“ตรัง” ประเดิมปลูกกัญชาทางการแพทย์ครั้งแรก “วิสาหกิจชุมชนน้ำผุด” นำกล้าลงดิน 50 ต้น เล็งศึกษา “โนนมาลัยโมเดล” ต่อยอดปลูกครอบครัวละ 6 ต้น “ปธ.กัญชาตรัง” ผุดโครงการ แจกน้ำมันกัญชาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 86 รายได้ผล
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่แปลงกัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดตรัง หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลน้ำผุด ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดตรัง ได้ร่วมกันปลูกต้นกล้ากัญชาอายุ 1 เดือน เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นที่แรกในจังหวัดตรัง ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังเตรียมการมากว่า 1 ปี ตั้งแต่การขออนุญาตจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนก่อสร้างโรงเรือนตามแบบมาตรฐาน รับเมล็ดมาเพาะต้นกล้าอายุ 1 เดือนก่อนนำไปปลูกในโรงเรือนตามระบบควบคุม โดยแปลงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดตรัง เป็น 1 ในจำนวน 4 แปลงของจังหวัดตรังที่ได้รับอนุญาตปลูกถูกต้องตามกฎหมาย
นายศิววงศ์ นวลสุวรรณ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดตรัง กล่าวว่า นับว่าเป็นการเริ่มต้นการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นครั้งแรก ซึ่งการเตรียมการที่ผ่านมา เกิดจากความต้องการและความสนใจของสมาชิกซึ่งเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรในชุมชนในการปลูกกัญชาเพื่อการใช้รักษาโรค และใช้ทำเป็นอาหาร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาของคนไทย และมีข้อมูลยืนยันทางวิชาการรองรับว่ากัญชามีผลดีต่อสุขภาพและรักษาบรรเทาโรคได้ ทางวิสาหกิจฯจึงได้ติดต่อปรึกษาหารือจนกระทั่งมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลน้ำผุด ศึกษาข้อมูล จัดทำเอกสารคำขอ จนได้รับใบอนุญาตจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้บนแปลงจำนวน 50 ต้น
นายศิววงศ์ กล่าวอีกว่า ด้านผลผลิต ช่อดอก เมื่ออายุราว 4 เดือน การเก็บเกี่ยวจะต้องทำตามระเบียบ คือส่งจำหน่ายให้กับกรมการแพทย์ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลเท่านั้น โดยราคากลางที่ประกาศสำหรับช่อดอกเกรด A อยู่ที่ กิโลกรัมละ 45,000 บาท ส่วนช่อดอกเกรดรองลงมา ก็ราคาลดหลั่นกันไป ส่วนจำพวก ใบ กิ่ง ก้าน ราก ทางวิสาหกิจฯ สามารถจำหน่ายได้เองสำหรับผู้ประสงค์ซื้อไปประกอบอาหารตามกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุไว้ โดยราคาใบกัญชาในปัจจุบัน เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 15,000-20,000 บาท โดยส่วนของรากจะมีราคาแพงสุด โดยหลังจากนี้ราว 2 เดือน จะมีการตัดแต่งต้น และสามารถจำหน่ายใบกัญชาที่ตัดแต่งออกได้โดยมีใบส่งมอบถูกต้องตามกฎหมาย
ข่าวน่าสนใจ:
“หลังจากนี้ทางกลุ่มจะศึกษาเรียนรู้เรื่องกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป โดยจะประสานงานกับกลุ่มอื่นๆที่ได้รับใบอนุญาตในด้านองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากกัญชาที่กรมการแพทย์แผนไทยมีการประกาศออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะโมเดลของการขยายต่อยอดให้แก่สมาชิกวิสาหกิจฯให้สามารถปลูกกัญชาได้ครอบครัวละ 6 ต้น ซึ่งมีต้นแบบมาจากวิสาหกิจฯในพื้นที่บ้านโนนมาลัย ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งวิสาหกิจฯที่นั่นได้ทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่และสามารถปลูกครอบครัวละ 6 ต้นได้แล้ว โดยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะได้มีการเดินทางเพื่อศึกษาดูงานต่อไป”นายศิววงศ์กล่าว
ด้านนายเนติวิทย์ ขาวดี ประธานสภากัญชาแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดตรัง และประธานคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมพืชเศรษฐกิจไทยจังหวัดตรัง(กัญชา และ กัญชง) กล่าวว่า ขณะนี้ความคืบหน้าเรื่องการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในพื้นที่จังหวัดตรังมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ และถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการลงมือปลูกครั้งแรกสำหรับแปลงกัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความตั้งใจในการดำเนินการศึกษาเพื่อใช้กัญชาในการรักษาโรคและต่อยอดพัฒนาภูมิปัญญา สำหรับอีก 3 แปลงในพื้นที่จังหวัดตรังที่กำลังจะเริ่มปลูกเร็วๆนี้ ได้แก่ แปลงตำบลบ้านควน อำเภอเมือง แปลงตำบลเขาพระวิเศษ และ แปลงตำบลอ่างตง อำเภอวังวิเศษ
นายเนติวิทย์ กล่าวต่อว่า เดิมจังหวัดตรังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประชาชนมีความสนใจในพืชกัญชาเพื่อรักษาโรค กระทั่งเกิดกระแสว่ากัญชาสามารถรักษาได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคร้ายสำคัญ เช่น โรคมะเร็ง จึงเกิดความตื่นตัวในการใช้น้ำมันกัญชา หรือนำใบกัญชามาต้มดื่มเป็นยา สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดตรังจึงเกิดการรวมตัวกันในเรื่องนี้ โดยได้ยื่นขออนุญาตปลูกกัญชาใน 4 แปลง ซึ่งได้รับอนุญาตทั้งหมด สำหรับระยะต่อไปจะเป็นเรื่องของพืชกัญชงซึ่งได้รับความสนใจ มีผู้เตรียมยื่นขออนุญาตปลูกจำนวนหลายราย
“เรื่องกัญชารักษาโรค ผมได้ศึกษามานาน พบว่าทั่วโลกมีหลายหมื่นงานวิจัยรองรับ โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างโรคมะเร็ง ผมไปงานศพและสอบถามว่าเสียชีวิตด้วยโรคใด พบว่าปัจจุบัน 60-70% เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็คิดในใจว่าถ้าไม่ตายด้วยโรคนี้จะได้ไหม จึงได้ทำโครงการเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งระยุสุดท้าย ชื่อ โครงการร่วมต่อลมหายใจให้กับเพื่อนมนุษย์ ผมเป็นข้าราชการบำนาญ เงินเดือนได้มาโดยไม่ทำอะไร ก็เอาเงินส่วนนี้ไปซื้อน้ำมันกัญชาไปแจกให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายร่วมกับนพ.จำรัส สรพิพัฒน์ แจกไปแล้ว 86 รายในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยภายหลังแจกได้ติดตามประเมินผล พบว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้นประมาณ 70% ในระยะ 6 เดือน”นายเนติวิทย์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: