ตรัง-อุปทูตสหรัฐฯ เปิดประชุมฉลอง 80 ปี โครงการแลกเปลี่ยนไทย-สหรัฐ IVLP ลั่น ยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิคพร้อมส่งเสริมเสถียรภาพด้านความมั่นคง-ปกครองหลักนิติธรรม-การเมืองอิสระในภูมิภาค พร้อมร่วมไทยยุติการระบาดโควิด-19
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดโครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศไทย และสหรัฐฯ โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสพบปะ พูดคุยกับชาวอเมริกันที่ทำงานในประเด็นเดียวกันเพื่อการร่วมมือกันในอนาคต โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการฉลองครบรอบ 80 ปีโครงการอีกด้วย โดยในแต่ละปีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ IVLP มีประมาณ 5,000 คนจากทั่วโลก อีกทั้งศิษย์เก่าโครงการ IVLP มีหลายคนที่เป็นผู้นำรัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ศิษย์เก่าโครงการที่สำคัญ ได้แก่ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขธิการอาเซียน และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งนี้ในการประชุมมีบุคคลสำคัญของทางการสหรัฐฯประจำประเทศไทย และบุคลากรสหประชาชาติเข้าร่วม อาทิ นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย(UNDP) คุณลิเดีย บาร์ราซา ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายธอมัส มอนท์กอเมอรี่ รองโฆษก สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คุณเซร่า นัควี รองผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายกมลนัย ชัยเฉนียน ประธานกรรมการบริหาร C asean คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบาย Meta และ Facebook ประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้คณะยังลงพื้นที่ลงพื้นที่ศึกษาโครงการพัฒนาชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในพื้นที่จ.ตรัง ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง , พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี๊ ณ ระนอง) บิดายางพาราไทย , ชมต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย , ศาลเจ้าไหหลำ กลุ่มกันตังเมืองเก่า , มัสยิดปากีสถาน , ศาลเจ้าฮกเกี้ยน และ กลุ่มจักสานก้านจากวังวน อ.กันตังอีกด้วย
นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสหรัฐฯ และไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” เพื่อเปิดโครงการตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาอยู่ท่ามกลางบรรดาศิษย์เก่าโครงการที่โดดเด่นและมีความสามารถ เราก็ได้เห็นผู้เข้าร่วมโครงการชาวไทยกว่า 2,200 คนที่ได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนเงินทุนกว่า 30 โครงการแลกเปลี่ยนในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษา ผู้ให้การศึกษา ศิลปิน นักกีฬา และผู้นำที่กำลังเติบโตของไทย ได้ติดต่อเชื่อมโยงกับกลุ่มคนในสหรัฐฯ และภูมิภาคอาเซียน และเพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในประเด็นต่าง ๆ นับตั้งแต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนไปจนถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- ตรัง สับปะรดทอด-ข้าวเม่าทอด ดาวเด่นประจำร้านสมพร รสชาติอร่อย ราคาเป็นกันเอง
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
อุปทูตสหรัฐฯกล่าวอีกว่า ในบรรดาศิษย์เก่าโครงการ IVLP ที่ยอดเยี่ยมนั้น บางท่านก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย อินทิรา คานธี และอดีตเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ของไทย ดังนั้น การสนับสนุนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ตลอดจนการส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายทางวิชาชีพของตนนั้นเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ หนึ่งในเป้าหมายที่มีร่วมกันนี้คือเสถียรภาพและความสำเร็จของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ฉบับใหม่ เพื่อส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และพร้อมรับมือยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือภูมิภาคที่ลักษณะเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับภูมิภาคนี้จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญสูงสุด ทั้งสองประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมในการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารระหว่างประเทศประจำปีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯปรารถนาที่จะทำงานร่วมกับไทยต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะรุ่งเรืองและเข้าถึงได้ มีการปกครองด้วยหลักนิติธรรม และยึดถือหลักการต่างๆ ทั้งเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ ความสามารถที่จะตัดสินใจได้เอง และการแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี เราต้องการให้ทุกประเทศในภูมิภาคสามารถกำหนดทางเลือกทางด้านการเมืองได้เอง โดยปราศจากการบีบบังคับจากภายนอก
อุปทูตสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯจะร่วมมือกับไทยเพื่อช่วยยุติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสูงสุดต่อสุขภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และได้บริจาควัคซีนเพื่อช่วยชีวิตผู้คนรวม 200 ล้านโดสทั่วโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่เป้าหมายการส่งมอบวัคซีน 1.1 พันล้านโดสทั่วโลกตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตั้งไว้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย สหรัฐฯ ได้ส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล 2.5 ล้านโดสให้แก่ประชาชนชาวไทย และยังส่งมอบตู้เย็นจัดเก็บวัคซีนและเวชภัณฑ์มูลค่าหลายสิบล้านเหรียญสำหรับห้องปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าซึ่งมีความจำเป็นสูงสุด ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ต่อยอดมาจากการลงทุนที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีในไทยกว่า 1 พันล้านเหรียญ ตลอดกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขประมาณ 214 ล้านเหรียญ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงเป็นความท้าทายสำหรับประเทศของเราในขณะนี้ แต่ความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งนั้นมีรากฐานที่มั่นคง โดยสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการสนับสนุนคนไทยในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ในช่วงการระบาดใหญ่ครั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ CDC เป็นหุ้นส่วนกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมาร่วม 40 ปี โดย CDC มีสำนักงานนอกสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในประเทศไทย
“เรารู้สึกดีใจที่ได้เห็นประเทศไทยประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และยินดีเป็นอย่างมากที่ไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำคัญในการรับมือกับโรคโควิด-19”อุปทูตสหรัฐฯระบุ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: