X

ตรัง เครือข่ายฯเกษตรกรยางพารา ตบเท้าเข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯ เรียกร้องใช้ยางในปท.

ตรัง เครือข่ายสถาบันเกษตรกรตบเท้าเข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯ ให้เร่งแก้ปัญหานโนบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ และ เรียกร้องให้ออกกฎหมายบังคับการใช้ยางในปท. เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ

วันที่ 16 พ.ย. 64 ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จ.ตรัง  เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน นำโดยนายประทบ  สุขสนาน  รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายมนัส หมวดเมือง  ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง และตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง  และ นายถนอมเกียรติ  ยิ่งฉ้วน  ที่ปรึกษาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง  และสมาชิกนำป้ายไวนิลขอบคุณนายกประยุทธ ระบุข้อความ “ชาวสวนยางขอขอบคุณท่านนายกฯที่มีโครงการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ” และ “เราต้องการบังคับใช้กฎหมายใช้ยางผสมทำถนนไม่น้อยกว่า 5%” ทั้งนี้ได้นำหมอนยางพาราหนองครก มามอบให้นายกรัฐมนตรีด้วย

โดยเครือข่ายได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ เพื่อเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหากรณี นโยบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐของรัฐบาล  เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร พัฒนาสถาบันเกษตรกร  เพื่อใช้ในการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน  ทั้งการใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต  (Rubber FenderBarrier : RFB)  และเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) โดยกระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลัก   โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ผูกพันถึงปีงบประมาณ  2565  ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราจากร้านสหกรณ์โดยตรง

ปรากฎว่ามีชุมนุมสหกรณ์  สหกรณ์  กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน จำนวน 18 กลุ่ม ที่ร่วมผลิตผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยทางถนนจากยางพาราดังกล่าว  มีสมาชิกกว่า  10,000  คน จำนวนกว่า  2 ล้านครัวเรือน  ปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมจัดซื้อตามบันทึกข้อตกลงในปีงบประมาณ 2564  โดยการจัดซื้อ RFB ประมาณ 176 กิโลเมตร และ RGP ประมาณ  322,000 ต้น มูลค่ารวมไม่กว่า 1,200  ล้านบาท  ซึ่งจากการทำสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า  11,000  ตัน และช่วยให้ราคายางพารา  มีแนวโน้มที่สูงขึ้น  ทั้งนี้ หากในปีงบประมาณ 2565  กระทรวงคมนาคม ดำเนินการแผนงานก่อสร้าง RFB และ RGP ตามที่เสนอคณะรัฐมนตรี จะมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า  184,000  ตัน  และราคายางพาราจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงคมนาคม ไม่ดำเนินโครงการต่อ  จะส่งผลกระทบต่อราคายางพารา และยังส่งผลต่อสถาบันเกษตรกรที่เป็นองค์กรของเกษตรกรเกิดความเสียหาย เนื่องจากได้รับสัญญาเป็นผู้ผลิต RFB และ RGP โดยมีการลงทุนในเครื่องจักรต่างๆ เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดไปแล้ว  แต่ดำเนินการได้เพียง 1 ปี   การดำเนินการยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน สร้างความเสียหายต่อสถาบันเกษตรกรมูลค่าประมาณ 13 ล้านบาท   จึงยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ

1. ขอให้หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม นำงบประมาณของกระทรวงคมนาคม ที่เหลือในปีงบประมาณ  2565  ประมาณ 5 – 6  พันล้านบาท มาใช้เป็นงบผูกพันในโครงการนี้ต่อไป ในระยะ 3 – 5 ปี
2. ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เพิ่มการใช้ยางในประเทศ “ใช้ยางพาราผสมบนถนนไม่น้อยกว่า 5 % ”  ตามที่ทางรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดเป้าหมาย 35 % ของผลผลิตยางในประเทศ นำมาใช้ หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้ตามเป้าหมาย  เพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว ยกระดับรายได้แก่เกษตรกรเชิงถาวรต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน