนทนาไลน์กว้างๆ ข้อสังเกตุคำถามคือ?

1.ประมูลงานหลวงได้ไปแล้ว โดยงบประมาณจัดจ้างเพื่อจัดงาน มาจากงบพัฒนาจังหวัด (งบผู้ว่าฯ) 1,112,000 บาท เคาะประมูลได้ที่ 999,999 บาท
2.ผู้จัดชักชวนร้านค้าเครือข่าย otop และร้านค้าชุมชน 33 ชุมขนมาออกบูท โดยไม่เก็บค่าเช่า ตลอดวันงาน 2-4 เมษายน เป็นบูทเพิงมุงด้วยตับจาก ขนาด 3×3 เมตร หันหน้าเข้าเวทีใหญ่ มีโต๊ะให้ 1 ตัว(แบบโต๊ะงานเลี้ยงโต๊ะจีน แต่ต้องจ่ายเหมาตลอดงาน 400 บาท) แถมหลอดไฟให้ 1 ดวง
3.ไม่เก็บค่าเช่าก็จริง แต่ตลอดงาน 2-4 เมษายน หากบูทชุมชนไหน ต้องใช้ปลั๊กไฟ ต้องจ่ายเหมาปลั๊กละ 500 บาท ภาพสลิปในสนทนากลุ่มไลน์ คือ สตรีผู้หนึ่งมระบุ ให้โอนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลหนึ่ง เป็นบัญชีของธนาคารกสิกรไทย และมีผู้ยอมจ่าย โดยการโอนเข้าบัญชีดังกล่าว จำนวน500 บาทตามเงื่อนไข เพราะมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า เพื่อเตรียมของขาย

ถามว่ารายได้ตรงนี้ ส่งรัฐหรือไม่? มีการออกใบเสร็จรับเงินหรือไม่? ตามระเบียบงานจ้าง ทำได้หรือไม่? แต่มีสบิปการโอนเงินชัดเจนแน่นอน

4.ผู้จัดรวบการขายน้ำและน้ำแข็งในงานไว้เอง หรือไม่? อาศัยอำนาจตามระเบียบใด เมื่อเป็นการรับงานจ้างจากรัฐ ไม้ใช่งานสัมปทาน

และต้องจองคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อน 15.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน ก่อนวันงานโดยงานพิธีเปิดเริ่ม 19.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยน้ำแข็งที่นายหน้าระบุขาย ขายถึงกระสอบละ 60 บาท จากราคาตลาดแค่กระสอบละ 40บาท

5.ร้านค้าชุมชน อยู่ริมชายขอบ ร้านค้าที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของจ.ตรังส่งเสริม อยู่โดดเด่นใจกลางงาน ร้านเหล่านั้นไม่ผิดใดๆ ใครชวนมาโชว์ก็ต้องมา

แต่ถามว่ามีการเก็บค่าใช้จ่ายจากร้านสวยๆเหล่านั้นหรือไม่? หากเก็บ รายได้ส่งรัฐหรือไม่? มีใบเสร็จรับเงิน หรือระเบียบเปิดให้ทำได้หรือไม่?

6.จัดงานเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมภูมิปัญญาวิถีลูกลม วิถีนา หรือวิถีใคร???

ยังมีเรื่องเล่าชวนติดตามอีกมากมาย…เรื่องเล่าจากวัวควายในทุ่งนา…

ในขณะที่โลกโซเซียลตรัง ยังวิจารณ์กระหน่ำตั้งข้อสังเกต การจัดงานแบบละเลยคุณค่าวิถีชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม โดยผู้ใช้เพจบุ๊กรายหนึ่งโพสในกลุ่ม “ข่าวตรัง News in trang” ซึ่งเป็นกลุ่มสาธารณะ มีสมาชิก 1.5 แสนผู้ใข้งานเฟสบุ๊ค ระบุข้อความ “หวังว่าปีนี้คงเป็นปีสุดท้ายของงานลูกลมเเบบนี้ คนพื้นที่เเถบไม่ได้มีส่วนร่วม จะขายของเหมือนปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ขาย เเละอะไรหลายอย่างที่ไม่อยากจะพูด พ่อค้าเเม่ค้าที่มาขายในงานก็รู้ว่ามาจากไหนคนในพื้นที่ได้เเต่มองขายไม่ได้ เงิน เงิน เงิน”

โดยโพสดังกล่าวมีสมาชิกกดถูกใจหลายร้อยคน มีการแชร์ออกไปจำนวนมาก ในขณะที่สมาชิกในกลุ่ม เข้ามาคอมเม้นท์เป็นจำนวนมาก เช่น “ท่านผู้มีอำนาจในตำบลร่วมกับประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือกันให้เข้มแข็งอย่าไห้คนนอกมาจัดงานถ้าแบบนี้ ไม่นานวิธีชีวิตคนนาหมื่นศรีค่อยๆหายไป” / “กรณีนี้….ผมถือว่า…จริง.ๆ…นาหมื่นศรีเกิดได้ดังได้เพราะชาวบ้านรวมตัวกัน…วันดีคืนดีใครที่ไหนก็ไม่รู้มาชุบมือเปิบ….ว่าแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับพี่น้องนาหมื่นศรีนะครับ ว่าจะรวมตัวกันจัดการเรื่องนี้อย่างไร….สิทธิในการจัดงานหรือขายของควรเป็นของคนท้องที่อันดับแรก…เพราะพวกเขาเป็นผู้บุกเบิกมาก่อน” /

“รวมตัวถามหาความจริงกันเลยพี่น้อง เอาไห้จังหวัดตรังดังระเบิดไปเลย แล้วปีต่อไปเขาก็จะทำกันแบบนี้อีก ทุนที่เขาลงไปยังไม่ได้คืนพี่น้องเห้อ” / “งานลูกลมไม่ใช่ที่แรกของประเทศไทยครับ ที่เป็นแบบนี้ ผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนไม่เคยเร็ดรอดสายตาทางการหรือนายทุน ประเพณีวัฒนธรรม จิตสำนึก เอาไว้ก่อน เพราะอยากพัฒนาใหัเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ดูดีนะครับ ผ่ามพ่ามมมมมม”

“สุดท้ายเดียวก็น่าจะเหมือนงานเหลิม หมดกลิ่นอายชาวบ้าน มีแต่ธุรกิจเข้ามาอย่างเดียว” / “งานลูกลมเป็นอัตลักษณ์วิถีชีวิตที่คนในชุมชนนาหมื่นศรีและพื้นที่ใกล้เคียงจัดขึ้นมันมีกลิ่นไอของวิถีชาวบ้านพื้นที่อย่าเอาชื่อสถานที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัวเพราะคนในชุมชนไม่ได้อะไรจากงานที่นายทุนจัดขึ้น สรุปชาวบ้านคนในพื้นที่ได้อะไรกับการจัดงานครั้งนี้” /

อย่างไรก็ตามการจัดงานลูกลม ได้จัดมาก่อนหน้านี้ จำนวน 23 ครั้ง การจัดแต่ละครั้งที่ผ่านมา เป็นการจัดโดยชุมชน มีการออกร้านของชาวบ้าน และ กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ มีการประกวดลูกลม มีการตกแต่งลูกลมเป็นแนวยาวตลอดถนนเลียบคลองชลประทาน ซึ่งงานเน้นความเรียบง่าย สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านนาหมื่นศรี ทำให้ “ลูกลม” และ “ท้องทุ่งนาหมื่นศรี” เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างจังหวัด มีผู้คนจำนวนหลั่งไหลมาสัมผัสกลิ่นอายของท้องทุ่ง

และวิถีชุมชนที่นี่ในวันนี้ ….. เกิดอะไรขึ้นกับงาน”ลูกลม ชมเขาช้างหาย” ครั้ง 24… #งานลูกลม สะท้อนวิถีนา หรือวิถีใคร? ชาวบ้านอยู่ไหน? ไฉนจึงอยู่นอกนา?
 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน