X

(คลิป)แห่ศพแบบโบราณ หามโลงด้วยแคร่ไม้ไผ่-พระสงฆ์ยืนบน กว่าจึงเมรุ แวะบ้านญาติ ยื้อแคร่ ตลอดทาง

 

ตรัง – ชาว อ.นาโยง และลูกหลานตระกูล “พรหมชู และรัตนะ”  ร่วมกันสืบสานประเพณีประจำถิ่นที่มีมานานกว่าร้อยปี โดยการแบกหามศพคุณทวดวัย 95 ปี ด้วยแคร่ไม้ไผ่ จากบ้านไปวัด เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ ระยะทางเพียงแค่ประมาณ 600 เมตร แต่ใช้เวลาเกือบ 1 ชม. เพราะมีการยื้อแคร่ มีการแวะเวียนบ้านญาติ หรือแวะบ้านเพื่อนบ้านคนรู้จัก จึงทำให้การแบกหาม ต้องยื้อ ต้องเลี้ยวไปตลอดเส้นทาง  ขณะที่พระภิกษุที่อยู่บนแคร่ก็ต้องเกร็งเท้า เกร็งตัวบ้างเป็นครั้งคราว ตามจังหวะการยื้อและการเลี้ยว แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้น และสนุกสนานตลอดเส้น โดยมีขบวนกลองยาวนำด้วย

ที่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 1 ชุมชนหน้าท่าควาย เขตเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ  อ.นาโยง จ.ตรัง พบว่าบรรดาลูกๆหลานๆเหลนๆ กำลังเร่งจัดทำแคร่ที่ทำจากไม้ไผ่สีสุก เพื่อทำเป็นแคร่สำหรับจะใช้แบกหามศพของนางปวน  พรหมชู หรือนามสกุลเดิม “รัตนะ”  อายุ 95 ปี ที่เสียชีวิตด้วยความชรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากลูกหลานได้ประกอบพิธีสวดอภิธรรมศพอยู่ที่บ้านจนครบจำนวน 3 วัน ก็ถึงกำหนดจะนำศพของคุณทวดปวนไปที่วัดรัตนาภิมุข ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ  600 เมตร เพื่อทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพตามหลักศาสนาพุทธ  ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่เหมือนใคร ปกติของคนทั่วไป หากญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตด้วยความชรา ก็ใช้วิธีบรรทุกศพเข้าวัดตามปกติ

แต่สำหรับชาวชุมชนหน้าท่าควาย และลูกหลานตระกูลพรหมชู และรัตนะ หากผู้เสียชีวิตด้วยความชรา ชาวชุมชนและลูกหลานจะยังคงสืบทอดประเพณีนำศพเข้าวัดแบบโบราณที่ยึดถือปฎิบัติสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี คือ การหามด้วยแคร่ไม้ ไผ่ และมีพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูป อายุมากที่สุด 72 ปี  ขึ้นไปยืนบนแคร่ข้างโลงศพ เพื่อนำทางดวงวิญญาณผู้ตายไปวัดด้วย โดยให้ลูกหลานและชาวชุมชนได้แบกหาม โดยมีคนร่วมขบวนแห่กว่า  100 คน  ทั้งนี้ แคร่ไม้ไผ่ดังกล่าว ชาวชุมชนและลูกหลานได้ทำจากไม้ไผ่สีสุก ซึ่งเป็นไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่และหนา ที่คุณทวดและลูกหลาน ซึ่งมีอาชีพทำข้าวหลาม เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านข้าวหลามโคกสะบ้าที่ขึ้นชื่อของ จ.ตรัง  นิยมนำไม้ไผ่สีสุกมาทำข้าวหลาม ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาว อ.นาโยง ลูกหลานจึงเลือกไม้ไผ่สีสุกมาทำเป็นแคร่แบกหาม  โดยขบวนนำโดยกลองยาว ที่มีลูกหลานร่วมฟ้อนรำ และต้องใช้คนแบกหามกว่า 30 คน โดยลูกหลานได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันหาม ทั้งนี้ ระยะทางเพียงแค่ประมาณ 600 เมตร แต่ใช้เวลาเกือบ 1 ชม. เพราะมีการยื้อแคร่ มีการแวะเวียนบ้านญาติ หรือแวะบ้านเพื่อนบ้านคนรู้จัก จึงทำให้การแบกหาม ต้องยื้อ ต้องเลี้ยวไปตลอดเส้นทาง  ขณะที่พระภิกษุที่อยู่บนแคร่ก็ต้องเกร็งเท้า เกร็งตัวบ้างเป็นครั้งคราว ตามจังหวะการยื้อและการเลี้ยว แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้น และสนุกสนานตลอดเส้น สำหรับกำหนดพิธีบำเพ็ญกุศลศพของคุณทวดปวน กำหนดงานวันที่ 13 – 16 มีนาคม ส่วนวันที่ 17 มีนาคม จะประกอบพิธีฌาปนกิจศพ  ที่วัดรัตนาภิมุขต่อไป

ทางด้านนางจินดา  แสงมี อายุ 62 ปี  ซึ่งเป็นหลานสาวของคุณทวดปวน  กล่าวว่า ประเพณีหามศพเข้าวัด เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมากว่า 100 ปี โดยปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตด้วยความชราทุกคน ลูกหลานก็จะหามศพด้วยแคร่ไม้ไผ่ไปวัดทุกคน ส่วนเหตุที่เลือกใช้ไม้ไผ่สีสุก เนื่องจากครอบครัวประกอบอาชีพทำข้าวหลามขายที่หมู่บ้านข้าวหลามโคกสะบ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้วเช่นกัน ดังนั้น ในการทำแคร่หามจึงเลือกใช้ไม่ไผ่สีสุก เพื่อความผาสุก เป็นสิริมงคล เพราะไม้ไผ่สีสุก เป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ และทำข้าวหลาม

 

ทางด้านนางเพ็ญศิริ  สังข์สัพพันธ์ อายุ 63 ปี ลูกสาวคุณทวดปวน  กล่าวว่า ประเพณีหามศพเข้าวัด เป็นประเพณีที่ชาวชุมชนหน้าท่าควายสืบทอดกันมายาวนานแล้ว หากผู้เสียชีวิตด้วยความชราก็จะช่วยกันทำแคร่หามแบบนี้   ซึ่งเป็นประเพณีที่หาดูได้ยาก โดยชาวชุมชนและลูกหลานตั้งใจจะสืบสานรักษาเอาไว้ตลอดไป  แสดงถึงความรักความสามัคคีด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน