ตรัง -ปศุสัตว์โต้สื่อออกข่าวบิดเบือน ตรังไม่เคยเกิดโรคระบาดในหมูทำจังหวัดเสียหาย ทำลายธุรกิจหมูย่าง โดยไม่มีมูลข้อเท็จจริง พร้อมขู่สื่อ ผู้ว่าฯ จะเอาเรื่อง เพราะทำให้จังหวัดเสียหาย
นายสัตวแพทย์สุรจิต วิชชุวรรณ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ยังกล่าวยืนยันเสียงแข็ง หลังจากห้องประชุมแก้ไขปัญหาหมู ไก่ ราคาแพง ถึงเรื่องการโรคระบาดในหมู โดยปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวอย่างออกอารมณ์หงุดหงิดเมื่อถูกถามว่า เป็นเรื่องที่นานมาหลายเดือน
ซึ่งเมื่อผู้สื่อถามว่านานหลายเดือนมาแล้ว และส่งผลกระทบมาจนเกิดภาวะวิกฤติหมูมาจนถึงขณะนี้หรือไม่ ปศุสัตว์จังหวัด กล่าวว่า ไม่ใช่ เขา (เกษตรกร) กระทำความผิด เขาเอาสัตว์ป่วยเข้ามา
เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ และเจอหรือไม่ ปศุสัตว์จังหวัดระบุว่า เขาทำลายของเขาเอง เรายังไม่ทันได้เข้าไปตรวจสอบเลยว่าเป็นโรคอะไร
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- คอหวยแห้ว เลขหางประทัดขบวนเรือหลวงพ่อโสธรไม่ปรากฏให้เสี่ยงทาย
- นราธิวาส-กรรมกำลังทำงาน - ปมสังหาร "นายกอาร์ม"
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามกลับมา ก็ทราบมาว่าทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างเลือดในบางฟาร์มด้วย ปศุสัตว์จังหวัดก็โบกไม้โบกมือปฏิเสธว่า เรื่องนี้ประเด็นนี้นะคุณ..อย่าเอามาเป็นเรื่องเลย เพราะเรื่องนี้น่ะ เขาทำผิดกฎหมาย ( เขาหมายถึงเกษตรกร) ไปลักลอบเอาสัตว์ป่วยเข้ามา
เมื่อถามว่าแล้วทางปศุสัตว์ได้ดำเนินการกับเกษตรกรรายนั้นหรือไม่ ปศุสัตว์จังหวัดตรังบอกว่า ก็เขาตกใจ เขาก็ทำลายสัตว์ไปเองนานมาแล้ว นานเป็นปี หลายปีแล้ว พร้อมยืนยันจนถึงขณะนี้ในจังหวัดตรังยังไม่พบการระบาดของโรคในหมูมาก่อนเลย และผู้ประกอบการเลี้ยงหมูมาประชุมร่วมกับทางจังหวัด ก็ยังยืนยันกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเลยว่าในจังหวัดตรังยังไม่เคยมีเหตุการณ์โรคระบาดในจังหวัดมาตั้งนานมาแล้ว เอาเรื่องของปีที่แล้วมาพูดมันไม่ใช่นะ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่าไม่ควรเอามาพูดมานานยาวนานแค่ไหน ปศุสัตว์จังหวัดตรัง พูดแย้งในทันทีว่า ก็เราไม่ได้มีการตรวจสอบว่ามันโรคนี้จริงหรือไม่ เขาทำลายกันเอง แล้วมาหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่ไปดูแล เขาทำลายของเขาเองทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วบางจุดที่เรา (เจ้าหน้าที่) เข้าไปตรวจสอบมันพบหรือไม่ ปศุสัตว์จัหวังดตรัง กล่าวว่า มันไม่มีโรค พร้อมอ้างว่า ผู้ประกอบการยังยืนยันกับผู้ว่าฯ ว่าโรคนี้มันไม่มี จังหวัดอื่น…. แต่ของเราไม่มีโรคระบาดในพื้นที่จังหวัดตรัง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วในจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียงมีหรือไม่ ปศุสัตว์จังหวัดบอกว่า ผมไม่มีข้อมูล แต่ในจังหวัดตรังไม่โรคแน่นอน ต้องให้ความเป็นธรรมกับฟาร์มหมูในจังหวัดตรัง ประเดี๋ยวภาพที่ออกไปจะเสียหายหมด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อมีโรคระบาดเกิดจริง แต่เจ้าของไม่ได้แจ้งเรา (ปศุสัตว์) เจ้าหน้าที่จึงไม่รู้ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวว่า ไม่ๆ ส่วนมากต้องแจ้ง เพราะถ้าไม่แจ้งจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด แต่นี่สื่อเอาข่าวมาเล่นจนจังหวัดเสียหาย
เมื่อผู้สื่อข่าวย้อนถามว่า ข่าวที่ออกนำเสนอว่าเกิดโรคระบาดเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมานะ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง บอกว่า ก็เขาไปลักลอบเอาสัตว์ป่วยจากไหนมาก็ไม่รู้ อยู่ๆแล้วเขาก็ทำลายเอง เราไม่ได้ไปทำลายด้วย ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ไม่เคยรู้ ไม่เคยรับแจ้งเลยแม้แต่รายเดียว เขาทำเอง เพราะถ้าเรามี เราต้องมีชดเชย มีอะไรให้เขา
ผู้สื่อข่าวถามยืนยัน มีบางฟาร์มที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าไปเก็บตัวอย่างเลือดหมูด้วย (แต่ไม่รายงานผล) ปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวว่า มันไม่มี ถ้ามีตนเองต้องรายงานกรม เพราะฉะนั้นอย่าไปสร้างเงื่อนไขให้ราชการเสียหาย เพราะจริง ๆ แล้วจังหวัดตรังปลอดโรคนี้มานานแล้ว อย่าทำให้หมูย่างเขาเดือดร้อน ผู้สื่อข่าวก็ยืนยันว่า สื่อก็ว่ากันไปตามที่ชาวบ้านเขาว่า ตามหลักฐานที่ชาวบ้านยืนยันมา ขั้นตอนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ก็มี การเคลื่อนย้ายสัตว์ทั้งในจังหวัดและระหว่างจังหวัด ก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบมีเชื้อเข้ามาหรือไม่ ยิ่งถ้ามีโรคระบาดจะยิ่งเข้มงวด แต่ถ้าไม่มีโรคระบาดอย่างในจังหวัด ก็ไม่ได้เข้มงวด แต่ถ้าระหว่างจังหวัดก็จะเข้มงวด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรังยังพูดในห้องประชุมเลยว่า ตรังเราโชคดีไม่มีโรคในพื้นที่
ดังนั้น ยืนยันได้เลยว่าในพื้นที่จังหวัดตรังไม่มีโรคระบาดโรคนี้ ถ้าในจังหวัดไม่โรคระบาดการเคลื่อนย้ายในจังหวัดก็ไม่ได้เข้มงวด แต่ถ้ามีโรคเมื่อไร จะมีการเข้มงวดแน่นอน แม้แต่ระหว่างอำเภอด้วยกัน จะต้องออกใบเคลื่อนย้าย จะต้องตรวจสอบที่มาที่ไป ต้องแจ้งสัตวซึ่งแพทย์ท้องที่เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นการควบคุมโรค แต่ในจังหวัดตรังไม่มีโรคระบาดพวกนี้ จึงไม่มีประเด็น ขอให้ทำความเข้าใจด้วย เพราะออกข่าวไปแล้ว ทำให้ภาพรวมหมูย่างจังหวัดตรังเสียหาย ว่าเกิดโรคเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ว่าฯ จะเอาเรื่องอยู่ด้วย การนำเสนอข่าวถ้าไม่ตรงตามความเป็นจริงมันทำให้เสียหาย ซึ่งทางผู้สื่อข่าวก็บอกว่า เรานำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าเห็นว่าการนำเสนอข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงไม่มูลความจริง ก็ขอให้ว่าตามกระบวนการได้เลย สร้างความไม่พอใจให้กับปศุสัตว์เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้นำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ ว่าพบฟาร์มเลี้ยงหมูถูกปล่อยทิ้งร้างจำนวนมากในพื้นที่ อ.ห้วยยอด และอ.รัษฎา เนื่องจากเกิดโรคระบาดในหมูมาเมื่อประมาณ 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา ( กันยายน – ธันวาคม) โดยมีภาพถ่ายปรากฎเป็นหลักฐาน และมีร่องรอยการฝังกลบที่ยังใหม่ประมาณ 3-4 เดือนในสวนปาล์มน้ำมัน และบางส่วนยังทยอยตายเจ้าของฟาร์มได้ฝังทำลายตัว 3 ตัว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ตามข่าวที่นำเสนอ และบางส่วนพบว่าเกษตรกรเร่งระบายส่งขาย ขณะทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดในฟาร์มแรกที่รับแจ้งเรื่องหมูตาย และให้มาคอยกำกับให้เกษตรกรฝังทำลายในทันที เพราะระบุเป็นโรคระบาดแต่ผลตรวจเลือดดังกล่าวไม่นำมาเปิดเผย และไม่มีการออกประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาด ไม่ควบคุมพื้นที่ ไม่ออกประกาศควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ไม่แจ้งเตือนเกษตรกรและฟาร์มที่เหลือ ทำให้ฟาร์มอื่น ๆ ทยอยตายตามมาจำนวนมาก ขณะเดียวกันเกษตรกรบางรายได้เก็บตัวอย่างเลือดหมูที่ตายในฟาร์มส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์แล็บเอกชนที่กรุงเทพฯ พบหมูติดเชื้อ ASF โดยข่าวที่นำเสนอออกไป สร้างความไม่พอใจให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก โดยปศุสัตว์จังหวัดตรังออกมายืนยันว่า จังหวัดตรังไม่เคยเกิดโรคระบาดมาเป็นเวลานานแล้ว รวมทั้งระยะเวลาก่อนสิ้นปี และหมูในจังหวัดตรังมีเพียงพอไม่ต้องนำเข้า จะมีบ้างเฉพาะหมูสำหรับทำหมูย่างเท่านั้นที่ต้องใช้หมูเฉพาะ เดือนละประมาณ 200 ตัว แต่ที่หมูแพงเพราะมีข่าวหมูแพงจึงมีการขึ้นราคาตามกัน และหมูส่วนหนึ่งของจ.ตรังไหลไปจังหวัดอื่น
อย่างไรก็ตามรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่11 ม.ค.2565 ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบกลาง 574.11 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกร และโรคระบาดร้ายแรงในสุกร หรือหมูป่า โดยเป็นค่าใช้จ่ายราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.-15 ต.ค.2564 ซึ่งมีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว และยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย เกษตรกรจำนวน 4,941 คน สุกรจำนวน 159,453 ตัว จำนวนเงิน 574.11 ล้านบาท ในพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีจังหวัดตรังเป็น 1 ใน 56 จว.ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: