ตรัง –เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเลตายเป็นบริเวณกว้าง ระหว่างอ่าวหยงหลำ – เกาะมุกด์ เขตอุทยานฯเจ้าไหม เบื้องต้น พบตะกอนดินจากแม่น้ำไหลลงไปทับถมปกคลุมทำเน่าตาย เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เจ้าหน้าที่เตรียมลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเก็บตัวอย่างตะกอนดิน และสำรวจพื้นที่ความเสียหาย เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป หวั่นพะยูนอพยพหนี เพราะกระทบแหล่งหากิน ระหว่างนั้นพบเต่าตนุ เพศเมีย ถูกอวนรัดคอตายลอยน้ำ 1 ตัว
เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ร่วมกับมูลนิธิอันดามัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และนักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวหยงหลำ – เกาะมุกด์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งมีพื้นที่หญ้าทะเลประมาณ 9,000 ไร่ หลังได้รับแจ้งชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ว่าพบเห็นสภาพเสื่อมโทรมของระบบนิเวศหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง
ทั้งนี้ ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จาก มทร.ตรัง และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 7 และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยอันดามันตอนล่าง และมูลนิธิอันดามัน ได้ดำน้ำลงไปสำรวจแนวหญ้าทะเล โดยเฉพาะบริเวณอ่าวหยงหลำ ซึ่งหนาแน่นไปด้วยหญ้าทะเลชนิด “หญ้าชะเงาใบยาว” และมีหญ้าทะเลชนิดใบมะกรูดบางส่วน มองด้วยตาเปล่าก็พบว่าสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป หญ้าทะเลตายเหลือเพียงสั้นๆเป็นบริเวณกว้าง และเมื่อดำน้ำลงไปสำรวจก็พบว่าแนวหญ้าทะเลมีตะกอนดินปกคลุมปริมาณมาก และมีความหนาแน่นลดลง ตะกอนดินเลน ถูกแทนที่ด้วยตะกอนทราย ส่วนบนเหนือพื้นทรายใบเน่าตาย เหลือเพียงประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร จากเดิมหญ้าทะเลจะมีความยาวประมาณ 1.00 – 1.30 เมตร แต่ส่วนรากยังมีอยู่ โดยตะกอนดินมีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า เกาะตามกอและใบ ทำให้หญ้าทะเลสังเคราะห์แสงไม่ได้ จึงเน่าตาย ซึ่งจุดที่พบหญ้าทะเลเน่าตายเป็นบริเวณกว้างนั้นอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งเหนือร่องน้ำ เป็นจุดรับน้ำจากฝั่ง สภาพพื้นที่ตื้นเขินกว่า คาดเสียหายไปไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ แต่หลังบริเวณร่องน้ำใหญ่ไปบริเวณหน้าหมู่บ้านเกาะมุกด์ จากการสำรวจพบว่าหญ้าทะเลยังอุดมสมบูรณ์ เพราะมีร่องน้ำใหญ่คั่นกลาง โดยเจ้าหน้าที่เตรียมจะนำนักวิชาการมาสำรวจอีกครั้งเร็วๆนี้ เพื่อเก็บตัวอย่างดินไปศึกษา และสำรวจเนื้อที่ความเสียหายทั้งหมดก่อนจะหาทางแก้ไขต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- ระทึก ไฟไหม้โรงงานผลิตกล่องโฟมใส่อาหารหวิดวอดหมดหลัง
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จาก มทร.ตรัง กล่าวว่า สภาพตะกอนดินที่ดำลงไปพบมาจากตะกอนดินจากแม่น้ำ ซึ่งจะมีเซลซากพืช ซากสัตว์ปนมาด้วยไหลลงมาเคลือบบริเวณส่วนใบเป็นจำนวนมาก จึงมีผลต่อหญ้าทะเลทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้เน่าตาย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระดับหน้าดินยังทำลายเฉพาะส่วนใบ แต่จะมีผลในระยะยาวแน่นอน โดยในพื้นที่มีหญ้าทะเลรวม 2 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด กับหญ้าชะเงาใบยาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงของหญ้าทะเลชนิด “หญ้าชะเงาใบยาว “ที่เสียหายจำนวนมากเป็นบริเวณกว้างเหลือเพียงสั้นๆ เชื่อว่าในจะส่งผลในระยะยาวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในอนาคตยังจะมีปริมาณน้ำที่ถูกชะล้างลงมาในยามหน้าฝนลงมาเติมในพื้นที่อีก ซึ่งลักษณะคล้ายกับตะกอนดินที่เกิดขึ้นบริเวณแหลมจุโหย แต่น้ำที่มาจากปากแม่น้ำกันตังจึงส่งผลมากกว่า ของพื้นที่เพิ่งเริ่มต้น
ทางด้านนายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กล่าวว่า จากการสำรวจพบหญ้าทะเลเริ่มตายแบบนี้ จะส่งผลอย่างแน่นอนต่อพะยูนในพื้นที่ เพราะพะยูนจะอาศัยอยู่หน้าเฉพาะในพื้นที่ที่มีหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารเท่านั้น โดยดัชนีหลังที่จะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของพะยูนก็คือ หญ้าทะเล ซึ่งถ้าหญ้าทะเลเสียหายพะยูนก็จะอพยพหนีไปหากินที่อื่น และจะอันตรายเพราะอาจเป็นที่ไม่ปลอดภัย โดยบริเวณนี้อยู่ในเขตอุทยานฯจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพะยูน สำหรับจังหวัดตรังมีแหล่งหญ้าทะเลทั้งหมดประมาณ 33,000 ไร่ ทั้งในเขตอุทยานหาดเจ้าไหม และพื้นที่อาศัยของพะยูนแหล่งใหญ่คือ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง พื้นที่ที่พบเจอปัญหาในครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุปริมาณเนื้อที่ได้ จะต้องมาทำการสำรวจพื้นที่ทำแผนที่สำรวจ และเก็บตัวอย่างดิน หญ้าไปตรวจวิเคราะห์ที่มาของแหล่งตะกอนดิน เพื่อหาทางแก้ปัญหาและฟื้นฟูต่อไป
นายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กล่าวอีกว่า โดยข้อมูลเดิมประชากรพะยูนในจ.ตรังมีประมาณ 185 ตัว ส่วนการสำรวจพะยูนในทะเลตรังจะดำเนินการอีกครั้งประมาณเดือนมีนาคาปีนี้ หลังต้องหยุดสำรวจไป 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่วนพะยูนที่ตายในจังหวัดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักเกิดจากการตายจากธรรมชาติคือ ป่วยตาย , ถูกเงี่ยงปลากระเบน เพราะแหล่งอาศัยของปลากระเบนก็คือ แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่พะยูนจะต้องเข้าไปหากิน ทำให้เจอกัน ปลากระเบนก็จะแทงเข้าที่บริเวณช่องอก ซึ่งตั้งแต่ตนมาพบ 3 ตัว ตายทั้งหมด ส่วนเครื่องมือประมงถือว่ามีน้อยไม่ถึง 10% ของการตาย และติดโดยบังเอิญ ไม่มีการล่า
อย่างไรก็ตาม ขณะทำการสำรวจหญ้าทะเล เป็นที่น่าสลด เมื่อเจ้าหน้าที่ยังพบเต่าตะนุ เพศเมีย อายุประมาณ 4-5 ปี ถูกอวนเครื่องมือประมงรัดคอจนตายลอยอยู่ในน้ำ โดยชาวบ้านระบุว่าเป็นลักษณะของอวนเรือประมงพาณิชย์ ที่อาจหลุดลอยมาจากทะเลลึก ทำให้เต่าซึ่งกำลังหากินว่ายน้ำเข้าไปติดและดิ้นจนรัดคอเสียชีวิต ซึ่งเป็นภาพที่น่าสลด เจ้าหน้าที่จึงเก็บซากกลับขึ้นฝั่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: