X

ตรัง คู่สามีภรรยาโค่นยางทิ้งปลูกหลากหลายพืชผักขายรายได้ดี

ตรัง – โค่นยางทิ้งปลูกพืชหมุนเวียนระยะสั้นผสมผสานขายรายได้ราคาดี ตัดปัญหาไม่ต้องพึ่งแม่ค้าคนกลาง เพราะในช่วงสถานการณ์โควิดรอบที่ผ่านมาต้องทิ้งนับตัน แต่หันมาปลูกเองขายเอง เน้นปลูกพืชหลากหลาย  จึงทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้นมากิโลกรัมละนับ 10 บาท

พาไปดูเกษตรกรรุ่นใหม่ และมีอาชีพค้าขาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกษตรกร และพ่อค้า แม่ค้า ตัวอย่าง ที่ปรับตัวเองได้ตลอด หนีข้อจำกัดไปตามยุคตามแต่สถานการณ์  คือ นางสาวฌัชชญา  นามกร  อายุ 42 ปี และนายธงฉัตร คืนตัก อายุ 40 ปี  สองสามีภรรยา โดยประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง และเป็นพ่อค้า แม่ค้า พืชผลทางการเกษตร ขายขนม และอาหารที่ตัวเองผลิตเองจากพืชผลทางการเกษตรของที่บ้าน โดยนำไปขายเป็นประจำที่ตลาดนัดเกษตรกร และตลาดกรีนชินตา ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง  ซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตรปลอดสารพิษแห่งเดียวของ จ.ตรัง โดยทั้ง 2 คน มีบ้านอยู่ในพื้นที่ หมู่ 7 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง พาไปดูพื้นที่เพาะปลูก เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ที่เดิมเป็นของพี่ชาย ที่ปลูกยางพารา แต่เนื่องจากราคายางพาราขึ้นๆลงๆตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะตกต่ำมากกว่า ทำให้ราคาไม่เสถียร และภาคใต้ตกชุกทำให้ไม่ค่อยจะได้กรีดยาง จึงเปลี่ยนแนวคิดโค่นยางพาราทิ้ง หันมาปลูกพืชไร่แทน  โดยทั้ง 2 คน เล่าว่า พอพี่ชายโค่นยางทิ้ง ตน 2 คน ก็เข้ามาปลูกพืช

โดยรุ่นแรกปลูกเฉพาะแตงโมงเต็มพื้นที่ เพื่อส่งขายแม่ค้าคนกลาง  แต่ปรากฏว่าได้บทเรียน พอผลผลิตออกมา เข้าสู่ช่วงการระบาดของเชื้อโควิด -19 ทำให้แม่ค้าไม่กล้าเดินทางมาเข้ารับซื้อ และตลาดนัดต่างๆ หลายแห่งก็ปิด คนก็น้อย ทำให้ตนเองต้องขนผลผลิตทั้งหมดไปขายเองที่ตลาดเกษตร และตลาดกรีนชินตา ที่ตนเองขายของอยู่แล้วด้วยตนเอง ปรากฎว่าผลผลิตออกมากขายไม่ทัน เน่าเสียไปจำนวนมาก มีรายได้เพียงแค่ประมาณ 30,000 บาทเท่านั้น  หลังจากนั้น มาถึงรุ่นที่ 2 จึงเปลี่ยนแนวคิดใหม่ หันมาปลูกพืชไร่ระยะสั้นเหมือนเดิม แต่ใช้วิธีการปลูกเน้นความหลากหลายของพืช เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในระยะเวลาที่ต่างกัน และเน้นปลูกเอง ขายเอง ทั้งคนในพื้นที่ที่รู้ก็เดินทางมาซื้อที่บ้าน ขายที่นัดตลาด และขายออนไลน์ทางเฟสบุ๊กส่วนตัว ประกอบด้วย แตงไทยหลายชนิด แตงโม และฟักทอง 3 สายพันธุ์ คือ ฟักทองไทย ฟักทองญี่ปุ่น และฟักทองบัตเตอร์นัท  ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ทำให้ได้ผลผลิตทยอยออกขายไม่พร้อมกัน และเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ใช้สารเคมีใดๆในการกำจัดแมลง ใช้วิธีปลูกแบบธรรมชาติ และใช้วิธีดักจับแมลงด้วยการป้ายยาในแผ่นพลาสติกแล้วนำปักไว้ตามจุดต่างๆ ปรากฏว่าได้ผล และเพราะความหลากหลายของพืชด้วย  ทำให้แมลงเข้ามากัดกินไม่ทัน ความเสียหายจึงแทบไม่มี  โดยที่ดินเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่

ขณะนี้ปลูกพืชไร่ระยะสั้นหลากหลายชนิด ซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน  เพื่อตัดปัญหาไม่ต้องพึ่งแม่ค้าคนกลาง แต่เน้นนำไปขายเองได้ราคาปลีกทั้งหมด  โดยผลผลิตที่ออกมาก็ดกทุกต้น คาดว่าเฉพาะฟักทองตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะได้ประมาณ  3 ตัน เน้นขายปลีกจะได้กิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งถ้าขายแม่ค้าคนกลางราคาจะได้ไม่ถึง อาจได้แค่กิโลกรัมละ 15 บาทอย่างแน่นอน  แต่พอเน้นขายเองทั้งหมด ทยอยขายเรื่อยๆ จะได้กิโลกรัมละอย่างต่ำ 25 บาท ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท   ส่วนราคาก็ดีมาก เช่น ฟักทองญี่ปุ่น ขายกิโลกรัมละ 50 – 60 บาท  ฟักทองไทย ราคากิโลกรัมละ 25 บาท  ฟักทองบัตเตอร์นัท ราคา 60 บาท  ส่วนแตงไทยก็มีหลายสายพันธุ์  เช่น แตงไทยกลมสีทอง  แตงไทยลูกรีสีทอง สีเหลือง  แตงไทยลูกรีสีขาว  และแตงโม ทั้งนี้ แตงไทย และแตงโม จะขายราคาเดียวกัน กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ทุกชนิดถือว่าเมื่อปลูกเอง ขายเองจะได้ราคาดี

ขณะที่ฟักทองญี่ปุ่น และฟักทองบัตเตอร์นัท ถือว่าเป็นการเปิดตลาดใหม่ของตนเองเป็นเจ้าแรก ซึ่งพบว่าลูกค้าอยากลองของแปลกใหม่ เมื่อเปิดตัวโดยการเก็บผลผลิตออกขาย ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ลูกค้าที่มาซื้อ เป็นลูกค้ากลุ่มรักสุขภาพ  ทั้งนี้  แตงไทย เนื้อจะหอมมาก เช่นเดียวกับฟักทองลูกเล็ก น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมเศษ ถือว่าผลไม่ใหญ่ เนื้อเนียน แน่น น้ำหนักดี จะทำขนม ทำอาหาร หรือทานสด หรือนำไปหั่นชิ้น เพื่อนึ่ง หรือปั่น เป็นเมนูสุขภาพก็อร่อย  ถ้าเป็นฟักทองบัตเตอร์นัท เนื้อจะมัน เนื้อแน่น ไม่หวานมาก จะอร่อยกว่าฟักทองไทย  ส่วนแตงไทยกลมสีทอง ข้างนอกเป็นสีเขียวแซมทอง ส่วนเนื้อในจะเป็นสีเหลือง รับประทานสดได้เหมือนผลเมล่อน หวาน หอม อร่อย เช่นเดียวกับแตงไทยลูกรี เนื้อก็จะหอม

นางสาวฌัชชญา  และนายธงฉัตร  กล่าวอีกว่า  เนื้อที่ 4 ไร่นี้ ส่วนตัวก็แบ่งให้ชาวบ้านประมาณ 3 ราย ที่ไม่มีที่ดินของตนเองมาปลูกด้วย แต่ตนเองจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งกำหนดว่าแต่ละคนจะปลูกอะไร เพื่อจะได้ผลผลิตมาเสริมกัน จากนั้นเมื่อขายได้ก็มาแบ่งกัน และยืนยันว่าตัดสินใจถูกที่โค่นยางแล้วมาปลูกพืชไร่ระยะสั้นแบบหลากหลายชนิดแทน เพราะรายได้ดีกว่ายางพารามาก ไม่ต้องง้อราคา และไม่ต้องง้อฝน และในยุคสถานการณ์โควิดนี้ การปลูกอาหารเป็นสิ่งที่ต้องการของตลาดมากกว่าอย่างอื่น  และเมื่อหมดพืชรุ่นนี้ อาจหมุนเวียนไปปลูกถั่วฝักยาว มะเขือ แตงกวา หรืออื่นๆอีก แล้วค่อยหมุนมาปลูกฟักทองใหม่

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน