ตรัง ไส้กรอกพิษ ทำเด็กล้มป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน 3 รายใน อ.สิเกา หลังกินไส้กรอกยี่ห้อหนึ่งเข้าไป แต่ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบทันที และเก็บสินค้าทั้งหมด เพื่อห้ามจำหน่ายอีก
ตามที่ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยพ่อแม่ผู้ปกครองให้ระมัดระวังการเลือกซื้ออาหาร โดยแนะนำอย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่มาที่ไม่แน่ชัด หรือไม่น่าเชื่อถือ หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินหลายรายนั้น ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง (สสจ.) นายแพทย์ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จำหน่ายเพื่อสืบแหล่งที่มาของไส้กรอกและเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่าย เพื่อตรวจวิเคราะห์ยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง ซึ่งล่าสุดพบเด็ก จำนวน 3 ราย ที่กินไส้กรอกยี่ห้อหนึ่ง แล้วล้มป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน โดยรายแรกเป็นเด็กอายุ 12 ปี ต่อด้วย 8 ปี 9 ปี ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อำเภอสิเกา แต่ขณะนี้เด็กทั้ง 3 ราย อาการปลอดภัยหมดแล้ว ซึ่งโชคดีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้เร็ว มิเช่นนั้นก็น่าห่วงเหมือนกัน เพราะภาวะเมทฮีโมโกลบิน มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
ดังนั้น จึงได้สั่งเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 3 อำเภอที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ สิเกา วังวิเศษ และห้วยยอด เพราะจากการสอบสวนพบว่า ไส้กรอกดังกล่าวมีเส้นทางจำหน่ายอยู่ใน 3 อำเภอดังกล่าว โดยอำเภอสิเกา มีการลงสินค้าไว้ประมาณ 10 แพ็ก ส่วนอำเภอวังวิเศษ มีการลงสินค้าไว้ประมาณ 30 แพ็ก และอำเภอห้วยยอด มีการลงสินค้าไว้ประมาณ 40 แพ็ก รวมทั้งจังหวัดตรัง ประมาณ 80 แพ็ก เฉพาะในรายที่พบเด็กล้มป่วย จำนวน 3 ราย ในอำเภอสิเกา ซึ่งจากการสอบสวนผู้จำหน่ายไส้กรอกรายนี้พบว่า เขาเพิ่งเอาสินค้ามาลงจำหน่ายครั้งแรก และเมื่อพบว่าไส้กรอกมีปัญหา จึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ และหยุดจำหน่ายสินค้าทั้งหมดทันที จึงไม่มีไส้กรอกยี่ห้อนี้หลงเหลืออยู่ในท้องตลาดของจังหวัดตรังแล้ว เบื้องต้นได้ตักเตือนผู้จำหน่ายไส้กรอกยี่ห้อนี้แล้วว่า ต่อไปขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับสินค้ามาจำหน่ายมากขึ้น โดยยังไม่ดำเนินการใดๆ ตามกฏหมายก่อน ส่วนผู้ผลิตไส้กรอกยี่ห้อนี้ ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดอื่น เบื้องต้นได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน รวมทั้งแจ้งไปยัง อย. ให้ไปตรวจสอบยังโรงงานผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ จากจำนวนทั้ง 3 ร้านที่รับไส้กรอกยี่ห้อนี้มาจำหน่ายในจังหวัดตรัง นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 เป็นต้นมา พบว่า 2 ราย ในอำเภอสิเกา และห้วยยอด ได้มีตัวแทนจากอำเภอทุ่งสง นำเสนอสินค้ามาส่งให้จำหน่ายโดยตรง ยกเว้นร้านที่อำเภอวังวิเศษ ที่ไปรับสินค้าจากอำเภอทุ่งสง เพื่อนำมาจำหน่ายเอง ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้ออก 3 มาตรการบังคับใช้เร่งด่วนคือ ในส่วนของประชาชนผู้บริโภค ได้ประชาสัมพันธ์ขอให้เลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีไม่แดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ สังเกตชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน สังเกตุส่วนประกอบ ข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ และเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. รวมทั้งมีการเก็บรักษาไส้กรอกในอุณหภูมิที่เย็นเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร -เลขาธิการ ป.ป.ส. ควงแม่ทัพภาค 2 ลงเรือตรวจสกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-ลาว จ.มุกดาหาร
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
ในส่วนของประชาชนที่ซื้อไส้กรอกที่ผิดสังเกตุ หรือผิดปกติไปแล้ว ขอให้อย่านำไปบริโภคโดยเด็ดขาด ในส่วนของประชาชนที่บริโภคไปแล้ว มีลักษณะอาการคล้ายจะล้มป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม และหมดสติ ขอให้ไปพบแพทย์ยังโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และในส่วนของร้านต่างๆ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ด้วยการรับไส้กรอกที่ได้คุณภาพมาตรฐานมาจำหน่ายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากประชาชนผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพ หรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: