ตรัง-“พิพัฒน์” ควง “นาที” ชม “ผ้าทอนาหมื่นศรี” นั่งรถรางชมวิถีนา ลิ้มเมนูพื้นถิ่น ออกปากชม ชุมชนเข้มแข็งอนุรักษ์สืบทอดมรดกบรรพชน สั่งทอผ้าลายโบราณตัดเสื้อใส่ประชุมครม. ด้าน “นาที” ระบุ พร้อมส่งเสริมต่อยอดด้านการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) อดีตส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นกลุ่มผ้าทอพื้นเมืองโบราณ ของตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง มีสมาชิกกว่า 200 คน โดยชาวหมู่บ้านนาหมื่นศรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร โดยเฉพาะทำนาและสวนยางพารา แต่มีวิถีชีวิตผูกพันกับผ้าทอมือมาหลายชั่วอายุคน ถือเป็นแหล่งชุมชนหัตกรรมผ้าทอโบราณระดับประเทศอีกแห่งหนึ่ง ที่มีกรรมวิธีการทอ เอกลักษณ์ และลวดลายเฉพาะของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะทอผ้าเพื่อใช้กันเองภายในครัวเรือนแล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออกไปจำหน่ายในหลายพื้นที่ ถือว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าทอมือโบราณ ที่สะท้อนวิถีนาควบคู่ไปกับวิถีผ้า และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตรัง
นอกจากนี้ยังมีภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม อาทิ พระครูภัทรธรรมาภรณ์ (อาจารย์สมภพ) เจ้าอาวาสวัดเขาเหล็ก อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานตรัง ตำรวจท่องเที่ยว อบต.นาหมื่นศรี กำนันตำบลนาหมื่นศรี ผู้นำชุมชน ผู้แทนธกส.ตรัง ผู้แทนกลุ่มเซ็นทรัลฯ เป็นต้น . ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเยี่ยมชม ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 การละทะเบียนจุดคัดกรองโดยเครือข่ายอสม.อำเภอนาโยง โดยนางสาวอารอบ เรืองสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ได้มอบผ้าฝ้ายทอมือลายแก้วชิงดวงซึ่งเป็นลายโบราณมงคล และเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรีแก่นายพิพัฒน์ และมอบผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติลายโบราณลายครุฑกับนกการเวกแก่ดร.นาที
โดยนายพิพัฒน์ได้ชื่นชอบและสนใจผ้าทอลายตุ๊กตาและสั่งให้ทอขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อจะนำไปตัดเสื้อใส่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีกด้วย โดยทั้งนายพิพัฒน์ และ ดร.นาที ให้ความสนใจสอบถามประวัติ เรื่องราว กรรมวิธีการทอผ้าอย่างสนใจ พร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลฯสนับสนุนจัดสร้างเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมประวัติผ้า ตัวอย่างผ้า ตำนานเรื่องราวต่างๆ โดยมีเด็กๆลูกหลานชาวนาหมื่นศรีทำหน้าที่เป็นมักคุเทศน์นำชม เยี่ยมชมสินค้าที่ระลึก ก่อนจะนั่งรถรางของอบต.นาหมื่นศรีไปยังพรุลำเพ็ง ซึ่งเป็นป่าพรุเก่าแก่ของ ตำบลนาหมื่นศรี ซึ่งมีต้นลำเพ็งขึ้นอยู่จำนวนมาก และมีบึงน้ำขนาดใหญ่เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในอนาคต ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะให้บริการแก่คนในชุมชน ใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้ประชุมของทางราชการต่างๆ มีทวดพรุลำเพ็งไว้สำหรับสักการบูชาอีกด้วย โดยนายพิพัฒน์ และ ดร.นาที ได้เยี่ยมชมสวนพริกไทย ให้อาหารปลา และพบปะประชาชนในพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- ช่างไฟเสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อตขณะซ่อมพัดลมเพดานในร้านอะโกโก้ พัทยา
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
จากนั้นเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่ “ทุ่งทอรัก” หรือ “ศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตรหัตถกรรมผ้าทอนาหมื่นศรี” เมนูพื้นเมืองนาหมื่นศรี อาทิ แกงขี้มิ่น (แกงขมิ้น) ปลาเต้าเจี้ยว ต้มกะทิยอดเม่า ผักเหรียงผัดไข่ เกายุก และข้าวสวยพื้นเมืองตรังพันธุ์เบายอดม่วง ทั้งนี้ “ทุ่งทอรัก” เป็นอีกการดำเนินงานต่อยอดของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชน บนเนื้อที่ 8 ไร่ ใกล้เขาช้างหายซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบล ที่เริ่มทดลองปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำนา ตลอดจนจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ อาทิ ออกปาก(ลงแขก) ดำนา เกี่ยวข้าว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อน เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ตนและดร.นาที ได้มาตรวจเยี่ยมกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ซึ่งตนและคณะรู้สึกประทับใจในการต้อนรับ และการบริการแบบมืออาชีพ และขอชื่นชมทางกลุ่มที่ได้อนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้อย่างดีเยี่ยม เป็นมรดกของจังหวัดตรังและประเทศไทยสืบไป . ด้านดร.นาที กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบผ้าทอนาหมื่นศรี และเคยเดินทางมาชมแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเพิ่งรับตำแหน่งใหม่ๆ ผอ.ททท.ตรังคนปัจจุบันพามาดูผ้าซื้อผ้า ได้ไปทั้ง ผ้า กระเป๋า รองเท้า และรู้สึกดีใจที่ได้มาอีกครั้ง ได้เห็นถึงความเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่ม โดยเฉพาะการต่อยอดด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดตรังและภาคใต้มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวมาก จึงพร้อมสนับสนุนการดำเนินการต่อยอด โดยสามารถประสานงานผ่านมาทางตนและนายพิพัฒน์ได้เต็มที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: