X

ตรัง ล่องเรือชมความงามและวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำตรังชิมอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น

ตรัง เจ้าของร้านอาหาร ปรับตัวสู้โควิด พาล่องเรือแม่น้ำตรัง – ปากน้ำกันตัง ชมวิถีชีวิตชุมชนริมชายฝั่ง วิถีประมงทะเล สัมผัสรสชาติเมนูเด็ดจากวัตถุดิบในท้องถิ่น กุ้งแม่น้ำ ปลากด ปูดำ และขนมหวานน้ำหวานลูกจาก ลูกจากเชื่อม

ร้านใหญ่เชยซีฟู้ด ม.1 ต.ย่านซื่อ อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายอาหารทะเลและอาหารพื้นบ้านริมแม่น้ำตรัง ที่เปิดให้บริการมาประมาณ 10 ปี ได้ปรับตัวสู้สถานการณ์โควิด และงัดเอาความโดดเด่นของชุมชนมาเป็นจุดขาย เพิ่มบริการพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในช่วงสถานการณ์โควิด ด้วยการเปิดล่องเรือหางยาวขนาด 8 -10 ที่นั่ง และบริการสั่งอาหารไปรับประทานบนเรือ พาล่องเรือชมความงามทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำตรัง ชมวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง วิถีประมงตลอด 2 ฝั่งคลอง ผ่านป่าจากที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำวัยอ่อน ชมวิถีชีวิตการตัดจาก ทำใบจาก เก็บลูกจาก สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้านด้วยอุปกรณ์จับสัตว์น้ำแบบดั้งเดิม อนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ตกกุ้งแม่น้ำ จับกุ้งฝอย เหวี่ยงแหจับปลา และชมบรรยากาศชุมชนสองฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ชุมชนย่านซื่อ จนไปถึงบริเวณปากแม่น้ำ ที่บริเวณเกาะเนรมิต ต.กันตังใต้ อ.กันตัง  ระยะทางไปกลับรวม 14 กม. ใช้เวลาล่องเรือไปกลับรวม 1 ชั่วโมง 45 นาที โดยคิดค่าบริการเหมาเรือต่อครั้ง ราคา 1,199 บาท โดยมีบริการวันละ 3 รอบ ส่วนอาหารและเครื่องดื่มที่สั่งรับประทานบนเรือจะคิดราคาตามจริง และ เป็นราคาเดียวกับราคาอาหารที่จำหน่ายที่ร้าน เริ่มต้นราคาจานละ 60 บาท

ด.ต.นิติธร ผลิผล หรือ ดาบฯโก้ เจ้าของร้านใหญ่เชยซีฟู้ด กล่าวว่า สำหรับอาหารที่ร้านใหญ่ชีฟู้ดเน้นเป็นเมนูเด็ดประจำร้าน ล้วนเป็นอาหารที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งทางร้านจะรับซื้อจากชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง จึงมีเมนูเด็ดนำเสนอหลากหลายเมนู สำหรับคนที่ชอบชื่ออาหารทะเล และอาหารพื้นบ้าน โดยตลอด 2 ข้างทางในการล่องเรือ ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวจะได้อิ่มอร่อยกับอาหารที่รับซื้อจากชาวบ้านในชุมชน เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่ปัจจุบันเจอกับสถานการณ์โควิด สัตว์น้ำที่จับได้ไม่สามารถส่งขายร้านอาหารในตัวเมือง และต่างจังหวัดเหมือนอย่างที่เคยทำ แต่นำมาขายให้กับร้าน จึงได้เมนูเด็ด เช่น แกงส้มปลากดแม่น้ำตรัง กุ้งแม่น้ำตรังซึ่งเป็นกุ้งสองน้ำ หรือน้ำกร่อย โดยชาวบ้านจะนำกุ้ง ปลา ปู เป็นๆมาขายให้ เช่น กุ้งแม่น้ำ มาทำเมนูหลากหลาย และมีรสชาติดี เนื้อเด้ง หวาน หัวกุ้งมีมันเยิ้ม ปูไข่หรือปูดำไข่หลนเต้าเจี้ยว ซึ่งปูที่ใช้เป็นปูดำไข่ ที่ชาวบ้านหาได้จากป่าโกงกาง ปลากะพงทอดน้ำปลาจากเกษตรกรเลี้ยงปลากระชังในพื้นที่ หอยชักตีนลวก ปลาหมึกย่าง จากชุมชนมดตะนอย-หาดยาว และยำใหญ่เชยซึ่งเป็นรวมทะเล โดยเมนูที่ขายดีที่สุดคือ กุ้งแม่น้ำ ปูดำไข่หลนเต้าเจี้ยว ที่ได้ชุมชน ส่วนขนมหวานก็ได้จากชาวบ้านในชุมชน เช่น น้ำหวานลูกจาก ลูกจากเชื่อม

ส่วนการเปิดการท่องเที่ยวทางเรือแม่น้ำตรัง เพราะต้องการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ หรือ นักท่องเที่ยวแบบครอบครัว 4-5 คน มารับประทานแบบส่วนตัว ไม่สัมผัสกับคนอื่น เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โควิด 19 ตลอดเส้นทางการล่องเรือในเวลากลางวัน และช่วงเย็นจนถึงพลบค่ำ จะได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนที่หาดูได้ยาก และแตกต่างกัน เช่น จะได้เห็นภาพชาวบ้านชักชวนกันออกมาตกกุ้ง ตกปลา ทอดแหจับปลา ล่องเรือไปตัดทางจากมาผลิตใบยาสูบ ตัดลูกจาก ตลอดสองฝั่งคลองยังคงเป็นบรรยากาศแบบเดิม ๆ มีป่าชายเลน ป่าจาก สลับกับสวนมะพร้าว เป็นแนวทอดยาวไปตามลำน้ำ ซึ่งยังไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ก่อให้เกิดความไม่สบายตา ไม่มีโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ และเมื่อเรือเข้าใกล้ตัวเมืองกันตัง จะพบท่าเรือประมงพาณิชย์ ท่าเรือส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเก่าแก่ที่อยู่ในแผนที่การเดินเรือของโลก และสักการะกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ส่วนช่วงเย็นจะได้ชมความงดงามของพระอาทิตย์ตกดินมีแสงสีทองกระทบกับผิวน้ำ และแสงไฟระยิบระยับจากเรือประมง บ้านเรือนริมชายฝั่ง ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสวยงาม เหมาะแก่การล่องเรือคือ จะได้ชมภาพบรรยากาศทั้ง 2 แบบ คือ ตั้งแต่เวลา 17.30 – 19.30 น. ลูกค้าที่สนใจสามารถจองที่ โทร 095- 6916696 หรือ สอบถามที่แฟนเพจ เฟซบุ๊ก “ใหญ่เชยซีฟู้ด”

ด้าน นายอาภร ศรีสุวรรณ อายุ 59 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านตำบลย่านซื่อ มีอาชีพประมง ทั้งดักจับกุ้งฝอยสำหรับทำกะปิ ทอดแหจับกุ้งแม่น้ำ ทอดแหจับปลาในแม่น้ำตรัง โดยกุ้งแม่น้ำ ปลากด ปลาตะเพียน หรือปลาแม่น้ำอื่น ๆไปขาย แต่ขณะนี้ติดสถานการณ์โควิด ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆรวมทั้งเคยส่งไปต่างจังหวัด เช่น จังหวัดภูเก็ต ต้องหยุดหมด ส่งไม่ได้ จึงนำขายให้ร้านอาหารใหญ่เชยซีฟู้ด โดยเฉพาะกุ้งแม่น้ำ ปลากด จะขายแต่ตัวเป็น ๆ โดยมีรายได้วันละ 1,000 – 2,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่พอเลี้ยงครอบครัว สำหรับตนมองว่าในแม่น้ำตรังยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน และวิถีชีวิตเดิม ๆ ของชาวบ้าน ยังมีให้เห็นตลอด 2 ฝั่งคลอง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน