เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 28 เมษายน 2564 จิระศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน-ตรัง ได้เสียชีวิตลง หลังจากที่เขาต่อสู่กับโรคมะเร็งยาวนาน กว่า 7 ปี และจะมีการรดน้ำศพที่วัดกุฎยราม ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง ในวันที่ 29 เม.ย. 64 เวลา 15.00 น. ซึ่งการจากไปของนายจิรศักดิ์ฯ นำพาความเสียใจมาสู่นักสื่อสารมวลชนชาวตรัง ครอบครัว ญาติ และ เพื่อน ของเขา
บางช่วง บางตอนจากหนังสือ “สนามข่าว-สนามชีวิต สู้วิกฤติมะเร็งร้าย” ซึ่งนายจิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์ ได้เขียนขึ้นหลังตรวจพบมะเร็งในร่างกาย
หนังสือ “สนามข่าว-สนามชีวิต สู้วิกฤติมะเร็งร้าย” เล่มนี้ ได้บันทึกเรื่องราวของนักข่าวคนหนึ่งที่เมืองตรัง ที่ชื่อนายจิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์ ที่ได้บอกเล่าถึงมะเร็งร้าย ที่เริ่มจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ และแพร่กระจายไปสู่ปอดทั้งสองด้านโดยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีในขณะนั้น(7ปี ณ ปัจจุบัน) โดยยังต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งร้ายด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง จึงมีความคิดว่าน่าจะเขียนหนังสือขึ้นมาสัก 1 เล่ม เพื่อบอกเล่าประวัติชีวิตส่วนตัว ที่เคยก่อกรรมทั้งกรรมดีและไม่ดี และเชื่อว่าเวรกรรมมีจริงที่ส่งผลให้ผู้เขียนต้องเป็นโรคร้าย อีกทั้งผู้เขียนได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การต่อสู้และการรักษากับมะเร็งร้ายอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่ให้ดี ไม่ทิ้งงานในฐานะนักข่าวในจังหวัดตรัง โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วย และ วงการแพทย์โรคมะเร็งร้ายไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นแนวคิด อุทาหรณ์ในการดำรงชีวิตเมื่อได้เกิดโรคร้ายกับตัวเราเอง ทั้งชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน และการรักษา
………..
ข่าวน่าสนใจ:
บทที่ 6 : เดินสู่เส้นทางสายน้ำหมึก “นักข่าวเมืองตรัง”
ถอดโลกความคิด
“จิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์”
57 ปี บน “สนามข่าว-สนามชีวิต”
“ผมได้รับการบ่มเพาะจากมติชน เราถูกสั่งสอนให้อยู่ในกรอบวิชาชีพ อะไรที่นอกลู่นอกทางเราจะไม่ทำ และจากประสบการณ์ได้บอกเราว่า เราต้องทำตัวให้น่าเลื่อมใสศรัทธา”
ปกติแล้วเราจะเห็น “นักข่าว” สัมภาษณ์ “แหล่งข่าว” เพื่อนำข้อมูลเรื่องราวมานำเสนอต่อประชาชนและผู้อ่าน แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ “นักข่าว” ได้เป็นผู้ถูกสัมภาษณ์เสียเอง
ส่วนหนึ่งเพราะผู้สัมภาษณ์ มองว่า “พี่อี๊ด-จิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์” มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเท เป็นอย่างมากในการเขียนและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงเพราะอยากบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตบนถนนแห่งการต่อสู้กับ “โรคมะเร็ง” เท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้ ได้สะท้อนตัวตนของ “พี่อี๊ด” ออกมาอย่างทะลุปรุโปร่ง
นั่นคือความดี ความมีน้ำใจ และที่สำคัญ คงหาอ่านจากที่ไหนไม่ได้ นี่คือ เส้นทางชีวิตของ “ฅนข่าวเมืองตรัง” ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากต้องอาศัยความมุมานะ ตั้งใจ ความทุ่มเทต่ออาชีพ การดำรงตนอย่างมีเกียรติ เพื่อสะสมแรงศรัทธา
ซึ่ง “พี่อี๊ด-จิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์” ผู้ถูกสัมภาษณ์เสียเองเป็นครั้งแรก ได้เล่าไว้อย่างน่าฟัง
@ก่อนอื่นขอถามว่า ทำไมถึงตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
ที่ทำหนังสือนี้ขึ้นมา เพราะอยากทำเป็นวิทยาทานแก่ผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อได้เผยแพร่ความรู้จากการที่เราเป็นผู้ป่วยมะเร็ง และได้ผ่านการต่อสู้มาระยะหนึ่ง ตอนนี้ก็กำลังต่อสู่กับโรคร้ายอยู่ โดยเฉพาะการปฏิบัติตัวและการดูแลตัวเองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง การจะมีโอกาสในการบันทึกหรือเขียนหนังสือออกมาเผยแพร่มีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะต้องต่อสู้กับโรค และส่วนหนึ่งก็เสียชีวิตไปเสียก่อน จะมีบ้างก็เพียงส่วนน้อยและเป็นผู้มีชื่อเสียง แต่สำหรับคนธรรมดา เราจะไม่ค่อยเห็นหนังสือของพวกเขาสักเท่าไหร่ จริง ๆ ผมเป็นนักข่าวมายาวนานก็จริง แต่ยังไม่เคยเขียนหนังสือรวมเล่มมาก่อนในชีวิต หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือเล่มแรกของชีวิตตอนเราอายุ 57 ปี หรืออาจจะเป็นเล่มสุดท้ายก็ได้ (หัวเราะ)
@ไม่แน่ พอต่อสู้จนชนะมะเร็งแล้ว อาจจะมีเล่มสองก็ได้
ก็ไม่แน่ ถ้าสู้ชนะก็อาจได้เห็นเล่มที่สอง แต่สำหรับเล่มแรก ผมเล่าทั้งเรื่องชีวิต บอกถึงสาเหตุของโรค เพราะผมเชื่อในเรื่องบาปกรรม การประพฤติตัวในช่วงวัยรุ่น และปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก็อยากฝากเตือนคนหนุ่มสาวว่า ในช่วงชีวิตที่เรายังแข็งแรงก็อย่าใช้ชีวิตกับการเที่ยวเตร่ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่เยอะจนเกินไป ของพวกนี้มันสะสมในตัวเรา แล้วจะกลับมาถามหาเราอีกครั้ง ผมก็เหมือนกัน ในวัยหนุ่มก็ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลหรือมีเหตุเจ็บป่วยหนัก ๆ จนกระทั่งถึงวัยที่สิ่งพวกนี้ถามหา
@การต่อสู้กับมะเร็งเริ่มต้นมาอย่างไร
ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอก แต่ร่างกายมันเริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มที่วิสัยการขับถ่ายเราเริ่มผิดปกติ แต่ละวันเราเริ่มถ่ายบ่อยขึ้น กินปุ๊บถ่ายปั๊บ
@นาทีแรกที่รับรู้ว่าเป็นมะเร็ง รู้สึกอย่างไร
โอ้โห… ตอนนั้นมันสุด ๆ นะ เรามีครอบครัว มีลูกแล้ว มันก็หดหู่ ผมจำได้ดี วันที่ 29 กันยายน 2557 เป็นวันที่ผมรับรู้ครั้งแรกว่า ผมเป็นมะเร็งลำไส้ หลังจากนั้นก็ต่อสู้หนักมาตลอด นาที ณ ตอนนั้น เราคิดว่าเราต้องตาย เพราะเขาบอกกันว่า คนเป็นมะเร็งจะต้องตาย ในช่วงนั้นก็ได้แต่นับวันรอว่า เราจะรอดไหม จะอยู่ได้อีกสักกี่ปี
@แล้วมีวิธีสร้างกำลังใจให้ตัวเองในการต่อสู้อย่างไร
โชคดีที่มีภรรยาคอยให้กำลังใจ ลูกก็เป็นเด็กดี ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงก็ช่วยเหลือให้กำลังใจ การมีมิตรและครอบครัวที่ดีช่วยทำให้เราต่อสู้กับโรคร้ายมาได้ระยะหนึ่ง เป็นกำลังใจที่เติมให้กับเราได้ดีมาก ๆ ผมมีภรรยาเป็นตัวหลักในการดูแลสารพัดเรื่อง ต้องขอบคุณเธอจริง ๆ (น้ำตาคลอ)
@คนเป็นมะเร็งเท่าที่เห็น หลายคนทรุดเพราะขาดกำลังใจ แต่คนที่สร้างกำลังใจหลายคน ก็ต่อสู้จนชนะได้
ใช่ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องสู้ ถ้าเราจะสู้กับมันเราต้องทำทุกอย่างตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องกระบวนการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ ที่สำคัญคือ เราอย่าหมดหวัง ผมจะใช้วิธีการนับชีวิตให้อยู่ต่อได้ไปแต่ละวัน คือเราต้องอยู่ต่อไป และดูแลตัวเองให้ดีที่สุด
@เส้นทางการต่อสู้ที่ผ่านมาหนักและยากลำบากมากน้อยแค่ไหน
ก็ค่อนข้างหนักนะ ทุกครั้งที่นัดตรวจ จิตใจเราก็จะกังวล ถ้าครั้งไหนผลออกมาดีขึ้นเราก็ดี ถ้าครั้งไหนมันแย่ลงจิตใจเราก็แย่ บางครั้งก็นอนไม่หลับ กระทั่งปรับใจเราได้ แต่เราเข้าใจและพยายามทำให้ดีที่สุด
@เวลาที่จิตตกมาก ๆ เป็นอย่างไร
ก็มี แต่มันเป็นช่วง ๆ เฉพาะช่วงที่สถานการณ์ไม่ดี ช่วงที่ก่อนจะเป็น ช่วงก่อนผ่าตัดลำไส้ และหลังผ่าตัด ก็เครียด แต่พอดีขึ้นเราก็ผ่อนคลายลง สำคัญคือเราต้องดูแลตัวเอง มีวินัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
@คุณจิรศักดิ์ ถือเป็นผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรในสนามข่าว การเป็นนักข่าว หรือการเป็นมนุษย์ในวัย 57 ปี ทำให้เรามีความนิ่งขึ้นไหม
การที่เรามารับรู้ถึงโรคร้ายตอนเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันก็ทำให้เรามีความนิ่งในระดับหนึ่ง ถ้ารู้ตอนเป็นวัยรุ่น เราอาจจัดการสภาพจิตใจได้ไม่เก่งพอ เราต้องควบคุมจิตใจ ต้องมองบวก คิดบวก เพราะคนเราทุกคนเกิดมาต้องตาย ไม่ตายด้วยมะเร็ง ก็ตายด้วยอย่างอื่น อุบัติเหตุ รถชน ก็ตายได้ทั้งนั้น 57 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า ได้ทำอะไรต่อมิอะไรมาพอสมควรแล้ว ได้ผ่านอะไรมามากมาย ถ้าจะต้องตายก็ไม่เสียใจอะไร
@มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจในการต่อสู้ยังไงบ้าง
1.เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 2.ทำจิตใจให้เข้มแข็งอย่าท้อแท้ 3.พยายามมองโลกในแง่ดี ให้คิดว่า มันเป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาต้องตาย เพียงแต่จะตายด้วยอะไรก็ตาม
@มองอีกแง่มุมหนึ่งของการต่อสู้กับมะเร็ง ต้องใช้ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เรื่องทรัพย์ก็เช่นกัน
เราอาจโชคดีที่มีภรรยารับราชการ ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ยามะเร็งหลายตัวเป็นยานอกบัญชีและมีราคาแพงมาก เราก็ต้องจ่าย ก็ใช้ทรัพย์ไปเยอะเหมือนกัน แต่เราก็ต้องสู้
@อีกเรื่องราวหนึ่ง ทราบว่า เป็นนักบริจาคโลหิตตัวยง จนได้รับเข็มพระราชทาน
ครับ บริจาคมาตั้งแต่เรียน ม.ศ.4 เพราะคิดว่า เรามีบาป ทำบาปมาก ก็ต้องพยายามเป็นผู้ให้ ผมเชื่อว่าการให้ทานที่ดีที่สุดคือ การบริจาคโลหิต ก็ได้รับเข็มพระราชทานเมื่อบริจาคได้ 36 ครั้ง แต่ตอนหลังตั้งแต่ป่วยเป็นมะเร็งก็บริจาคไม่ได้
@ในช่วงที่ป่วยและต่อสู้กับโรค กระทบการทำข่าวมากไหม
กระทบพอสมควร เราทำงานไม่ได้ ร่างกายเราไม่แข็งแรง แต่ที่มติชนเขาเข้าใจ หลาย ๆ คนก็เข้าใจ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ นักข่าวตรังก็ช่วยกัน ต้องขอบคุณมาก ๆ
@เป็นคนตรังโดยกำเนิด มาจากครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีลูกมากถึง 14 คน ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร
ว่าไปแล้วฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจนมาก คุณพ่อเป็นคนจีนอพยพมา แม่เป็นคนไทย เป็นคนตรัง ผมเป็นลูกคนที่ 10 ในจำนวน 14 คน สมัยก่อนพ่อแม่ก็เลี้ยงแบบปล่อยเลย ให้ลูก ๆ ต่อสู้ด้วยตัวเอง สอนให้เรารู้จักต่อสู้ รู้จักทำมาค้าขาย ช่วยตัวเอง ช่วยครอบครัว ผมจึงได้ช่วยเหลือตัวเองมาตั้งแต่เล็ก ๆ ช่วยทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำงานพิเศษที่ได้เงินตามกำลัง แต่ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เริ่มเรียนที่โรงเรียนเทศบาลสังขวิทย์
ตอนแรกพ่อจะไม่ให้เรียนหนังสือเลยนะ เพราะคนจีนในยุคนั้น เขาเชื่อว่าทำงานได้ผลมากกว่า ตอนเด็ก ๆ พอเราอ่านหนังสือพ่อก็ดับตะเกียงเลย แต่ที่ผมได้เรียนหนังสือก็เพราะพวกพี่ ๆ ที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ เขารู้ว่าการไม่ได้เรียนหนังสือทำให้ขาดโอกาสและมีความยากลำบาก พวกพี่ ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือแต่เริ่มสร้างตัวได้ก็ช่วยเหลือน้อง ๆ ที่เหลือให้ได้เรียนหนังสือ
ในพี่น้องทั้ง 14 คน ได้เรียนหนังสือ 6 คนและจบปริญญาตรีหมด คือตั้งแต่คนที่ 9-14 ซึ่งรวมผมด้วย ก็ถือเป็นบุญคุณที่พี่ ๆให้กับเรา ผมได้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยมที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส จนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์รามคำแหง แม้กระทั่งผมทำงานแล้วก็พยายามเรียนต่อจนจบปริญญาโทรามคำแหงในที่สุด พี่น้องคนอื่น ๆ ที่ได้เรียนจนจบปริญญาเอกก็มี
@การไปใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เป็นยังไงบ้าง
ก็ยังต้องช่วยเหลือตัวเองมาตลอดเหมือนกัน พี่ ๆ ช่วยค่าเล่าเรียน แต่เราก็ต้องทำงานเพื่อให้ได้กินได้ใช้ ตอนเรียนมัธยมได้ค่าขนมจากพี่ ๆ วันละ 20 บาท เราต้องประหยัด อยู่กรุงเทพฯ อยู่กันกับพี่น้อง เลิกเรียนผมต้องไปซื้อปลาทูเข่งกับผักบุ้งในตลาด กลับบ้านก็หุงข้าว ทอดปลาทู ลวกผัก ทำน้ำพริกกินด้วยกัน ก็กินอย่างนั้นเกือบทุกมื้อ ระหว่างที่เรียนเราก็ต้องทำงาน ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำงานเป็นบ๋อยโรงแรม เข้างาน 1 ทุ่ม ออก 7 โมงเช้า สัปดาห์ละ 6 วัน ว่าง ๆ ก็รับจ้างถอดเทปคำบรรยายอาจารย์ในรามให้กับสถาบันกวดวิชาหน้าราม ฟังเทปแล้วถอดด้วยลายมือเขียน ได้ค่าแรงตอนนั้นถอดเทปม้วนละ 15 บาท โชคดีได้ถอดเทปวิชาด้านรัฐศาสตร์ก็เหมือนเราได้ฟังได้เรียนซ้ำไปในตัว ก็เรียนจบตามเกณฑ์ 4 ปี อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเรียนจบคือ เราไม่โดดเรียนและเราคบเพื่อนดี เพื่อนที่ชวนกันเรียน
@เรียนจบแล้วทำอะไรต่อ
ก็ทำงานโรงแรมต่อ ตอนนั้นได้ทำงานที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท ซอย 11 ทำอยู่ได้ราว 2 ปี พ่อขอให้กลับมาอยู่บ้าน มาช่วยงานที่บ้าน เพราะน้อง ๆ ขึ้นไปเรียนกรุงเทพฯ กันหมด เราก็กลับบ้านมาช่วยงานที่บ้านขายหูฉลาม ตอนนั้นรัฐยังไม่ประกาศให้ปลาฉลามเป็นสัตว์คุ้มครอง ที่บ้านทำธุรกิจค้าหูฉลาม ครีบฉลาม ส่งร้านอาหาร ก็ทำได้ 3-4 ปี จนมีกฎหมายห้าม ผมก็ไปสมัครงานเป็นเซลล์ขายรถของโตโยต้าเมืองตรัง ทำอยู่ได้ 1 ปี ต่อมาได้เห็นประกาศรับสมัครงานผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดตรังของหนังสือพิมพ์มติชนรายวันในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มติชนรับนักข่าวภูมิภาคที่ตรัง ผมเลยไปสมัคร ก็ได้เป็นนักข่าวภูมิภาคของมติชนเมื่อปี 2531
@นับว่าชีวิตนักข่าวเริ่มในปี 2531
ที่จริงผมเป็นคนชอบเขียน แต่เขียนแบบสัพเพเหระ ตอนเรียนได้ทุน ผมก็เขียนบรรยายขอทุนมาตลอด จึงมีความชอบขีด ๆ เขียน ๆ อยู่ในตัว แต่ก็ยังเขียนข่าวไม่เป็น ไม่มีความรู้ด้านงานข่าวมาก่อนเลย เราก็ต้องหัดเขียนข่าวโดยเอาตัวอย่างการเขียนข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนมาอ่านมาซ้อมเขียน ก็ตัดข่าวมาแปะไว้อ่านในสมุดส่วนตัว ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม และข่าวอื่น ๆ เขียนยังไง จากนั้นก็ส่งจดหมายสมัครงานไปที่มติชนที่กรุงเทพฯ
@ทำไมจึงตัดสินใจสมัครเป็นนักข่าว
มันชอบ (ยิ้ม) ผมมองว่า การเป็นนักข่าวได้สะท้อนมุมมองเรื่องราวต่าง ๆ อาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ผู้คนเคารพยำเกรงในวิชาชีพ ในการทำหน้าที่ หลังจากสมัครไปราว 1 เดือน ก็ได้เป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคของมติชนประจำจังหวัดตรัง เขาก็ให้เราส่งข่าวไปทดลอง ข่าวแรกที่ส่งจำได้ว่าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป ภาษาข่าวเป็นข่าวแห้งเพราะเรายังทำข่าวยาก ๆไม่เป็น สมัยก่อนต้องพิมพ์ดีดข่าวแล้วส่งแฟ็กซ์เข้าออฟฟิศ ส่งข่าวไปแล้วเราก็ต้องมาลุ้นในหนังสือพิมพ์ว่าได้ตีพิมพ์หรือไม่ เพราะนักข่าวภูมิภาคจะไม่มีเงินเดือน แต่จะได้ค่าข่าว และจะได้ต่อเมื่อข่าวได้รับการตีพิมพ์
ต่อมาเรื่องการทำข่าวเขียนข่าวก็ค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ สมัยก่อนที่มติชนอบรมสัมมนานักข่าวภูมิภาคทุกปี มีหนังสือแนวทางการเขียนข่าวแบบมติชนมาให้ ผมก็ศึกษาจากเล่มนั้น เพราะแนวทางการใช้ภาษาข่าวของแต่ละสำนักไม่เหมือนกัน ของมติชนจะมีแนวทางเฉพาะของตัวเอง ข่าวแรกที่ส่งและได้ตีพิมพ์เรารู้สึกดีใจมาก คิดว่าเราก็ทำได้นะ จำได้ว่าได้ค่าข่าวเดือนแรก 240 บาทในตอนนั้น จ่ายเป็นธนาณัติ หัวหน้าข่าวภูมิภาคที่มติชนตอนนั้นคือคุณโอภาส เพ็งเจริญ
@รายได้จากการเป็นนักข่าวเดือนละ 240 บาทในสมัยนั้น พอกินพอใช้ไหม
รายได้จากการเป็นนักข่าวภูมิภาค ผมเชื่อว่าไม่พอ มาปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พอ แต่เราต้องทำงานหลายอย่างเสริมด้วย
@แล้วเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมืองตรังเป็นอย่างไร
ถ้านับตั้งแต่ได้เป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคมติชนประจำจังหวัดตรังในปี 2531 ก็ได้รวมตัวกับรุ่นพี่ที่เป็นผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ไปทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “ปักษ์ใต้บ้านเรา” เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ที่จังหวัดกระบี่ ก็มีส่งมาขายที่ตรังด้วย ตอนนั้นนอกจากทำข่าวแล้วก็ต้องหาโฆษณา สมัยก่อนนักข่าวมีน้อย หนังสือพิมพ์ก็มีน้อย โฆษณาต่าง ๆ ก็หาง่ายกว่าในยุคนี้มาก สมัยก่อนเราอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็จากเปอร์เซ็นต์การหาโฆษณาให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาจุนเจือ
ต่อมาสักพักหนึ่ง “คุณกฤษฎา เครือฮ่อง” ที่เป็นผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดตรังตอนนั้นก็มาชวนกันทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง “ข่าวเสรี” ในปี 2535 ถือเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมืองตรังในยุคกลาง ผมเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ คุณกฤษฎาเป็นบรรณาธิการ สมัยนั้นยังพิมพ์แบบเรียงพิมพ์หรือเรียกว่าเครื่องฉับแกระที่ต้องเรียงแม่พิมพ์ทีละตัว ตอนนั้นยังไม่มีครอบครัว อายุ 30 กว่า ใช้ชีวิตเต็มที่เหมือนกัน เที่ยว กินเหล้า ทำงาน เต็มที่ทุกเรื่อง
@ข่าวเสรีในยุคก่อตั้งเป็นอย่างไร
ถือว่าได้รับความนิยมมาก เป็นที่รู้จักมาก โดยเฉพาะในแวดวงท้องถิ่นและราชการ โฆษณาก็มาก ตอนนั้นได้ค่าคอมมิชชั่นค่าโฆษณา 20% และได้เงินเดือนจากข่าวเสรี 5,000 บาท ได้ค่าข่าวจากมติชนอีกส่วน ก็ถือว่ามีรายได้ดี ชีวิตสบายขึ้นมาก ได้ทำงานที่ชอบ
@นักข่าวตรังในยุคอดีตกับยุคนี้ในแง่ความเป็นอยู่ต่างกันไหม
ต่างกันมากเลย สมัยก่อนนักข่าวมีน้อย โฆษณาหาง่าย แต่ตอนนี้ทุกอย่างยากขึ้นมาก ผมก็เข้าใจพี่ ๆน้อง ๆ ทุกคนนะ บางทีเราถามหากันในเรื่องอุดมการณ์ แต่ในยุคนี้เรื่องเศรษฐกิจมีผลมาก ก็แล้วแต่จะมอง มันเป็นเรื่องอุดมการณ์บนความอยู่รอด เป็นความจริงของชีวิต ในอดีตตรังมีหนังสือพิมพ์เกือบ 20 ฉบับ มาวันนี้ด้วยสภาวะเศรษฐกิจก็เหลืออยู่ไม่ถึง 10 ฉบับ แต่วันนี้หลายคนก็ยังสู้อยู่ เพราะมันคือวิชาชีพเรา มันเป็นความรัก ผมก็จะทำต่อไป เว้นแต่ถ้าตายก็ไม่มีใครทำ (หัวเราะ)
@ผ่านการทำข่าวเชิงลึกมาหลายรูปแบบ ทั้งการเมือง และการตีแผ่ขุดคุ้ยเรื่องราวต่าง ๆ มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง
แนวทางทำข่าวของผม ผมจะวางแผนการทำข่าว วางประเด็น เหมือนการเดินข่าวให้มีความต่อเนื่อง ในข่าว 1 ข่าว ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง สถานการณ์ คน และอื่น ๆ บางประเด็นก็ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าข่าวที่กรุงเทพฯ ในบางประเด็นที่มีข้อจำกัดและสุ่มเสี่ยง เราเป็นนักข่าวภาคสนามก็เจอมาหมดแล้ว ก็เครียดนะเพราะอยากเก็บประเด็นให้ได้ตามที่รับมอบหมาย แต่บางทีในพื้นที่ก็มีข้อจำกัด ซึ่งเราอยู่ในพื้นที่เราต้องประเมินถึงความเหมาะสม ตรงนี้มันเป็นเรื่องของศิลปะที่มาจากประสบการณ์
@ตั้งแต่ทำข่าวมาเคยถูกคุกคามบ้างไหม
ก็มีนะ สมัยอยู่ข่าวเสรี เคยทำข่าวนายทุนรุกลำคลองสาธารณะ คือเมืองตรังเราเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แคบ ๆ ใครเป็นใครรู้กันหมด ใครทำข่าวอะไรก็รู้กันหมด ดูข่าวก็รู้ว่าจิรศักดิ์ทำแน่ ตอนนั้นก็มีจดหมายมาบอกว่า อย่าทำข่าวนี้ต่อนะ เดี๋ยวจะโดน!! ผมก็ไปบอกเจ้าหน้าที่ บอกกล่าวกับคนที่เราคิดว่าจะเป็นพยานและช่วยเฝ้าระวังได้ ก็ทำข่าวกันไปต่อ เราต้องดูแลตัวเอง ช่วยตัวเอง ระวังตัวเองดีที่สุด
@ชอบและรักอาชีพนักข่าวเพราะอะไร
(นิ่งคิด…) มันเป็นอาชีพที่มีเกียรติในสังคมนะ ถ้าเราประพฤติดีประพฤติชอบ สุจริต ไม่เบียดบังใคร เราจะได้รับการยอมรับ แม้เราจะเป็นนักข่าวลูกชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีเงิน แต่เรามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อาชีพนักข่าวมีความศักดิ์สิทธิ์ สังคมยำเกรงในงานในวิชาชีพที่เราทำ
@ทำข่าวมากว่า 30 ปี ยังมีข่าวไหนในตรังที่ไม่เคยทำอีกไหม
(นึกนาน…) นึกไม่ออก ไม่น่าจะมีนะ เพราะทำมามากมายแล้ว
@เชื่อในเรื่องของข่าวสามารถเปลี่ยนแปลงและช่วยผลักดันสังคมให้ดีขึ้นไหม
เชื่อนะ ในยุคนั้นเราก็ทำกันเยอะ เรื่องข่าวช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ ผมทำข่าวช่วยผู้พิการ ครอบครัวที่พิการ คนถูกข่มเหงรังแก หนังสือพิมพ์มติตรังเคยนำเสนอคอลัมน์เพื่อผู้ด้อยโอกาสตลอด 1 ปี จนเราได้รับ “รางวัลประชาบดี” ซึ่งเป็นอีกความภาคภูมิใจที่สุดของเรา
@อาชีพนักข่าวเป็นฐานันดรพิเศษ ที่เหมือนดาบสองคม ปฏิบัติดีก็ได้รับความเชื่อถือ ปฏิบัติไม่ดีก็เสื่อมศรัทธา
ผมได้รับการบ่มเพาะจากมติชน เราถูกสั่งสอนให้อยู่ในกรอบวิชาชีพ อะไรที่นอกลู่นอกทางเราจะไม่ทำ และจากประสบการณ์ได้บอกเราว่า เราต้องทำตัวให้น่าเลื่อมใสศรัทธา เมื่อก่อนนักข่าวมีอุดมการณ์มาก ขุดคุ้ยและตีพิมพ์กันดุเดือด ตอนผมอยู่ข่าวเสรีถูกฟ้องมา 5 คดีจากการทำข่าว มันเป็นสิ่งที่ต้องพบเจอในการทำอาชีพนี้ สมัยก่อนนักข่าวมีจุดยืนที่แข็งแรงมาก
@อยากเห็นสนามข่าวตรังในอนาคตอย่างไรบ้าง
อาชีพนักข่าว การทำงานข่าว เราต้องมีความรักสามัคคีต่อกัน ทำข่าวต่างจังหวัดปัจจัยสุ่มเสี่ยงมันมาก บางข่าวเราต้องสามัคคีกันขับเคลื่อน ต้องช่วยกันผลักดัน ตีพิมพ์ ลงข่าว เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เดินทางลงพื้นที่ก็ต้องไปกันเป็นกลุ่ม ดูแลซึ่งกันและกัน ข่าวบางข่าวทำข่าวคนเดียวไม่ได้ ความสามัคคีจึงสำคัญ แต่เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างอยู่กันมาก คือ ในอดีตแข่งประเด็นข่าวกันมากแต่ก็ยังเป็นเพื่อนกัน เจอกันบนแผง แต่ความสัมพันธ์คงเดิม เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปตามสภาพ ตามยุคสมัย
@มีคำสอนในแวดวงสื่อว่า อาชีพนักข่าวก็เหมือนหัวโขน ตอนสวมอยู่ก็มีบทบาทมีอำนาจ แต่เมื่อถอดออกก็หมดอำนาจ มองอย่างไร
หัวโขนเมื่อถอดออกก็เปลี่ยน หลายอย่างจะเปลี่ยนไป ตอนเป็นนักข่าวเหมือนเรามีหน้าตา มีอำนาจ มีบทบาท แต่เมื่อเราถอดหัวโขนออก เป็นชาวบ้านธรรมดา เราจะกลับคืนสู่สามัญ ดังนั้น อยากให้ผู้คนจดจำเราในวันที่ถอดหัวโขนอย่างไร ก็ขึ้นกับการปฏิบัติตัวของเราในวันที่สวมใส่หัวโขน
ถ้าเราประพฤติดีประพฤติชอบ ตามหน้าที่แห่งวิชาชีพ ในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพตัวเอง ทำข่าวด้วยความเป็นธรรม อย่าใช้อำนาจหน้าที่เราเบียดบังเรียกรับประโยชน์ แม้ถึงวันที่เราถอดหัวโขนออกแล้ว สังคมก็ยังคิดถึงเรา ศรัทธาเรา
นักข่าว ใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่เป็นนักข่าวที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จริงอยู่ที่นักข่าวไม่จำเป็นต้องเรียนจบนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ การดำรงตนที่ดีมันเป็นความท้าทาย ต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเครื่องกำกับที่ดีที่สุด ก็คือจิตสำนึกของตัวเราเอง…
@ประวัติส่วนตัว
นายจิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์ เกิดวันที่ 3 มีนาคม 2502 ภูมิลำเนาจังหวัดตรัง เป็นบุตรคนที่ 10 จำนวนพี่น้อง 14 คน
การศึกษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-7 โรงเรียนเทศบาลสังขวิทย์ อ.เมือง จ.ตรัง
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนตรังวิทยา อ.เมือง จ.ตรัง
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร
ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง
การทำงาน
พ.ศ. 2527 พนักงานโรงแรมแอมบาสเดอร์ (ตำแหน่ง In Spector) กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2530 พนักงานฝ่ายขายบริษัท โตโยต้าเมืองตรัง จำกัด
พ.ศ. 2531 ผู้สื่อข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์มติชน ประจำจังหวัดตรัง
พ.ศ. 2531 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ปักษ์ใต้บ้านเรา
พ.ศ. 2535 หัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวเสรี
พ.ศ. 2539 บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ “มติตรัง”
พ.ศ. 2540 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ แนวหน้าประจำจังหวัดตรัง
พ.ศ. 2545 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประจำจังหวัดตรัง
ผลงาน-รางวัล
-ทำหน้าที่ในฐานะนักข่าวเมืองตรัง มานานกว่า 28 ปี มีผลงานด้านการข่าว ทั้งรูปแบบการเสนอข่าว บทความ รายงาน สกู๊ป สัมภาษณ์ ลงในหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จำนวนมาก ที่ถือเป็นภาระหน้าที่ในฐานะนักข่าวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคม ท้องถิ่น จังหวัดตรัง ด้วยความรักและตอบแทนคุณแผ่นดิน
-ตัวแทนผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ร่วมคณะอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ประกอบด้วย นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา นายเสนีย์ จิตตเกษม และนายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ศึกษาดูงาน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ประเทศอินเดีย และประเทศสาธารณรัฐเมียนมาร์ โดยการปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับจังหวัดตรัง ทั้งก่อนไปและกลับ
-ผู้สื่อข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ “มติชน” ดีเด่น ประจำปี 2535 และ 2541
-บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง ได้รับพระราชทานเข็มที่ระลึกพร้อมใบประกาศเชิดชูเกียรติ จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ณ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร
-หนังสือพิมพ์มติตรัง รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ผู้ทำคุณประโยชน์ดีเด่น แก่ผู้อยู่ในฐานะยากลำบาก จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ รางวัลประชาบดี จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปี 2544
-ปี พ.ศ.2547 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ การให้การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมของสำนักงานเทศบาลตำบลห้วยยอด จังหวัดตรัง
-ปี พ.ศ. 2552 ได้รับเกียรติบัตรการเสนอข่าวให้การสนับสนุนงานด้านการประชาสัมพันธ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: