อุปทูตสหรัฐฯ ลงตรัง ประทับใจวัฒนธรรมผสมผสานกันตัง เดินเท้าสำรวจเมืองเก่า ชิมขนมท้องถิ่น เสี่ยงเซียมซีได้โชคดี เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯบิดายางพาราไทย ประทับใจเด็กๆนำชม แนะ หากจะบูรณะให้เสนอโครงการขอทุนสหรัฐฯได้ พร้อมพิจารณาตามกระบวนการ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่จ.ตรัง นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ลงพื้นที่ศึกษาโครงการพัฒนาชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในพื้นที่อ.กันตัง จ.ตรัง ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี๊ ณ ระนอง) บิดายางพาราไทย , ชมต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย , ศาลเจ้าไหหลำ กลุ่มกันตังเมืองเก่า , มัสยิดปากีสถาน , ศาลเจ้าฮกเกี้ยน และ กลุ่มจักสานก้านจากวังวน โดยได้แวะรับประทานกาแฟและขนมพื้นเมืองที่ร้าน หม่าโถว พร้อมพบปะกับสื่อมวลชนประจำจังหวัดตรัง โดยอุปทูตสหรัฐฯให้ความสนใจพร้อมซักถามความเป็นมาและชิมขนมและอาหารท้องถิ่น เช่น ขนมโกปังเกด ขนมอาโปง ข้าวเหนียวสองดัง ขนมม่อฉี ข้าวเหนียวต้มใบกระพ้อ ขนมขี้มอด และกาแฟอเมริโน-ลูกจาก ในติหมาใบจาก ซึ่งเป็นพืชริมฝั่งปากแม่น้ำตรัง
ทั้งนี้ที่พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ มีเยาวชนจากโรงเรียนกันตังพิทยากร นำบรรยายถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งอดีตเจ้าเมืองตรังเคยพักอาศัย และเป็นผู้นำยางพาราจากแถบมลายูเข้ามาประเทศไทย ก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วประเทศ กลายเป็นอาชีพทำกินของคนไทยมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะชาวใต้ แต่ปัจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา เพราะเป็นบ้านไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี อย่างไรก็ตามในการซ่อมแซมยังมีข้อติดขัด เนื่องจากที่ดิน และตัวบ้านถือเป็นทรัพย์สินของเอกชนลูกหลานพระยารัษฎาฯ ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถตั้งงบประมาณเข้าไปบูรณะดูแลได้ จากการสำรวจสภาพของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พบความชำรุดทรุดโทรม อาทิ 1.โครงสร้างของเสารับน้ำหนักมุขด้านหน้าทั้ง 2 ข้างของบ้านที่เริ่มโยก ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากมีคนขึ้นไปยืนจำนวนมากๆ 2.พื้นกระดานไม้ชั้นบนที่ผุ 3.บันไดหลักทางขึ้นชั้นสองจากด้านหน้า ถูกทำลายโดยปลวก 4.ราวกันตกด้านหลังบ้านหลุด และผุพัง และ 5.เชิงชายหลังคาไม้ที่หลุดล่อน เป็นต้น นอกจากนี้อุปทูตสหรัฐฯยังได้เดินเท้าชมสถาปัตยกรรมเมืองเก่ากันตัง ไปยังศาลเจ้าฮกเกี้ยน มัสยิดปากีสถาน และศาลเจ้าแม่ทับทิม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์ ประจำศาลเจ้า พร้อมเสี่ยงเซียมซี โดยผลการเสี่ยงเซียมซีได้ใบที่ 17 เป็นใบที่ระบุคำทำนายที่ดีเลิศในทุกด้าน และชมการแสดงระบำชุดบะบ๋า-ยะหย๋า จิบน้ำชาและขนมโกปังเกด เค้กตรัง ขนมจีบสังขยา ซึ่งกลุ่มเมืองเก่ากันตังเตรียมไว้ต้อนรับ
นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า กันตังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เป็นมรกดที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ชาวจีนย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองกันตัง จะเห็นได้จากตัวอย่างของศาลเจ้า วัด จะเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นการผสมผสานระหว่างชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวมาเลเซีย และชาวไทย วัฒนธรรมเหล่านี้สะท้อนมาในรูปแบบของ อาหาร ศาลเจ้า ผู้คน และประสบการณ์ต่างๆ ตนประทับใจว่าประเทศไทยทุกภูมิภาคมีความแตกต่าง หลากหลายทางวัฒนธรรม และธรรมเนียมต่างๆ ผู้คนมีความเป็นมิตร และตนอยากเห็นผู้คนมาท่องเที่ยวที่ตรังมากขึ้น หลังจากโควิด19 จางไป ในขณะที่ทุกวันนี้ผู้คนเดินทางไม่เยอะ หลายธุรกิจยังคงปิดตัว หวังว่าในอนาคตจะเห็นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูดังเดิม หวังว่าโควิดรอบนี้จะเป็นระลอกสุดท้าย อยากจะเห็นธุรกิจ การท่องเที่ยว กลับมาคึกคักอีก “ตรังมีเศรษฐกิจที่ดีมาก เพราะมียางพารา และพืชเศรษฐกิจอื่น ผมจะกลับมาเที่ยวกันตังอีกบ่อยๆ ผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ ผมประทับใจมากที่มีเด็กนักเรียนคอยต้อนรับ แนะนำ เป็นผู้นำเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ฯ ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของครอบครัวพระยารัษฎาฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง วางรากฐานสำคัญของเมือง ก่อนจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านยังเป็นคนแรกที่นำต้นยางพาราต้นแรกมาปลูกในเมืองไทย จนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และขอฝากขอบคุณเด็กนักเรียนที่นำชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้” อุปทูตสหรัฐฯกล่าว
อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า สำหรับความต้องการของคนในพื้นที่ในเรื่องการพื้นฟูพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ ที่มีความชำรุดทรุดโทรมลงตามการเวลานั้น ในส่วนของสหรัฐฯมีกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (AFCP) ที่ดำเนินการในด้านอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งในประเทศไทยมีหลายสถาปัตยกรรมที่ทรุดโทรม และมีคนเก่าคนแก่ ในแต่ละพื้นที่ต้องการรักษาสถาปัตยกรรมไว้ เพราะเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นของภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งจะสืบสานไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ตนเขาใจถึงความต้องการจะหาทุนมาเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู สถาปัตยกรรม หรือ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ โดยที่ผ่านมากองทุนฯได้ช่วยมาแล้ว 20 โครงการ เช่น โครงการบ้านโบราณล้านนา จ.เชียงใหม่ , โครงการโลงผีแมน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งที่แม่ฮ่องสอนทางกองทุนฯ ได้สนับสนุนการขุดค้นโบราณคดี , การให้ทุนกับวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมวัด ซึ่งทางกองทุนฯมีความเข้าใจและเห็นใจว่าต้องการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งในส่วนของการพื้นฟูพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ สามารถติดต่อขอข้อมูล หรือ ส่งโครงการ และ ใบสมัครไปได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาทุกปี ทั้งราชการ และเอกชน สามารถขอการสนับสนุนจากกองทุนได้ หรือ จะระดมทุนจากภาคอื่นๆมาด้วยก็ได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: