X

 5 มีนา วันนักข่าว พลิกตำนาน 89 ปี “คนข่าวตรัง” 3 ยุค  

 “บุญรัตน์ ไชยวิเศษ” นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ที่คร่ำหวอดกับอาชีพหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมายาวนานและล่วงลับไปแล้ว บอกเล่าว่า “หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง” ในระยะแรกเปิดตัว ในปีรุ่งขึ้น ปี ๒๔๗๖ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕ หนังสือพิมพ์ “ตรังสาสน์” ถือกำเนิดเป็น “ฉบับแรก” มี “นายแปลง จำนง” อาชีพเป็นทนายความ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์

เรื่อง : จิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนประจำจังหวัดตรัง

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน ๑๖ คน จากหนังสือสำคัญ ระบุว่า “โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่า หนังสือพิมพ์ได้มีการพัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ได้เพิ่มพูนเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นทุกที จึงเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดวันที่ระลึกขึ้นสักวันหนึ่ง เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ร่วมวงการ จึงตกลงกันให้ถือเอาวันที่ ๕ มีนาคม เป็นวันนักข่าวสืบมา”

สำหรับเส้นทาง “คนหนังสือพิมพ์” ท้องถิ่นจังหวัดตรัง ในยุคแรกๆ เริ่มต้นเมื่อไหร่ ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านยังไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าในอดีตประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวมากนัก…???

อาจจะด้วยสาเหตุมา ในอดีตการติดต่อสื่อสารอยู่ในวงแคบๆ อยู่ในระบบ เครือญาติ พี่น้อง เพื่อนฟ้อง ที่มักจะนิยมพูดคุยรับรู้ฟังผ่านปากต่อปาก การบันทึกใน “หน้ากระดาษ” หรือ“หนังสือพิมพ์” จึงไม่นิยมกัน ด้วยเป็นยุค ระบบสื่อสารยังไม่ก้าวหน้า …!!!

ความสนใจ และการเคลื่อนไหว ของการขีดเขียน เล่าขานกันว่า มาจากบุคคลที่ มีความคิด“หัวก้าวหน้า และมีอุดมการณ์สูง” ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มก้อน บุคคลที่มีการศึกษาสูง โดยมองว่า ”การเอารัดเอาเปรียบ” ในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น “คนหนังสือพิมพ์” ในอดีต ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ อาทิ ทนายความ ครู รวมทั้งนักการเมืองฯลฯ

สำหรับความเป็นมาของการถือกำเนิดของ “คนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง” ที่ผ่านมา จะมีการเล่าสู่กันปากต่อปาก จากบรรดา “เหยี่ยวข่าว” จากยุค “อดีต จนถึง ปัจจุบัน” ทำให้ทราบข้อมูลว่า จริงๆแล้ว เส้นทาง “สายน้ำหมึก” จังหวัดตรัง สายนี้ เกิดมานานแล้วเช่นกัน…!!!

นับเนื่องจาก…!!! ภายหลังยุคเหตุการณ์ปฎิวัติ ๒๔๗๕ ที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง จากการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” สู่ระบอบ “ประชาธิปไตย”…???

ตำนานความเป็นมาของ “คนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง” จึงผ่านการเล่าขานจากคนหนังสือพิมพ์ในยุคต้นๆ…!!!

“นายบุญรัตน์ ไชยวิเศษ” “นักหนังสือพิมพ์อาวุโส” ที่คร่ำหวอดกับอาชีพหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมายาวนาน และล่วงลับไปแล้ว บอกเล่าว่า “หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง” ในระยะแรกเปิดตัว ในปีรุ่งขึ้น ปี ๒๔๗๖…??? ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕…!!!

หนังสือพิมพ์ “ตรังสาสน์” ถือกำเนิดเป็น “ฉบับแรก” มี “นายแปลง จำนง” อาชีพเป็นทนายความ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ เล่มดังกล่าว ออกเป็นรายเดือน เสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของจังหวัดตรังมานานกว่า ๑๐ ปีก็ต้อง “ปิดตัวลง” เนื่องจากไม่ทุนทรัพย์ในการพิมพ์ดำเนินการ

จากนั้น ปี ๒๔๙๑ หนังสือพิมพ์ “เมืองใต้” เปิดตัว ออกเป็นรายล็อตเตอรี่ มีนายประภาส คงสมัย (อดีตผู้สมัคร สส.พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เป็นเจ้าของ

เวลาไล่เลี่ยกัน “หนังสือพิมพ์ชาวตรัง” ก็เปิดตัวให้ชาวจังหวัดตรัง ได้ยลโฉมอีก ๑ ฉบับ และได้รับความสนใจจากประชาชนชาวจังหวัดตรัง เป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าของคือ“นายประดิษฐ์ ไกรว่อง” หรือเจ้าของนามปากกา “นายกางหลาง” ถือเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่น ถือมั่นแห่งอุดมการณ์รับใช้ประชาชนชาวตรัง อย่างจริงจัง มีนิสัยโผงผางตรงไปตรงมา ในที่สุดก็ถูก “ลอบยิง” เสียชีวิต ไปพร้อมๆ กับ “ปิดฉาก” หนังสือพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน

ต่อมาปี ๒๔๙๗ หนังสือพิมพ์ “ตรังคภูมิ” เปิดตัวรับใช้สังคมชาวตรังอีก ๑ ฉบับ โดยมี “นายสนธิกาญจน์ กาญจนาส์” เป็นเจ้าของ แต่วางแผงเป็นรายสะดวก เนื่องจากมีทุนทรัพย์น้อย ที่สุดก็ปิดตัวลงเหมือนกับหนังสือพิมพ์อื่นๆที่ผ่านมา

ในช่วงเดียวกัน หนังสือพิมพ์ “เสียงราษฎร์” ขยายฐานการพิมพ์มาจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนั้น “นายสุรินทร์ มาศดิษฐ์” ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าของ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก..!!

“นายเสถียร วีรวรรณ” ปลัดอำเภอสิเกา จ.ตรัง เป็นหัวเรือใหญ่ในจังหวัดตรัง นอกจาก ”นายเสถียร” จะเป็นนักปกครอง นักหนังสือพิมพ์แล้ว ยังเป็นนักประพันธ์ที่รับรู้กันว่า เป็นผู้ประพันธ์คำขวัญประจำจังหวัดตรัง “ชาวตรัง ใจกว้าง สร้างแต่ความดี” ที่ใช้มาถึงปัจจุบันนี้…!!! นอกจากนั้น นายสุนทร- นายวรพงษ์ น้องพี่ต้องตระกูล เลาหะสราญ ยังเติบโตเป็น ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำจังหวัดตรัง ในยุคแรกๆ อีกด้วย

หลังจากนั้น “หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง” ก็เงียบหายไปเป็นระยะหนึ่ง เข้าสู่ “คนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยุคกลาง” มีการตื่นตัวของบรรดา “นกน้อยในไร่ส้ม” เมื่อวงการหนังสือพิมพ์ เปิดโอกาสให้มีการขออนุญาตจดทะเบียน ตาม พรบ.การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๕…???

คนข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง ตื่นตัว ขออนุญาตจดทะเบียน จาก จุดเริ่ม ปี ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน หลายสิบฉบับ บ้างก็ดำรงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบัน บ้างก็ปิดตัวลงไป ด้วยเหตุเฉพาะตัว

เริ่มจาก…!!! หนังสือพิมพ์พารา (รายปักษ์) จดทะเบียน ปี ๒๕๒๕ มีนายสมโชค ชัยทอง เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์แนวทาง (รายปักษ์) ทนายความวีรชัย ชีวศุภกร เป็นบรรณาธิการ นายจรูญ ดีโพธิ์กลาง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวเสรี (รายสัปดาห์) นายกฤษฎา เครืออ๋อง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นบรรณาธิการ นายเปรมชาญ ไทยทวีวงศ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (ผู้สื่อข่าว) หนังสือพิมพ์มติตรัง (รายปักษ์) นายจิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน บรรณาธิการ นายทองขาล กันหาจันทร์ ผู้สื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์รักษ์ตรัง (รายปักษ์) นายเมธี เมืองแก้ว สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์แม่น้ำ มีนายธีรทัศน์ ศรีไตรรัตน์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวภูมิภาค (รายปักษ์) นายสมบูรณ์ ยงประเดิม เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์แดนสยาม (รายปักษ์) นายไพบูลย์ อนุกูลประเสริฐ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ตรังวาไรตี้ (รายปักษ์) นายเสกสรร สุจริยา บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภูมิปัญญา (รายปักษ์) นายจักรกฤษณ์ โสมวิภาคย์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รัษฎานิวส์ (รายปักษ์) นายสมจิต สุจริตชีวงศ์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวธุรกิจ (รายปักษ์) นายณัฎฐ์ อร่ามนิจ (อภิธน) บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ (รายปักษ์) นายสกนธ์ สินไชย บรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดตรัง ที่เปิดตัวและโลดแล่นบนวงการน้ำหมึกซึ่งเป็นยุคกลางของจังหวัดตรัง ที่ดำเนินด้วยการยืนหยัดเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ในฐานะ “ฐานันดร ๔” ยึดมั่นจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมาอย่างมั่นคง ที่ยังดำรงอยู่และปิดตัวไปตามสถานการณ์…!!!

กระทั่งบนเส้นทางน้ำหมึกเดินทางสู่“ยุคปัจจุบัน” เริ่มตั้งแต่ ปี ๒๕๔๙ คนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “คลื่นลูกใหม่ไฟแรง” เปิดตัวท่ามกลางกระแสยุคเทคโนโลยีที่ “ไร้พรหมแดน” ขันอาสา เป็น “กระจก” สะท้อนความเป็นมาเป็นไปของสังคมจังหวัดตรัง อีกหลายฉบับ อาทิ…!!!

หนังสือพิมพ์กันชน (รายสัปดาห์) นายณัฐพันธ์ แสงแก้ว ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บรรณาธิการ (เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ) นายพีรพล จันทรฝาก ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ข่าวสด หัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ตรังแนวหน้า (รายปักษ์) นางบุศยมาศ กลิ่นเพชร บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ตนตรัง (รายเดือน) นายวานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวเมืองตรัง (รายปักษ์) นายมนต์เจริญ ศรีมงคล บรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ตรังไทม์ (รายสัปดาห์) บก.ช้าง-นายมนตรี สังขาว รองประธานกลุ่มอันดามัน -หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตรังไทม์ รายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์อันดามันไทม์ (รายเดือน) นายพรชัย นาคพล บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์อมตะนิวส์ (รายเดือน) นางพรรณยุพา จันหมัดบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ตรังสปอร์ตนิวส์ (รายเดือน) นายถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม บรรณาธิการ ผู้สื่อข่าวโทร TPBS และ เนชั่น และ วารสารหอการค้าจังหวัดตรัง (รายเดือน) นางนิยดา อรรถการไพฑูรย์ บรรณาธิการ

มาถึงสื่อมวลชนในยุคดิจิตอลในยุคปัจจุบัน ที่เคยทำงานข่าวและยังทำงานอยู่ ทั้งเว็บไซต์ ทีวี และสื่อยุคใหม่อีกมากมาย อาทิ “อ้อย-กรรณิการ์ สุขะกิจ” ช่อง ๙ “เมธี เมืองแก้ว” “อำนาจ สุวรรณคีรี” ช่อง๓ ข่าวสด manager online “บก.ช้าง-มนตรี สังขาว” “ฟี่-ซอฟียะห์ ดือราแม” ไทยรัฐทีวี “พรชัย นาคพล” “ดาม-ทรงวุฒิ นาคพล” เดลินิวส์ อัมรินทร์ทีวี ข่าวสด “อ๊อด-ธรรมรัตน์ หนองตรุด” ช่อง ๙และทีวีดิจิตอลหลายสำนัก “เจี๊ยบ-สุนิภา หนองตรุด” เวิร์คพอยท์ทีวี ช่อง๘ TOPnews และตรังสตอรี่ “นง-คนิตา สีตอง” TPBS “นิด-บุณรดา กะเดช” “ปฏิพล อัยราชธนารักษ์” “ชนะดิษฐ์ จองวราห์ศรี” นักสื่อสารภาครัฐ “เอก-กรกฎ ศิริกู้มงคลมิ่ง” อดีตไทยรัฐทีวี “เดียร์-ศิรินทร์พัชร์ ทองศักดิ์” 77ข่าวเด็ดและโฟกัสภาคใต้ “อี๊ด-จิรศักดิ์ จาตุพรพิพัฒน์”(ปัจจุบันเสียชีวิต) หนังสือพิมพ์มติชน “วานิช สุนทรนนท์” เพจหนังสือพิมพ์ฅนตรัง “สุเชษฐ์ อิทธิชวลิตกุล” ช่อง ๗ ฐานเศรษฐกิจ PPTV “กิ้ม พิบูลธรรมศักดิ์” “มัณทิรา พิบูลธรรมศักดิ์”ช่อง ๗ “ศจี อิ้วสู” “มนต์เจริญ ศรีมงคล” ช่อง ๕ “บ่าวตุ้ง ถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม” ช่อง 8 , ThaiPBS , ช่อง 7 ,เนชั่น  “โต-จำนง ศรีนคร” สำนักข่าวอิศรา “นพรัตน์ โชติเกษมกุล” ช่อง ๗และ77ข่าวเด็ด “ร็อกกี้-ดนตรี วงษ์สุวรรณ” เพจศรีตรังเคเบิลทีวีคนข่าวท้องถิ่น “ดา-ปรีดา ณ พัทลุง” ตรังชาแนล เป็นต้น ไม่รวมสื่อวิทยุ-ดีเจอีกหลายท่านที่มีบทบาทด้านข่าวสารเมืองตรัง


จวบจนวันนี้ “นกน้อยในไร่ส้ม” จังหวัดตรัง ยังคงประกาศตนด้วยความุ่งมั่น และตั้งใจว่า จะรับใช้ประชาชนชาวจังหวัดรัง เป็น “ปากเป็นเสียง” และ “กระจก” สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ประการสำคัญพร้อม จะเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” เพื่อรักษาผลประโยชน์ใหกับสังคม ไปพร้อมๆกับการฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามวิถีทางแห่ง “วิชาชีพคนข่าวท้องถิ่น” จังหวัดตรัง สืบไป

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน