ตรัง กยท.ตรัง อนุมัติงบประมาณกว่า 72 ล้านบาท เร่งช่วยเหลือชาวสวนยาง ในการเก็บสต็อกน้ำยางสดไว้ชะลอขาย สร้างอำนาจต่อรองนายทุนใหญ่ หลังราคายางพาราตกต่ำ เหลือกิโลกรัมละ 46 – 48 บาท ขณะที่ค่าครองชีพ หมู ไก่ อาหารทะเลราคาพุ่งรายวัน ทำชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ทำสวนยางเดือดร้อนหนัก รายได้ไม่พอรายจ่าย โดยหมู 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำยางสดประมาณ 4-5 กิโลกรัมจึงจะซื้อได้ โดยมาตรการชะลอการขายยางจะทำให้เกษตรกร ลดปริมาณน้ำยางสดในตลาด สร้างอำนาจต่อรองกับนายทุนใหญ่ รอจังหวะส่งขาย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการรวมหัวกดราคา กระตุ้นราคายาง และช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสวนกำลังประสบปัญหาเรื่องค่าครองชีพอยู่แสนสาหัสขณะนี้
วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ศูนย์รวบรวมน้ำยางสด แปลงใหญ่ยางพารา กยท.ย่านตาขาว ต.หนองบ่อ อ.ย่านตาขาว และโรงรวบรวมน้ำยางสดมาตรฐาน GMP สหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นายภิรม หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง พร้อมด้วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย ทั้ง 6 สาขา/10 อำเภอของจ.ตรัง ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยได้อนุมัติงบประมาณจำนวนกว่า 72 ล้านบาท และงบพัฒนาจังหวัดตรังจำนวน 800,000 บาท เพื่อจัดซื้อถังเก็บน้ำยา เร่งทำโครงการชะลอการขายยาง ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเก็บสต๊อกน้ำยางสดเอาไว้เพื่อชะลอขาย ลดปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาด เพื่อหวังช่วยพยุงราคายางให้สูงขึ้น ไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบจากราคาที่ลดลงโดยไม่เป็นธรรมและไม่มีสาเหตุ โดยขณะนี้พบว่าราคายางพารายังตกต่ำต่อเนื่อง โดยน้ำยางสดเหลือกิโลกรัมละ 46 – 48 บาท ทั้ง ๆ ที่ปริมาณผลผลิตเหลือน้อย แต่ราคากลับขึ้น ๆ ลง ๆ ในระดับที่ตกต่ำต่อเนื่อง ยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของภาคใต้ให้เดือดร้อนมากยิ่งขึ้น จากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอยู่แล้ว จากการที่ราคาหมู ไก่ กุ้ง ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารทะเลทุกชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำรายได้ไม่พอรายจ่าย ยิ่งเดือดร้อนหนัก จึงเร่งใช้โครงการชะลอการขายยางเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยการเก็บสต็อกน้ำยางสดไว้ เพื่อชะลอการขายให้โรงงาน โดยจะรอจังหวะที่ราคาดีขึ้น นำเสนอขายผ่านตลาดกลางยางพาราทั้ง 4 แห่งในภาคใต้ ลดปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาด หวังจะช่วยพยุงราคายางพาราให้สูงขึ้น โดยการสร้างอำนาจต่อรองให้อยู่ในมือของเกษตรกร ไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบจากการรวมหัวกดราคา ทำเกษตรกรเดือดร้อนต่อเนื่อง เป็นการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง และเม็ดเงินที่สะพัดในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็มาจากยางพารา โดยขณะนี้พบว่าจากปัญหาราคาน้ำยางสดที่ตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 46 – 48 บาท ดังกล่าว ชาวสวนต้องขายน้ำยางสดมากถึง 4-5 กิโลกรัม จึงจะซื้อเนื้อหมูได้เพียง 1 กิโลกรัม และต้องขายน้ำยางสดให้มากขึ้น จึงจะซื้อสินค้าอื่น ๆ เข้าครัวเรือนได้ ทำประชาชนเดือดร้อนหนักในขณะนี้ กยท.จึงเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาจากราคายางพาราตกต่ำ และเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ผ่านโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการยางแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น ทั้งนี้ จุดรวบรวมน้ำยางสดทั้ง 2 แห่ง คือ ที่ ต.หนองบ่อ เก็บน้ำยางสดได้ จำนวน 10 ตันต่อรอบ แต่ตั้งเป้าไว้ ที่ 25 ตันต่อรอบ ส่วนที่สหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว สามารถเก็บน้ำยางสดได้รอบละ 50 ตัน แต่ถ้าน้ำยางมากก็เพิ่มได้
ทางด้านนายภิรม ทองรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยช่วยเหลือเกษตรกรในการชะลอขายรวม 4 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำยางสด ยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นดิบ และยางก้นถ้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ในส่วนของจังหวัดตรัง ทำการชะลอการขายน้ำยางสด งบประมาณจำนวน 72 ล้านบาท และจากงบพัฒนาจังหวัดตรัง โดยนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังอีกจำนวน 800,000 บาท เป้าหมายชะลอการขายให้ได้ประมาณ 350 ตัน ทั้งนี้ จังหวัดตรังเริ่มทำ 2 แห่ง และจะขยายไป กยท.ทุกสาขา ถือเป็นโครงการที่เหมาะสม เมื่อผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก ราคายางตกต่ำ โครงการก็ช้อนซื้อเก็บไว้ เมื่อราคาสูงขึ้นเหมาะสม ก็นำออกมาทยอยขายเก็งกำไร โดยถ้าจุดไหนน้ำยางของสมาชิกเข้ามามาก ก็จะเพิ่มปริมาณการสต๊อกน้ำยางสดในจุดนั้นเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่การยางแห่งประเทศไทยต้องการคือ เมื่อสมาชิกนำน้ำยางมาฝากไว้ ซึ่งเก็บได้นานถึง 90 วัน โดยที่คุณภาพน้ำยางและเปอร์เซ็นต์ยางไม่เปลี่ยนแปลง สมาชิกที่ขายน้ำยางอยู่ประจำจะไม่ถูกกดราคา เพราะสหกรณ์มีการชะลอ เลือกเวลาขายที่ได้กำไร และในระดับประเทศหากทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของเกษตรกรสามารถชะลอการขายได้จะเกิดประโยชน์ในภาพรวม อำนาจต่อรองจะอยู่ในเมืองเกษตรกร ผ่าน กยท.พ่อค้าจะเป็นฝ่ายวิ่งมาหา กยท.และวิ่งหาชาวสวน อำนาจต่อรองจะอยู่ในมือเกษตรกร
ทางด้านนายสมพล เก้าเอี้ยน ประธานสหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวว่า ตอนนี้สหกรณ์ทุ่งยาวสามารถเก็บสต็อกน้ำยางสด เพื่อชะลอขายได้รอบละ 20 ตัน แต่ศักยภาพจะรับได้รอบละ 60 ตัน ขณะนี้ทำมาแล้ว 2 รอบ โดยรอบนี้ถ้าขายในวันนี้จะได้ส่วนต่างกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งในการชะลอจะดูราคาส่วนต่างให้ได้กำไร หลักๆ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรในการขายน้ำยาง หากช่วงราคาไม่ดีสามารถหมุนมาฝากไว้ก่อน สหกรณ์ก็ดึงราคาไว้ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมไม่ขาดทุน ก็นำออกขายได้ โดยกยท.จะเสนอขายในตลาดกลาง เจรจากับคู่ค้าโดยตรง
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: