X

ดัน “คลองห้วยยาง” เป็นแหล่งน้ำเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟู ต้นแบบพัฒนาแหล่งน้ำของจว.

จังหวัดตรัง เตรียมพัฒนาคลองห้วยยาง เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัด ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้จังหวัดเสนอชื่อแหล่งน้ำเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟู เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำในแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดตรังได้เสนอโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำคลองห้วยยาง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นั้น ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัดขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน และได้มีการเชิญประชุมเพื่อเตรียมการดำเนินการแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

โดยคณะกรรมการการดำเนินการในระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ผู้แทนจิตอาสาภาคประชาชน จิตอาสา 904 และผู้นำชุมชนในพื้นที่ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำแผนงานการดำเนินงานพัฒนา ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการดำเนินงานตามแผนพัฒนา มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำ คูคลองในพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเกษตร ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ และเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ โดยน้อมนำการดำเนินงานตามโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเป็นแนวทางในการดำเนินการ ด้วยการให้จิตอาสาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเป็นผู้ริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุกกิจกรรม และมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน

ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยด้วยว่า คลองห้วยยางที่ได้คัดเลือกเพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัด มีความยาวประมาณ 3,600 เมตรเศษ ความกว้างตลอดสาย 5 – 15 เมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณศาลเจ้าปักกุง ถึงบริเวณหลังหลังการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ตำบลทับเที่ยง ปัจจุบันประสบปัญหาวัชพืชขึ้นปกคลุม มีขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ตลอดจนสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ลักษณะการดำเนินการมีทั้งขุดลอกดินทับถม กำจัดวัชพืช ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ และปรับปรุงทางเดินบริเวณริมคลอง

ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ปริมาณผักตบชวา ขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูล วัชพืชต่างๆ ตลอดจนสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำมีปริมาณลดลงหรือหมดไป ประชาชนในพื้นที่มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ลำคลองและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน