ตรัง รมช.มนัญญา ลงพื้นที่จังหวัดตรัง พบปะพี่น้องเกษตรกรส่งมอบต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 สู่เกษตรกรนำไปเพาะปลูกสร้างรายได้ เผยสะตอตรัง 1 เป็นที่ต้องการของเกษตรกร จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่สำหรับแปลงเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง พร้อมสนับสนุนจัดหางบประมาณเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการเพาะขยายพันธุ์ อย่างไรก็ตามอยากให้สะตอพันธุ์ตรัง 1 เป็นพืชประจำถิ่นของภาคใต้เป็นหลัก สำหรับจังหวัดตรังมีพันธุ์พืชที่เป็นเอกลักษณ์ได้แก่ พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนและแตงโมเกาะสุกร ซึ่งได้ยื่นขอรับรอง GI แล้ว ทั้งนี้การขอรับรอง GI และ GMP ในปัจจุบันไม่ได้เป็นการยุ่งยาก และเป็นการทำงานอย่างบูรณาการเพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดเตรียมเอกสารยื่นเรื่องได้ง่ายขึ้น
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2564) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดตรัง ตรวจราชการติดตามงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีส่งมอบต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ และเยี่ยมชมแปลงเพาะพันธุ์สะตอตรัง 1 พร้อมทั้งชมบูธแสดงผลิตภัณฑ์ ผลผลิตทางการเกษตรของสหกรณ์ กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์ และพบปะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
จากนั้นชมอ่างเก็บน้ำสถานที่ท่องเที่ยวศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 60,000 ตัว
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ให้กับผู้แทนสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งมอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP และเกษตรอินทรีย์ พร้อมกล่าวว่า โครงการกระจายพืชพันธุ์ดีสะตอตรัง 1 สู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนพืช ด้วยการขยายการผลิตต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ไปยังสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพันธุ์พืชที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งการใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพราะนอกจากจะให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี ตรงตามความต้องการของตลาดแล้วนั้น ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของภาคเกษตร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทย รวมถึงสร้างความความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน
กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยพันธุ์สะตอ ตั้งแต่ปี 2540 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรภายใต้ชื่อ “สะตอตรัง 1” ในปี 2560 ด้วยลักษณะประจำพันธุ์ของสะตอพันธุ์ตรัง 1 ที่มีความโดดเด่นด้านผลผลิตและคุณภาพ ทำให้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ตรัง จัดทำโครงการกระจายพืชพันธุ์ดีสะตอตรัง 1 สู่กลุ่มผู้ใช่ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพืช ด้วยการขยายการผลิตต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ไปยังสมาชิกสหกรณ์การเกษตร จำนวน 6 สหกรณ์ และกลุ่มผลิตสะตอช่อ จำนวน 1 กลุ่ม มีสมาชิกรวมทั้งหมด 60 ราย เนื่องจากในปัจจุบันสะตอจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและเป็นที่นิยมบริโภคทั่วไปในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ความต้องการบริโภคสะตอของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น มีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสนใจปลูกสะตออย่างแพร่หลายเกือบทุกภาคของประเทศอีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จับแล้วมือค้อนทุบหัวฆ่าโหดพ่อค้าปลาสวยงาม กลางงานลอยกระทงกันตัง ทิ้งศพกลางงาน หลักฐานชัด จุดทิ้งมือถือ-โผล่กดเงินสดผู้ตาย
- ตรัง ร้านอาหารผวา!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วน อ้างสั่งอาหารหรู "พระกระโดดกำแพง" หลอกร้านดังเกือบเสียเงินแสน
- "ประเสริฐ รักไทย” ประกาศชน “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” สู้ศึกชิงเก้าอี้ อบจ.ตรัง
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรในพื้นที่จังหวัดตรัง เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดตรัง มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จำนวน 27 ราย และสหกรณ์การเกษตรสมัครเข้าร่วมโครงการ 10 สหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง ได้จัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ อบรมการจัดทำแผนการผลิต เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ การจัดทำแผนด้านการเกษตร การปลูกพืชผสมผสาน ศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ประสบความสำเร็จจากการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และพร้อมที่จะต่อยอดนำไปดำเนินการยังพื้นที่ของตนเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: