ตรัง สาวนักธุรกิจส่งออกยางพาราในจังหวัดตรัง ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ออกแบบลายผ้าทอดอกศรีตรัง และ ลายต้นยางพารา เพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์ของจังหวัดตรัง ทั้ง 2 ลายถือเป็นลายใหม่ ยังไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมผ้าทอชนนาหมื่นศรี เป็นผู้ทอ โดยผู้สนใจในลวดลายทั้งสองสามารถสั่งทอได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมผ้าทอชนนาหมื่นศรี
นางสาวพิมพ์นารา จันทร์ศรี อายุ 30 ปี ผู้บริหารบริษัทพาราไทยส่งออก จำกัด กล่าวว่า แรงบันดาลของการคิดลายผ้าทอนาหมื่นศรี “ลายดอกศรีตรัง” และ “ลายต้นยางพารา” เกิดขึ้นเนื่องจากตนเองทำธุรกิจเกี่ยวกับยาง ทั้งรับซื้อยาง ส่งออกยางพารา รวมทั้งจังหวัดตรัง เป็นเมืองยางพารา และเป็นจุดกำเนิดยางพาราในประเทศไทย จึงอยากนำเสนอเรื่องราวและเอกลักษณ์ของจังหวัดตรังผ่านผืนผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของจังหวัดตรังด้วย ด้วยความตั้งว่าโดยผ้าทอผืนนี้ตนได้ออกแบบลายเป็นช่อดอกศรีตรัง และ ต้นยางพารา เพื่อนำไปตัดชุด เพื่อสวมใส่ในโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้กำหนดการเข้าเฝ้าทั้งสองพระองค์ถูกเลื่อนออกไป ในขณะเดียวกันตนรู้สึกภูมิใจ และ ประทับใจ ฝีมือการทอผ้าของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีเป็นอย่างมาก เพราะตนทราบดีว่าการทอผ้าลายที่ตนคิดขึ้นทั้ง 2 ลาย มีรายละเอียดในลวดลายค่อนข้างมาก คนทอต้องมีความรู้ ความชำนาญ ในการทอจึงสามารถทำได้ เพราะลายทั้งสองเป็นลายใหม่ โดยผ้าทอลายต้นยาง และ ลายดอกศรีตรัง เป็นลายที่ไม่เคยมีที่ไหนทอขึ้นมาก่อน มีที่นี่เป็นที่แรก โดยลายที่ตนคิดออกแบบขึ้น จะมอบให้เป็นลายผ้าของวิสาหกิจชุมผ้าทอนาหมื่นศรี เพราะตนต้องการเผยแพร่ลายผ้าทั้งสองนี้ ให้เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ของผ้าทอเมืองตรัง ซึ่งใครที่สนใจอยากได้ลายทั้งสอง สามารถมาสั่งทอได้ที่นี่
นางสาวพิมพ์นาราฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ตนจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ตนก็เป็นผู้นิยมชื่นชอบในเสน่ห์ของผ้าไทย โดยทุกวันนี้เธอยังสวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส รวมทั้งสวมใส่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งตนได้สั่งซื้อผ้าไทยจากแหล่งทอผ้าทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย รวมไปถึงผ้าปาเตะ มาตัดชุดสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นชุดราตรี ชุดลำลอง และชุดสากล ตามสมัยนิยม โดยรวมๆ แล้วตนมีชุดผ้าไทยที่ตัดไว้สวมใส่นับ 1,000 ชุด นางสาวพิมพ์นารา กล่าว
สำหรับผ้าทอลายดอกศรีตรัง และ ลายต้นยางพารา ซึ่งทอโดยนางสาวรุจิรา แท่นมาก ช่างทอผ้าระดับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าเอกลักษณ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชน จากกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี 2563 โดยนางสาวรุจิรา กล่าวว่า สำหรับการทอผ้าลายดอกศรีตรัง และ ลายต้นยางพารา ถือเป็นเรื่องยาก เพราะทั้งสองลายเป็นลายที่เป็นรูปธรรม เป็นรูปทรงตามแบบธรรมชาติ เมื่อตนได้โจทย์มาต้องนำเอารูปดอกศรีตรัง ต้นยางพารา วางเส้นไหม เส้นด้าย ให้เป็นลายตามแบบ ซึ่งถือเป็นความแตกต่างและท้าทาย เพราะที่ผ่านมาการทอผ้าจะเป็นลายแบบดั้งเดิม เช่น ลายลูกแก้ว ลายช่อลอกอ ลายแก้วกุหลาบ ลายท้ายมังคุด
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
โดยลายต้นยางพารา ต้องใส่รายละเอียดในเนื้อผ้าให้ได้ตามรูปแบบ องค์ประกอบของต้นยางให้ได้มากที่สุด เช่น ต้น ใบ หน้ายาง(รอยการกรีดยาง) จอกรองน้ำยาง รากต้นยาง ซึ่งสีที่เลือกใช้ เน้นสีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน และสีเขียว ส่วนลายดอกศรีตรัง มีลักษณะเป็นช่อดอก จำนวน 3 ดอก วางเรียงกันเต็มผืนผ้า ใช้โทนสีม่วงทั้งผืน และ ได้สอดแทรกลายดั้งเดิมของผ้าทอนาหมื่นศรี คือ ลายท้ายมังคุด และ ลายลูกแก้วฝูง ลงในผืนผ้าด้วย โดยทั้งสองผืนนี้ตนใช้เวลาทอนานเกือบ 2 เดือน จึงออกมาเป็นผ้าทอสวยงามตามความต้องการของลูกค้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: