ตรัง วิถีชีวิตของเด็กๆชาวชุมชนป่าชายเลนบ้านทุ่งตะเซะ ลุ่มน้ำปะเหลียน อ.ย่านตาขาว ใช้เวลาว่างออกหาหอยขายทั้ง หอยเข็ม หอยปากแดง หอยกัน และหอยปะ ที่มีอย่างชุกชุมในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนแหล่งอาหารของชาวบ้านลุ่มน้ำปะเหลียน
ที่บริเวณป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ ลุ่มน้ำปะเหลียน ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนป่าชายเลนผืนใหญ่ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญของลุ่มน้ำสายนี้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการปลูกป่าชายเลน เพื่อขยายพื้นที่ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้มีน้ำเสียไหลลงสู่ลำคลอง จึงทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำชายฝั่ง ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา โดยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งจำนวนมากประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้าน ได้อาศัยผืนป่าชายเลนดังกล่าวเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ ในการออกจับสัตว์น้ำมาจำหน่าย และนำมารับประทาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งนี้ พบว่าวิถีชีวิตของเด็กๆ ในชุมชน พร้อมด้วยครอบครัว ผูกพันกับผืนป่าชายเลนมาก จึงมักจับกลุ่มออกไปหาหอย วางอวนดักจับปูดำ โดยเฉพาะหอย ซึ่งมีหลายชนิด โดยสามารถออกหาหอยในบริเวณป่าชายเลนหรือป่าโกงกางในหมู่บ้าน ไม่ต้องนั่งเรือออกไปไกล โดยสามารถหาได้ทั้งในช่วงที่น้ำทะเลขึ้น และช่วงที่น้ำทะเลลง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด เด็กๆ จะไม่ได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน หรือไปเที่ยวเตร่กับเพื่อนๆ แต่จะอยู่แต่เฉพาะภายในบ้านของตนเองและญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น และมักใช้เวลาว่างตามวิถีชีวิตชุมชน
โดยในวันนี้ ด.ช จตุพร สาเหล่า อายุ 8 ปี (เสื้อยืดสีส้ม) ด.ช.อนุชิต พรมโสภา อายุ 9 ปี (เสื้อยืดสีน้ำเงิน) พร้อมด้วยเพื่อนๆ และ แม่ ป้า ยาย ใช้เวลาว่างจากการเรียนออนไลน์ในช่วงวันหยุด พาผู้สื่อข่าวออกไปดูวิธีการหาหอยที่มีอย่างชุกชุมในพื้นที่ โดยใช้อุปกรณ์อย่างง่ายที่หาได้จากบ้าน เช่น ถุงตาข่าย ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติกใสตัดครึ่ง รวมทั้งผ้าขาวม้า ที่สามารถใส่หอยได้ ทั้งนี้ พบว่าเป็นช่วงที่น้ำทะเลลง และกำลังจะขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยสวมรองเท้ายางหุ้มข้อ และเด็กๆ บางคนก็เดินเท้าเปล่าด้วยความชำนาญ เข้าไปในป่าโกงกาง หรือป่าชายเลนที่มีดินโคลน เพื่อหาหอย ทั้งหอยเข็ม หอยปากแดง หรือหอยตาแดง หอยกัน และหอยปะ โดยพบว่า หอยบางส่วนไต่หนีน้ำขึ้นมาเกาะตามต้นไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ บางส่วนอย่างเช่น หอยปากแดง กำลังรีบขึ้นมาจากรูชั้นใต้ดิน เพื่อหนีน้ำที่กำลังขึ้นจากชั้นใต้ดิน โดยบางส่วนได้ขึ้นเกาะตามต้นไม้ ทำให้เด็กๆรีบเก็บใส่ถุง โดยระบุว่าจะเอาไปให้แม่ทำอาหาร และขายด้วย โดยเฉพาะหอยปากแดง เด็กๆ ขายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 70 -80 บาท แต่ราคาขายที่พ่อค้าแม่ค้ารับไปขายต่อแล้วสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ทำให้มีรายได้เป็นค่าขนม และลดรายจ่ายในครัวเรือน ส่วนหอยกัน จะฝังตัวในดินไม่ลึกมาก ชาวบ้านต้องใช้มีดสางไปตามพื้นดิน เพื่อให้กระทบกับเปลือกหอย ก็จะพบและเก็บได้ โดยทั้งเด็กๆ และชาวบ้านจะเลือกเก็บเฉพาะหอยตัวใหญ่ที่ได้ขนาดเท่านั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์หอยทุกชนิด
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
นอกจากนั้น ชาวบ้านชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ ลุ่มน้ำปะเหลียน ยังได้มีการกันพื้นที่บางส่วน และขึ้นป้ายประกาศ” ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์หอยปะ บ้านทุ่งตะเซะ” หมู่ 9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว เพื่อร่วมกันอนุรักษ์หอยปะ โดยข้อตกลงของชุมชนจะไม่เก็บหอยตัวเล็ก หรือหอยที่ยังไม่ได้ขนาดอย่างเด็ดขาด เพื่ออนุรักษาหอยทุกชนิด ขณะเดียวกันยังช่วยกันสอดส่องไม่ให้ชาวบ้านจากต่างพื้นที่เข้าไปเก็บหอยตัวเล็กๆ อีกด้วย นอกจากนั้นในบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ ลุ่มน้ำปะเหลียน ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว ยังเป็นแหล่งจับปูดำตามธรรมชาติแหล่งใหญ่ด้วย ซี่งทั้งหมดเป็นผลจากการที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง ทำให้สัตว์น้ำในพื้นที่จึงมีอยู่อย่างชุกชุมให้เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม สำหรับหอยทุกชนิด สามารถทำเมนูอาหารได้หลายอย่าง ทั้ง ผัด ลวกจิ้ม อบซีอิ้วขาว นึ่ง แกงเผ็ด แกงกะทิใบชะพลู ต้มกะทิ แกงเลียง เป็นต้น ซึ่งบางอย่างเป็นเมนูพื้นบ้านรสเด็ดที่ทุกคนชื่นชอบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: