ตรัง เร่งชงเสนอโครงการ 509 ล้านบาท ตามสัดส่วนโควตา ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากจากพิษโควิด-19 ภาคประชาชน ห่วง เร่งรีบไม่ตรงความต้องการประชาชน ขาดการมีส่วนร่วม หวั่น ชงโครงการเดิมของส่วนราชการ ผู้ว่าฯ ตรัง ยัน ใช้ฐานข้อมูลภาครัฐค้นหาคนจน กำชับส่วนราชการคิดนอกกรอบ เสนอที่ประชาชนต้องการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.จังหวัดตรัง) ครั้งที่ 6/2564 ที่ห้องพระยารัษฎา ศาลากลางจังหวัดตรัง โดยมี นายภูวณัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น : ระดับพื้นที่ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เห็นชอบคู่มือแนวปฏิบัติการเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและศักยภาพของท้องถิ่น : ระดับพื้นที่วงเงิน 45,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามคู่มือแนวปฎิบัติการ เพื่อให้จังหวัดรับทราบแนวทางการจัดทำโครงการ ในการจัดเตรียมโครงการฯ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้มอบหมายส่วนราชการในการรวบรวมตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อเสนอโครงการและส่งให้สำนักงานจังหวัดตรัง ตามลักษณะโครงการ/กิจกรรม 4 ด้าน คือ 1.ด้านการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน/OTOP การค้าส่ง การค้าปลีก การท่องเที่ยวชุมชน 2.ด้านยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร 3.ด้านส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และ 4.ด้านการพัฒนาเส้นทางถนนและโครงการชลประทานตรัง
ข่าวน่าสนใจ:
- ชมรมโฮปฯ ร่วมกับชุมชน จัดกิจกรรม ซานตาโฮป แจกของขวัญให้กับเด็กในชุมชนกว่าพันชิ้น
- เพชรบูรณ์ - "ครอบครัวศรีประโค" บริจาคกระจกตาพ่อที่เสียชีวิต หวังช่วยให้ผู้อื่นกลับมามองเห็น
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
สำหรับเรื่องพิจารณา ที่ประชุมได้พิจารณาแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อขอรับการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะจังหวัดตรัง (ศรีตรังเมืองอัจฉริยะ) 4 ด้าน ได้แก่ 1.พลังงานอัจฉริยะ Smart Energy 2.ระบบขนส่งและการสื่อสารอัจฉริยะ Smart Mobility 3.พลเมืองอัจฉริยะ Smart People และ 4.ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ Smart Governance
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรังได้รับการจัดสรรงบประมาณกระตุ้นโควิด-19 มาจำนวน 509 ล้านบาท โดยผู้มีสิทธิเสนอโครงการเพื่อพิจารณา ได้แก่ ส่วนราชการสังกัดส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งก่อนที่สศช.จะแจ้งผ่านให้จังหวัดทราบ ทางจังหวัดตรังเองได้ทราบข่าวเรื่องงบประมาณดังกล่าวที่ทางรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่ครม.จะมีมติอย่างน้อย 1 เดือน จังหวัดตรังจึงได้มีการเตรียมการล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมด้วยการเรียกประชุมส่วนราชการ และสั่งการให้ส่วนราชการได้เตรียมโครงการไว้บางส่วน โดยได้ดูโครงการที่สอดคล้องกับมติครม. ที่เน้นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก
นายขจรศักดิ์กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายส่วนราชการเน้นไปที่โครงการที่มีความพร้อมและ สามารถดำเนินการอยู่ในกรอบเวลาที่รัฐบาล หรือสศช.กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะครอบคลุมโครงการด้านค้าปลีก ค้าส่ง OTOP รับผิดชอบโดยพาณิชย์จังหวัดตรัง โครงการด้านการท่องเที่ยว รับผิดชอบโดยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง โครงการด้านเกษตร รับปิดชอบโดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง โครงการด้านทักษะ อาชีพ ฝีมือแรงงาน รับผิดชอบโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รับผิดชอบโดยแขวงทางหลวงชนบทตรัง และด้านน้ำ รับผิดชอบโดยชลประทานจังหวัดตรัง ซึ่งแต่ละด้านต้องมีการหารือและนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับ
“ผมได้เน้นย้ำไปยังส่วนราชการ ให้คิดนอกกรอบ ไม่เอาภารกิจของส่วนราชการเป็นตัวตั้ง โครงการที่ทำต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ให้พวกมีอาชีพ มีรายได้ ช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ได้จริง โดยจังหวัดตรังได้นำเอาข้อมูล TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่าคนจนนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง เช่น การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการรัฐ การเงิน มาประกอบ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ให้สามารถออกนโยบายแก้ปัญหาได้ตรงจุด”นายขจรศักดิ์กล่าว
ด้านนายประทีป โจ้งทอง อดีตนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวโดยภาพรวม ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย แต่เน้นไปทางงบประมาณเพื่อการพัฒนา ซึ่งหากมีการพัฒนาทั้งระบบจะเกิดผลดีระยะยาว เช่น การพัฒนาหาดปากเมง อ.สิเกา ที่เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวทะเลตรังอย่างยั่งยืน หาดปากเมงจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสากล มีระบบไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ท่าเรือ ร้านค้า และการบริหารจัดการ
“แต่สิ่งที่ผมกังวลคือ ระยะเวลานำเสนอโครงการที่มีเวลาจำกัด เกรงว่าภาคส่วนต่างๆที่จะนำเสนอโครงการขนาดใหญ่ จะเสนอไม่ทัน และเสียโอกาส ส่วนโครงการขนาดเล็ก หากเสนอทันก็เกรงจะได้ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง ที่จริงแล้วงบเงินกู้ก้อนนี้ ควรจะมีระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้ได้วางแผนการเสนอโครงการ และเมื่อเสนอไม่ทันก็ไม่ควรจะดึงงบประมาณกลับไป เพื่อให้การบริหารจัดการในจังหวัดได้ใช้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และมีผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยว”นายประทีปกล่าว
ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานกลุ่มตรังต้านโกง ในฐานะองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนจังหวัดตรัง กล่าวว่า ประชาชนมีส่วนร่วมไม่มากนัก เพราะการเสนอโครงการเป็นการนำเสนอโดยภาครัฐ และทางฝั่งของรัฐบาลก็กำหนดแนวทางมาแล้วว่าจะให้ทำโครงการประเภทใด โดยส่วนตัวมองว่าประชาชนได้ประโยชน์ไม่มากพอ เพราะโครงการที่มานั้นเป็นโครงการประเภทเร่งด่วน และต้องเสนอ ทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐาน หรือแม้แต่ด้านการส่งเสริมอาชีพ แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นและเร่งด่วน จะทำให้โครงการที่ได้เป็นโครงการที่ไม่ได้มาจากการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่รัฐบาลเป็นการบริหารแบบบนลงล่าง ขาดการรับรู้ และการสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงเท่าที่ควร
“จริงๆแล้วการทำโครงการต่างๆ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นลำดับแรก ซึ่งในขณะนี้ประชาชนต้องการให้แก้ปัญหาปากท้องเป็นหลัก เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จึงอยากให้หน่วยงานที่เสนอโครงการ เน้นการเสนอโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างเป็นขั้นตอน มีการลำดับความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อน”นายชัยวุฒิกล่าว
………
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: