X

หมู่บ้านข้าวหลาม 150 ปี วิถีชุมชนชาวโคกสะบ้า จ.ตรัง

ตรัง – ควันโขมงยามเช้าที่หมู่บ้านข้าวหลามวิถีชุมชน ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง ที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์สืบทอดงานอาชีพวิถีชุมชนมายาวนานกว่า 150 ปี ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

วันที่ 3 เมษายน 2564  หากประชาชนขับรถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ อ.นาโยง จ.ตรัง เช่นพื้นที่ ต.นาข้าวเสีย ,ต.โคกสะบ้า  ตั้งแต่เช้าจะพบเห็นชาวบ้านนำข้าวหลามออกมาวางจำหน่ายริมถนน โดยเฉพาะที่บ้านบนควน หมู่ที่ 8 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง “หมู่บ้านข้าวหลาม”  ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาว รวมแล้วประมาณ 150 ปี  จะพบว่าบรรยากาศยามเช้าของเกือบทุกวัน จะเห็นควันไฟลอยโขมงอยู่หน้าบ้าน ข้างบ้าน หรือหลังบ้าน ซึ่งเป็นภาพชินตาของหมู่บ้านข้าวหลามแห่งนี้ เพราะชาวบ้านจะตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น.ลุกขึ้นมาจัดเตรียมนำข้าวเหนียว น้ำกะทิ หยอดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ เพื่อทำข้าวหลาม จนสว่างยามเช้าก็ยังคงเห็นชาวบ้านสาละวนกับการย่างข้าวหลามที่เตาไฟก่อขึ้นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือวันไหนมีงานต้องไปออกร้านจำหน่ายแสดงว่า ต้องกรอกข้าวเหนียวและทำกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอที่จะนำไปจำหน่าย แต่หากไม่มีงานออกร้าน ก็จะต้องลุกขึ้นมาทำ เพื่อให้ได้ปริมาณที่พอจะนำไปจำหน่ายในตลาดนัดของแต่ละคน  แต่ละวัน โดยข้าวหลามของชาวบ้าน ต.โคกสะบ้า มีการยึดและสืบทอดดอาชีพการหลามข้าวหลามขายมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เป็นระยะเวลายาวนานร่วม 150 ปีแล้ว ขณะเดียวกันตอนเช้าๆ ชาวบ้านบางส่วนก็เดินทางไปหาซื้อ เพื่อนำไปรับประทานกับกาแฟยามเช้าก็มี

สำหรับประวัติการทำข้าวหลามของบ้านบนควน ตั้งแต่อดีตชาวบ้านในอ.นาโยง รวมทั้งชาวบ้านบนควน จะมีอาชีพทำนา ทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เก็บไว้กินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การทำข้าวหลามจึงเกิดขึ้นตามภูมิปัญญาชาวบ้าน และสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนได้ผ่านการรับ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP  และปัจจุบันยังทำกันเป็นอาชีพอีกประมาณ 12 ครัวเรือน จึงได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านข้าวหลาม  ด้วยรสชาติที่อร่อย นุ่ม หอม หวาน มัน เค็ม และกลิ่นหอมของไม้ไผ่ที่เอามาเผาไฟ ทำให้ข้าวหลามของที่นี่จึงขึ้นชื่อที่สุดของจ.ตรัง  โดยขณะนี้คนที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นพ่อ แม่ ที่เดินเหินไม่สะดวก ก็ทำเพื่อให้ลูกหลานนำออกไปขายตามตลาดนัด หรือไปออกร้านจำหน่ายที่ทางจังหวัด อำเภอจัดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม รุ่นลูก หลาน ก็เรียนรู้และร่วมลงมือทำไปด้วย เพื่อสานต่ออาชีพ เพราะปัจจุบันข้าวหลามก็ยังเป็นนิยมของประชาชนทั่วไป ทั้งรับประทานกับกาแฟยามเช้า งานเลี้ยงของบริษัท ห้างร้าน ของชุมชน  และยังส่งไปขายในจังหวัดพัทลุง , จ.กระบี่ , อ.หาดใหญ่ และจ.นครศรีธรรมราช

โดยชาวบ้านเปิดเผยว่าเคล็ดลับความอร่อยของข้าวหลามที่นี่ คือ หลังนำจากข้าวเหนียวกรอกในกระไม้ไผ่จะใส่ไส้อะไรลงไปด้วยก็ได้ แล้วตามด้วยการหยอดน้ำกะทิที่ผสมกับเกลือและน้ำตาล และกรอกลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วนั้น ก็จะเอาไปในนึ่งในหม้อนึ่งพร้อมปิดฝาเป็นเวลา 2 ชม. เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันแน่นและเข้าเนื้อกับส่วนผสมทั้งหมด โดยก้นหม้อนึ่งดังกล่าวจะต้องนำเศษไม้ไผ่มาวางลงไปในน้ำให้แน่น เพื่อใช้สำหรับรองก้นกระบอกข้าวหลาม ไม่ให้จุ่มน้ำ กระบอกไม้ไผ่ไม่เปียก ไม่เช่นนั้นข้าวหลามที่ออกมาจะแฉะ เมื่อครบกำหนดเวลาก็นำขึ้นมาแล้วเอาไปวางย่างต่อกับไฟถ่านพิงให้เป็นแถว และหมั่นพลิกกระบอก เพื่อให้สุกทั่วถึง โดยจะย่างต่อไปอีกประมาณ 30 นาที ก็จะได้ข้าวหลามที่นุ่ม หุ้มด้วยเยื่อหุ้มไผ่ที่แสนอร่อย  เป็นที่ต้องการของลูกค้า จากเดิมเคยนำกระบอกข้าวหลามที่บรรจุข้าวเหนียวและกะทิเรียบร้อยแล้วไปตั้งไฟเผาย่างกับเตาถ่านในทันที พบว่าข้าวหลามที่ออกมาจะแข็ง ไม่นุ่ม และไม่อร่อย จึงเปลี่ยนมาทำแบบนึ่งก่อนจะนุ่มอร่อยกว่า

นางสาวสุมลฑา  นิลจันทร์ อายุ 37 ปี กล่าวว่า  ตอนสถานการณ์โควิดก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากตลาดนัดปิด และส่งขายต่างจังหวัดไม่ได้ แต่หลังสถานการณ์คลี่คลายก็กลับมาทำได้ตามปกติและขายดี ปกติก็นำข้าวหลามไปขายตามตลาดนัด รวมทั้งทำไปขายในงานแสดงสินค้าที่ทางจังหวัดจัดขึ้น ทำให้มีรายได้ดี  และมีการพัฒนาไส้ขึ้นมาทั้งหมด 12 ไส้ เช่น ข้าวหลามไส้กะทิธรรมดา ไส้มะพร้าวอ่อน ไส้ใบเตยมะพร้าวอ่อน ไส้บ๊ะจ่าง ไส้เผือก ไส้ถั่วดำ ถั่วแดง ไส้ธัญพืชต่างๆ ไส้หมูย่าง ใส้ใบเตย ไส้ดอกอัญชัน และไส้ปลากะพง เป็นต้น ซึ่งขายดีมากแม้ในช่วงปกติที่จะขายในงานศพ งานวัด และตลาดนัด  ถ้าทำครั้งละ 10 กิโลกรัมก็จะขายได้ประมาณ 2,600 บาท   แต่ในช่วงที่มีงานออกร้านที่ห้างโรบินสันตรัง จึงต้องทำจำหน่ายทุกวันๆละ 30 -40 กิโลกรัม

ทางด้านนางจินดา แสงมี อายุ 61 ปี ประธานกลุ่มหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง “หมู่บ้านข้าวหลาม” บ้านบนควน หมู่ 8 ต.โคกสะบ้า  อ.นาโยง  กล่าวว่า  สำหรับข้าวหลามบ้านบนควนพวกตนสืบทอดกันมาจากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาว  อดีตกระบอกใหญ่ขายกระบอกละ 20 -25 บาท  จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกที่ทำขายประจำรวม 12 ครอบครัว  ปกติถ้าไม่มีการออกงานก็จะทำสัปดาห์ละ 4 วัน คือ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ และวันอาทิตย์  โดยลูกหลานนำไปขายในตลาดนัด แต่หากมีงานแสดงสินค้าก็จะต้องทำทุกวันที่มีงาน หากงาน 10 วัน ก็ต้องทำทั้ง 10 วัน เพื่อให้ได้ข้าวหลามใหม่สดไปจำหน่ายทุกวัน  ราคาขายหลายราคาขึ้นอยู่กับขนาดของกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุ เช่น กระบอกละ 30 -35 บาท หรือขาย 3 กระบอก 100 บาท ,กระบอกละ 40 -70 บาท แต่หากใส่จะขายราคาเท่ากันทั้งหมด คือ กระบอกละ 100 บาท รวมทั้งไส้หมูย่างและไส้ปลากะพง  โดยปกติจะทำขายวันละประมาณ  กิโลกรัม และหากมีงานจำหน่ายสินค้าจะต้องทำวันละประมาณ 30 -40 กิโลกรัม และขายหมดทุกวัน  ทั้งนี้ สำหรับที่หมู่บ้านข้าวหลามเชื่อว่า ข้าวหลามจะไม่หายไปจากพื้นที่แน่นอน เพราะปัจจุบันสมาชิกทุกคนมีลูกหลานสืบทอด และมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะข้าวหลามยังขายได้ และยังเป็นที่ต้องการของประชาชนในงานต่างๆ จะต้องมีข้าวหลามจำหน่าย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน