X

ปลูกกล้วยหอมทองอนาคตไกล กยท.หนุน รุกห้างดัง ร้านสะดวกซื้อ และ ส่งออกต่างประเทศ

ตรัง  กยท.เร่งหนุนเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองรุกตลาดห้างดังและต่างประเทศ ทั้งนี้ สามารถปลูกในพื้นที่ยางปลูกใหม่ได้ประมาณ 3 ปี  เก็บผลผลิตได้ในระยะเวลาเพียง 8 เดือนแรก ต่อปีตัดได้ 6 รอบ  และสามารถคืนทุนได้ในรอบแรก ที่เหลือกำไรอีก 5 รอบจากการปลูก  

นายสุขทัศน์  ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านปฏิบัติการ พร้อมด้วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง และผู้บริหารการยางในพื้นที่จ.ตรัง เดินทางลงพื้นที่สวนกล้วยหอมทอง เนื้อที่ 8 ไร่ครึ่ง หรือประมาณ 2,100 ต้น ที่กำลังให้ผลผลิต ในพื้นที่หมู่ 4 บ้านทุ่งส้มป่อย ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง ของนายสมชาย  แก้วลาย อายุ 71 ปี อดีตผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จ.พัทลุง ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง เจ้าแรกเจ้าใหญ่เจ้าเดียวในจ.ตรัง  ขณะนี้ขายกล้วยหอมทองได้กิโลกรัมละ 12 บาท สูงกว่าราคาในตลาดทั่วไปถึง 1 เท่า โดยตลาดทั่วไปรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 6 บาท  โดยมีนายสมชัย หนูนวล  อายุ 40 ปี เจ้าของสวนนายปาน ซึ่งเป็นเกษตรกรหนุ่ม  และเป็นพ่อค้าคนกลาง รับซื้อ-ส่งขายผลไม้ในห้างโมเดิร์นเทรดภาคใต้และต่างประเทศ  เดินทางมาพบปะกับผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทยระดับประเทศและจังหวัดตรัง  เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกษตรชาวสวนยางปลูกกล้วยหอมทองแซมในสวนยางที่ปลูกใหม่  พร้อมกับสาธิตวิธีการมัดเครือกล้วยกับต้น การปลูกดูแลรักษา และรับฟังแนวทางการตลาด โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอนทั้งในภาคใต้และต่างประเทศ  และในราคารับประกัน ซึ่งตรงกับนโยบายของการยางแห่งประเทศไทย ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแซมยาง เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร

โดยนายสมชัย เจ้าของสวนนายปาน  กล่าวว่า  สวนนายปาน ส่งผลไม้ไทยมากกว่า 50 ชนิด แต่มุ่งเน้นหลักหลักเพื่อให้เกษตรกรปลูกได้โดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือ กล้วยหอม มะละกอ สับปะรด สละ และผลไม้ตามฤดูกาลที่มีอยู่อย่าง เช่น  ทุเรียน เงาะ  มังคุด  ลองกอง โดยรับทุกประเภทที่เป็นผลไม้ไทย ตลาดสำคัญคือ ห้างโมเดิร์นเทรดทุกสาขาในภาคใต้ เช่น ห้างแม็คโคร และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น   โดยเฉพาะขณะนี้กล้วยหอมทอง  ตลาดต้องการผลผลิตจำนวนมาก แต่ปัญหาต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา คือ ผลผลิตมีไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่ปลูกมีน้อย  วันนี้ จึงมาจับมือกับการยางแห่งประเทศไทย เพราะว่าการยางมีพื้นที่ปลูกยางใหม่แต่ละปีจำนวนมาก จึงมองเห็นโอกาส จึงมาขอความร่วมมือจากทางผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย เพื่อขอสนับสนุนพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีแหล่งน้ำ เกษตรกรมีความพร้อม มาจับมือกับสวนนายปาน  เพื่อทำการปลูกเน้นไปที่กล้วยหอมทองเป็นหลัก  เพื่อส่งเสริมให้ตลาดเติบโตมากยิ่งขึ้น ให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด  โดยขณะนี้กล้วยหอมส่งได้เพียงวันละ 1 ตันเท่านั้น ขณะที่ความต้องการประมาณวันละ 2 ตัน หรือประมาณดือนละ 60 ตัว    นอกจากนั้น ขณะนี้กำลังเริ่มบุกเบิกตลาดต่างประเทศ  เช่น ญี่ปุ่น  และตลาดฟรีซดราย (Freeze Dried) ส่งไปยังประเทศเยอรมัน โดยเริ่มต้นส่งผ่านมาเลเซีย  โดยต่างประเทศตอนนี้ตนเองรับออเดอร์มาอาทิตย์ละ 30 ตัน รวมทั้งตลาดซาอุดิอาระเบีย    ซึ่งตนเองต้องการผลไม้จากเกษตรกรในภาคใต้เป็นจำนวนมากในราคารับประกัน และสูงกว่าราคาทั่วไป  เพราะผลไม้เป็นสินค้าที่ขายได้ทั้งปี ไม่มีฤดูกาล หากทำได้เกษตรกรก็จะมีรายได้ต่อเนื่องตลอดเช่นกัน ไม่เว้นแม้สถานการณ์วิกฤติ ก็จะยิ่งเป็นโอกาส เช่น สถานการณ์วิกฤตโควิดที่ผ่านมา มีการปิดจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวอย่างจ.ภูเก็ต นทท.ต่างชาติติดค้างในประเทศ ทำตลาดกล้วยหอมทองเติบโตถึง 300% เพราะคนต้องกินในทุกสถานการณ์ จึงเป็นโอกาสของเกษตรกร

ทางด้านนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า  โชคดีที่ได้มาเยี่ยมเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการดูแลของการยาง  คือ สวนกล้วยหอมทอง ของนายสมชาย แก้วลาย โดยการยางมีนโยบายส่งเสริมให้มีการหารายได้ระหว่างทำสวนยาง  โดยใช้พื้นที่ว่างเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เกษตรกรมีรายได้ระหว่างรอกรีด ฟังพ่อค้าคนกลางพูดแล้ว  การยางก็พร้อมส่งเสริมเกษตรกร ตามนโยบายสวนยางยั่งยืน และต้องมีความมั่นคงทางอาหาร   โดยประเทศไทยมีสวนยางพาราประมาณ 20 กว่าล้านไร่ และมีคนโค่นยางทุกวัน จึงพร้อมสนับสนุน  โดยยึดหลักการตลาดนำการผลิตภายใต้คุณภาพที่ผู้ประกอบการกำหนด เป็นธุรกิจที่คืนทุนใน 1 รอบ ในการส่งเสริมเกษตรกรจะต้องมีตลาดที่แน่นอน ทาง กยท.ก็พร้อมจะจับมือเดินไปพร้อมกันทั้ง ตลาด เกษตรกร และกยท.

ทางด้านนายณรงค์ศักดิ์  ใจสมุทร  ผอ.การยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง  บอกว่า  ดูแลพื้นที่สวนยาง 6 จังหวัด  คือ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง   กระบี่ พังงา  และภูเก็ต โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครศรีฯ พัทลุง ตรัง มีเป้าหมายในการโค่นยาง เพื่อปลูกทดแทนในแต่ละปีประมาณ 20,000 กว่าไร่  จึงเป็นโอกาสของเกษตรกร ที่จะสร้างรายได้ เพิ่มการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ช่วงปลูกยางใหม่ให้มีรายได้ต่อเนื่อง  ซึ่งการพูดคุยในวันนี้เป็นลักษณะมุ่งเน้นเรื่องการตลาดนำการผลิต มีตลาดแน่นอน มีผู้ซื้อ มีการประกันราคารับซื้อกลับให้กับเกษตรกรอยู่ในราคาที่ค่อนข้างจะสูง น่าจะเป็นที่พอใจ   เช่น แปลงตัวอย่างของนายสมชาย  แก้วลาย ซึ่งขายให้กับสวนนายปานอยู่แล้ว  พบว่าผลผลิตเฉลี่ยรายได้ต่อเดือน ในการผลิตกล้วยหอมแต่ละรุ่น ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน  ปลูกได้แปดเดือนเก็บผลผลิตได้ เกษตรกรจะมีกำไรจากการผลิตกล้วยไร่ประมาณ 80,000 บาท  จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง อยากให้มีความมั่นคงด้านครอบครัว และความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับสังคมและภูมิภาคของภาคใต้

ทางด้านนายภิรม  หนูรอด  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง  กล่าวว่า  ฟังการตลาดทำให้เกิดความมั่นใจขึ้น เดิมพนักงานในตรังที่ลงพื้นที่หากไม่มั่นใจในด้านตลาด ก็ไม่มั่นใจที่จะไปบอกกับเกษตรกร  แต่วันนี้ฟังทั้งด้านการตลาด และฟังผู้บริหาร กยท.ตรังก็พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ โดยในปี 2565  จ.ตรัง จะมีพื้นที่โค่นใหม่ไม่น้อยกว่า  15,000 ไร่ วางแผนแล้วจะคัดสรรเกษตรกรหัวก้าวหน้าประมาณ 50 ราย  ในทุกอำเภอ  ส่วนเงินทุน กยท.มีเงินสนับสนุนส่งเสริมอาชีพ ตาม  พ.ร.บ การยางฯ มาตรา 49 (5)  ละไม่เกิน 50,000 บาท แต่ขณะนี้ กยท จะปรับให้ได้รายละ 100,000 บาท ในอนาคต  ซึ่ง กยท.มีเงินเพียงพอ พร้อมสนับสนุนเกษตรกร

ด้านนายสมชาย  แก้วลาย  เกษตรกร  กล่าวว่า เนื้อที่ 8 ไร่ครึ่ง หรือประมาณ 2,100 ต้น  ตนเองลงทุนรอบแรก  400,000 บาท   และตัดขายสามารถคืนทุนได้ในรอบแรก ซึ่งต้นทุนของตนอาจจะมากกว่าคนหนุ่มสาว เพราะตนทำไม่ไหว ต้องจ้างทุกอย่าง ต้นทุนอยู่ที่ต้นละ 200 บาท แต่คนอื่นต้นทุนเพียงประมาณ 120 บาทต่อต้น  แต่หากเกษตรกรมีแค่  2-3 ไร่ ต้นทุนประมาณ 80 บาทต่อต้น ซึ่งตัดครั้งแรกก็คุ้มทุนแล้ว โดยการปลูกแซมยางสามารถปลูกได้ถึง 3 ปี แต่ละปีตัดได้ประมาณ 6 รอบ จะได้กำไรถึง  5 รอบ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน