ตรัง กยท.ร่วมกับสถาบันเกษตรกร วิทยาลัยเทคนิคตรัง ส่งมอบสุดยอดนวัตกรรมกรวยยางพารา ให้กับ 28 หน่วยภาครัฐ ในจังหวัด จำนวน 520 กรวย เตรียมขอรับรองมาตรฐาน มอก.และ สมอ. เพื่อต่อยอดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ จุดเด่นของกรวยยางพารา ยืดหยุ่นได้ดี ทนแรงกระแทก เหยียบไม่แตก ไม่บุบ ไม่ยุบ
ที่อาคารเก็บยางพารา (โกดัง 2) สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด สาขาทุ่งค่าย หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีรับมอบกรวยจราจรยางพารา โครงการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ จำนวน 520 อัน โดยมอบให้หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดตรัง รวม 28 หน่วยงาน
สำหรับกวยยางพารา ดังกล่าว มีลักษณะเด่น คือ ยืดหยุ่นได้ดี ทนแรงกระแทก เหยียบไม่แตก คงรูป ไม่บุบ ไม่ยุบ
สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ที่สำคัญของประเทศไทย ทำให้เกิดความผันผวนด้านราคา มีผลโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้สาเหตุของราคายางตกต่ำในบางช่วงเป็นผลจากการใช้ยางพาราในประเทศมีปริมาณน้อย เกษตรกรชาวสวนยางมุ่งเน้นแต่การจำหน่ายวัตถุดิบ ในรูปแบบน้ำยางสด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำยังมีน้อย เช่น โรงงานผลิตยางแท่ง โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน และโรงงานผลิตน้ำยางข้น
การยางแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านยางพาราครบวงจร ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินกิจกรรมด้านยางพารา เพื่อสมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน
โดยมีวิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นสถาบันการศึกษาซึ่งมีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะ ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรในการแปรรูปยางพารา เพิ่มมูลค่า โดยมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ สร้างแรงจูงใจให้สถาบันเกษตรกรแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย เป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางเนื่องจากการเก็บยางพาราในรูปแบบผลิตภัณฑ์ มีระยะเวลาในการจัดเก็บที่นานกว่า รวมทั้งเป็นการบูรณาการระหว่างสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่มีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา ประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทย ด้านการส่งเสริมการใช้ยางในรูปแบบต่าง ๆ
นายภิรมย์ หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง กล่าวว่า เรื่องดี ๆ เช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยในจังหวัดตรังเพิ่งเกิดเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดจากความร่วมมือของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร รวมทั้งภาคการศึกษา คือ วิทยาลัยเทคนิคตรัง ซึ่งมีความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยทาง กยท.ได้หารือกับอาจารย์สุรศักดิ์ เทพทองเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าจากยางพารา ให้มีมูลค่าเพิ่ม และได้หาช่องทางหางบประมาณ โดย กยท.เขตภาคใต้ตอนกลางได้ให้งบประมาณมาดำเนินการ อย่างไรก็ตามสำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นตนขอขอบคุณวิทยาลัยเทคนิคตรัง และนักศึกษา วิทยาลัยตรังที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้น ใช้งานได้จริง และตนยังหวังไปในระยะยาวจะนำไปสู่การทดสอบมาตรฐาน มีมาตรฐาน มอก.รองรับ และทำเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ต่อไป
ซึ่งวันนี้ได้ทำกรวยยางพารา 520 กรวย มอบให้หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 28 หน่วยงาน และเชื่อว่าหน่วยงานที่ได้รับกรวยไปใช้ จะมีเสียงสะท้อนกลับมาว่ากรวยยางนั้น มีลักษณะเด่น ลักษณะด้อยอย่างไร มีความคงทน คุ้มค่าหรือไม่
ด้าน นายสุรศักดิ์ เทพทอง ครูเชี่ยวชาญ แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ผลิตกรวยยางกว่า 500 กรวย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีกรวยเสียเกิดขึ้นในกระบวนการไม่ถึง 10 กรวย ซึ่งถือว่าน้อยมาก ฉะนั้นกรวยยางที่ผลิตได้จึงเป็นกรวยเกรด A โดยคิดว่าเมื่อมีการผลิตเชิงพาณิชย์จริง ๆ มีการออกแบบกระบวนการผลิตที่ชัดเจน เชื่อว่าจะผลิตได้ดีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีการสูญเสีย โดยสูตรการวิจัยที่นำมาผลิตในขณะนี้ถือเป็นงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคตรังได้ส่งไปทดสอบที่ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งผลการทดสอบค่อนข้างดี และหลังจากนี้ทางวิทยาลัยเทคนิคตรัง จะดำเนินการขอรับมาตรฐาน มอก. และส่งผลต่อไปยัง สมอ.เพื่อประกอบการพิจารณาการขอออกมาตรฐาน มอก.ให้กรวยยางพารา
ส่วนทางด้านนายณรงศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า กยท.ให้การสนับสนุนโครงการลักษณะอย่างนี้ โดย กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ซึ่ง กยท.เขตภาคใต้ตอนกลาง ได้รับงบประมาณแล้วส่งต่อให้กับ กยท.ตรัง เพื่อดำเนินโครงการเชิงพาณิชย์ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดีตอบโจทย์สังคม เป็นการบูรณาการร่วมกันของหลายภาคส่วน โดยตนขอขอบคุณจังหวัดตรัง วิยาลัยเทคนิคตรัง และสถาบันเกษตรกร ที่ร่วมกันทำโครงการนี้ ตนเชื่อว่าเป็นโครงการที่น่าจะประสบความสำเร็จ หลังจากนี้จะเป็นกระบวนการประมวลผลติดตามผลิตภัณฑ์นี้ตอบโจทย์สังคม หรือ สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ขนาดไหน
สำหรับกรวยยางพาราถือว่าผลิตได้จากจังหวัดตรัง เป็นที่แรกของประเทศไทย หลังจากนี้น่าจะใช้เวลาประเมินผลไม่เกิน 6 เดือน และสามารถสรุปผลได้ หากผลได้เป็นบวก ตรงกับความต้องการของตลาดจะขยายผลต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: