ตรัง – ชาวบ้านเกาะสุกร รวมตัวเรียกร้องปปช.ลงพื้นที่ตรวจสอบการติดตั้งโคมไฟถนนโซลาเซล ทั้ง 19 สายทาง จำนวน 142 ต้น งบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกาะสุกร หลังพบว่าการก่อสร้างไม่ตรงตามสเป็กสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง หวั่นเกิดการทุจริตเกิดขึ้น ทำรัฐเสียหาย
ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบจุดก่อสร้างระบบไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนด้วยระบบโซล่าเซล หรือชื่อโครงการ “ ขยายเขตไฟฟ้า เติมเสาไฟฟ้า ดวงไฟภายชุมชนเกาะสุกร โดยการติดตั้งโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์” ด้วยงบอุดหนุนตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำเนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 9.9 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกาะสุกร รวม 19 สายทาง ครอบคลุมทั้ง 4 หมู่บ้าน ตั้งแต่ถนนสายจุดชมวิวเกาะสุกร – ถนนเลียบหาดแตงโม รวมจำนวน 142 ต้น ที่มีการลงนามโดยนางราตรี จิตรหลัง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564
วันเริ่มสัญญา 26 เมษายน 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 24 สิงหาคม 2564 โดยมีการขยายสัญญารวมแล้วจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้การติดตั้งยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ยังไม่มีการส่งมอบงาน ทั้งนี้ โครงการติดตั้งโคมไฟถนนดังกล่าว เป็นไปตามรายการบัญชีนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จัดสรรงบประมาณให้อบต.เกาะสุกร ติดตั้งโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในลักษณะแบบประกอบในชุดเดียกัน ขนาด 30 วัตต์ มูลค่า 9,940,000 ล้านบาท แต่ในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระบุงบประมาณ จำนวน 9,918,900 บาท
โดยชาวบ้านได้ตั้งข้อสังเกตว่า แต่เมื่อมีการติดตั้งแล้วพบว่า เสาไฟดังกล่าวมีความผิดปกติ ได้แก่ มีขนาดไม่ตรงสเป็ก ไม่ได้เป็นแบบประกอบในชุดเดียวกัน ขนาด 30 วัตต์ อีกทั้งขนาดและความสูง หลอดไฟไม่ได้มาตรฐาน เสาบางต้นหลังมีการทดลองเปิดพบว่า ระยะเวลาการส่องสว่างเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็หมดพลังงาน ดับลง รวมทั้งระยะห่างของการติดตั้งเสาไฟดังกล่าวบางจุดมีระยะห่างกันแค่ 50 เมตร บางจุดห่างกัน 80 -100 เมตร รวมทั้งราคาระบบโคมไฟถนนพลังแสงอาทิตย์มีราคาสูงถึงต้นละ 65,000 – 70,000 บาท ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อการติดตั้งออกมาไม่ตรงกับสเป็กการจัดซื้อจัดจ้าง อดีตนายก อบต.ผู้ซึ่งลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอปะเหลียน ขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการ เพื่อให้เป็นไปตามที่ อบต.กำหนด เพื่อความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ตำบลเกาะสุกร โดยนายอำเภอปะเหลียนได้ทำหนังสือถึงนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อให้พิจารณา ท้ายที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้มีหนังสือตอบกลับอบต.เกาะสุกรว่า การขออนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง ( นายก อบต.) ได้มีการลงนามในหนังสือสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยไปแล้ว ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 161 และ 165 เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ จึงขอให้ อบต.เกาะสุกรพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- WDC เสริมกำลังตลาดภาคใต้ ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ขยายโชว์รูมแห่งที่ 9 จ.สุราษฎร์ธานี ลุยสินค้ารักษ์โลก พร้อมเปิดตัว Friends of Brand ปี 2568
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- รองผู้ว่าฯปราจีนบุรี ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาช้างป่ารุกพื้นที่ชุมชน
นายจำเริญ อนันต์พฤทธ์ อายุ 52 ปี (เสื้อลายสก๊อต) ชาวบ้านเกาะสุกร กล่าวว่า ชาวบ้านอยากให้ปปช.ส่วนกลาง เข้ามาตรวจสอบโครงการดังกล่าว เกี่ยวกับที่มาที่ไป และเหตุผลของการต่อสัญญาโครงการถึง 3 ครั้ง ซึ่งโครงการนี้ในตำบลอื่นๆที่ได้ทำพร้อมกันดำเนินแล้วเสร็จ มีการส่งมอบงานและเปิดใช้งานได้ตามปกติ เช่น ที่ อบต.แหลมสอม อ.ปะเหลียน ซึ่งชาวบ้านมองว่าเกาะสุกรควรจะได้ของดี แต่ปรากฏว่าเสาไฟฟ้าส่องสว่างที่ได้มาติดบ้างดับบ้าง กลางดึกก็ดับไม่ได้สว่างนานถึงตอนเช้า ซึ่งตามสเป๊กต้องส่องสว่างได้ 5 คืนติดต่อกัน ชาวบ้านเองก็อยากได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการ โดยราคาต่อเสา 65,000-70,000 บาท จำนวน 142 ต้น กระจายครอบคลุมทั้ง 4 หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสงสัยถึงเรื่องดังกล่าวและอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ และจริง ๆ แล้วเริ่มสัญญาโครงการนี้ได้ลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 64 และได้ขยายสัญญามาแล้วถึง 3 ครั้ง และโดยครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยพวกตนไม่ทราบเหตุผลในการขยายโครงการ
ด้านนายบุญนำ อมรศิริปัญญา (เสื้อสีเขียว) อายุ 53 ปี กล่าวว่า ตนประเมินว่าระบบโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว ไม่น่าจะมีราคาสูงถึงต้นละ 65,000 บาท โดยราคาถ้าเป็นบนบกน่าจะอยู่ที่ต้นละประมาณ 15,000 บาท แต่เมื่อนำมาสร้างบนเกาะค่าขนส่งวัสดุก่อสร้างจะสูงกว่าบนฝั่งประมาณต้นละ 5,000 บาท เชื่อว่าราคาจริงน่าจะตกที่ต้นละประมาณ 25,000 บาทเท่านั้น ขณะที่เหล็กที่นำมาทำเสา รวมทั้งน็อตที่ยึดติดกับพื้นปู ไม่ใช่เป็นแบบฐานรากแบบสกรูติดตั้งสำเร็จรูป แต่ใช้น็อตขัน เชื่อว่าจะไม่ทนทานน้ำทะเล หากถูกน้ำทะเลท่วมถึงก็จะสึกกร่อนและพังเสียหายได้แน่นอน โดยราคาที่ปรากฏในสัญญาถือว่าสูงเกินไป จึงอยากให้หน่วยงานมาตรวจสอบโดยส่วน เชื่อว่าเกิดความไม่ชอบมาพากลในการติดตั้งดังกล่าวแน่นอน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ เชื่อจะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: