ตรัง ชาวบ้านร้องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นการจัดเก็บอัตราภาษีตามกฎหมายใหม่ แพงมหาโหด ชาวบ้านจำนวนมากไม่มีเงินจ่าย วอนรัฐออกมาตรการช่วยเหลือ หรือช่วยลดหย่อน เพราะยังเดือดร้อนหนักจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด ด้านปลัดเทศบาลนครตรัง ชี้แจง คำนวนตามกฎหมายใหม่ รับภาษีแพงจริง
ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่เขตเทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง ถึงความเดือดร้อนจากการที่เทศบาลนครตรัง จัดเก็บอัตราภาษีที่ดินใหม่ ตามกฎหมายใหม่ โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ทำให้ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก หลายครอบครัวไม่มีเงินจ่ายภาษี จึงเตรียมเข้ายื่นคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นางกานดา อรรณพ อายุ 84 ปี อยู่บ้านเลขที่ 390 ถนนกันตัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง นำผู้สื่อข่าวดูบริเวณหลังบ้านซึ่งปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม รวมทั้งตะไคร้ และพืชสวนครัว ส่วนด้านหลังมีมะละกอ มะพร้าวเต็มพื้นที่ เก็บผลผลิตได้แล้ว โดยคุณยาย บอกว่า อาศัยอยู่กับลูกหลาน และมีลูกชายอายุ 46 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากอาการป่วยทางสมอง จะต้องเลี้ยงดูอีกหนึ่งคน และคุณยายเองมีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 800 บาท โดยคุณยายบอกว่า ปีที่ผ่านมาคุณยายจ่ายค่าภาษีจำนวน 1,598 บาท แต่ในปีนี้ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 31,212 บาท โดยคุณยายบอกว่าคุณยายอายุมากแล้วไม่มีรายได้แต่อย่างใด คงมีลูกๆหลานๆเลี้ยงดูและมีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 800 บาท และยังต้องเลี้ยงดูบุตรชาย ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยมีอาการทางสมองอีกหนึ่งคน ซี่งเทศบาลเรียกเก็บภาษีจำนวนมากขนาดนี้ ยายไม่มีเงินที่จะมาจ่ายอย่างแน่นอน และบอกว่าถ้าหากเก็บจาก 1,500 บาท เป็นเก็บ 2,000 บาท หรือเรียกเก็บจำนวน 2,500 บาท คุณยายสามารถขอเงินจากลูกๆหลานๆ มาจ่ายได้ แต่เมื่อเทศบาลเรียกเก็บสูงถึง 30,000 กว่าบาท ยายไม่มีเงินไปจ่ายอย่างแน่นอน และเตรียมจะเข้าไปยื่นหนังสือคัดค้านที่เทศบาลต่อไป พร้อมเรียกร้องความเห็นใจ เพราะเป็นคนชรา ไม่มีรายได้ และภาษีแพงมากเกินไป ยายไม่มีกำลังจะจ่าย วอนขอให้รัฐบาลช่วยลดหย่อน หรือช่วยเหลือ ถ้ามากเกินไปไม่มีกำลังจ่าย
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
ทางด้านนางสมพรจริงจิตร อยู่บ้านเลขที่ 342 / 1 ถนนกันตัง พร้อมน้องชาย พาไปดูสภาพพื้นที่บริเวณหลังบ้าน ก็บอกว่า ปีที่แล้วถูกเรียกเก็บ 700 กว่าบาท แต่ในปีนี้ถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนเงิน 7,795 บาท สภาพพื้นที่ที่เห็นก็ไม่ได้อยู่ติดถนนใหญ่ หรือไม่ได้สร้างเป็นบ้านให้เช่าแต่ประการใด แต่ปลูกพืชผลการเกษตร พืชผักสวนครัวไว้รับประทานในครัวเรือน แต่ถูกเรียกเก็บสูงจนเกินไป เตรียมจะเข้ายื่นร้องคัดค้านการเรียกเก็บดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ด้านนางสาวสุณี ทอนหยี อาศัยถนนวิเศษกุล กล่าวว่า เมื่อได้รับหนังสือการประเมิน เพื่อเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี 2565 พบว่าในปีนี้จะต้องจ่ายภาษีสูงถึงจำนวน 8,010 บาท โดยปีที่แล้วจ่ายเพียงประมาณ 800 กว่าบาทเท่านั้น โดยที่ดินที่ถูกประเมินให้ต้องจ่ายภาษีสูงมากนั้น เป็นถนนระยะทางยาวประมาณ 100 เมตร เข้าไปบ้านหลายหลัง ซึ่งมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ และเป็นถนนสาธารณะใครก็สามารถเข้าออกได้ แต่ยังไม่ได้ยกให้เป็นของเทศบาลเทศบาล โดยเทศบาลบอกว่า ต้องยกให้เป็นของเทศบาลจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ตนยังไม่ได้ยกให้ แต่ภาษีแพงมาก ปีที่แล้วจ่ายเพียง 800 กว่าบาท แต่มาปีนี้ถูกเรียกเก็บสูงถึงกว่า 8,000 บาท
ทางด้านนายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง กล่าวถึงเหตุผลที่การเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่สูงของปีนี้ สืบเนื่องมาจากว่า รัฐบาลมีการออกกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พุทธศักราช 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แทน พ.ร.บ โรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่เคยบังคับใช้จัดเก็บภาษีมายาวนาน ซึ่งในการประกาศใช้กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้ ทำให้การเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นในทุกหมวด ทั้งหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง โดยหมวดที่ดินแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ประเภทย่อย ทั้งพื้นที่การเกษตร , ที่อยู่อาศัย , อื่นๆหรือประกอบการค้า ,ที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือที่ดินใช้ประโยชน์หลายประเภทรวมกัน ส่วนภาษีเกี่ยวกับโรงเรือน แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท แต่ไม่มีที่ดินใช้ประโยชน์หลายประเภทรวมกัน ซึ่งที่ดินในความครอบครองของประชาชน จะต้องถูกคำนวณเป็นภาษีทั้งหมด โดยใน 3 ปีแรกของการบังคับใช้ เพื่อเป็นการบรรเทาการชำระภาษี มาตรการ 96 ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษี สำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม และ มาตรา 97 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีได้รับการประเมินภาษีในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสีย หรือพึงชำระในปีก่อนที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อน เหลือจำนวนภาษีเท่าใด ให้ผู้เสียชีวิตภาษีชำระภาษี คือ ปีที่ 1 ( พ.ศ.2563) ร้อยละ 25 ของจำนวนภาษีที่เหลือ ,ปีที่ 2 ( พ.ศ.2564) ร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่เหลือ และปีที่ 3 ( พ.ศ.2565) ร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่เหลือ ประกอบกับ ในปี 2563 -2564 รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออก พ.ร.ฎ.ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ให้ประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่า เริ่มต้นจ่ายภาษีใหม่มาแล้วตั้งแต่ปี 2563 ตาม พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทน พ.ร.บ.โรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเก่าที่ใช้มายาวนาน แต่ในปีนี้ ( พ.ศ. 2565 ) จับเก็บร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่เหลือ และรัฐบาลไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ออกมาช่วย จึงทำให้ประชาชนต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ ปลัดเทศบาลนครตรัง ได้ยกตัวอย่าง การจัดเก็บ โดยสมมุติว่า แปลงเดิมตาม พ.ร.บ.โรงเรือนและที่ดิน มีการจัดเก็บภาษีปีละ 1,000 บาท พอมีการคำนวณภาษีตามกฎหมายใหม่ กลายเป็น 2,000 บาท ซึ่งชาวบ้านจะต้องจ่าย แต่กฎหมายบังคับให้สามปีแรกต้องลด เช่น ปีแรกให้ลดร้อยละ 25 เท่ากับว่า 1,000 บาทเดิม ที่จะต้องจ่ายรวมกับ 1,000 บาทหลัง ซึ่งจะต้องจ่าย 250 บาท ในภาษีในปีนั้น ประชาชนจึงจ่ายเพียงจำนวน 1,250 บาท แต่ช่วงโควิด รัฐบาลยังออกกฏหมายบรรเทาการชำระภาษีให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดออกมาอีกร้อยละ 90 ทำให้ต้องจ่ายจริงในปีแรกเพียง 125 บาทเท่านั้น โดย 2 ปี ที่ผ่านมามีทั้งลดภาษี และช่วยโควิดร้อยละ 90 จึงทำให้ประชาชนจ่ายภาษีน้อยมาก โดยไม่ได้รู้สึกว่าในสองที่ผ่านมานั้น ท้องถิ่นได้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราใหม่ตามกฏหมายใหม่มาแล้ว เป็นเวลา 2 ปี และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แต่ในปีที่ 3 ปีนี้รัฐบาลกำหนดให้จัดเก็บในส่วนที่เหลือ 75% จึงทำให้ประชาชนจ่ายแพงกว่าทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับในปีนี้รัฐบาลไม่ได้ออกกฏหมายยกเว้นการจัดเก็บภาษี 90% เพื่อช่วยโควิด -19 เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองจ่ายภาษีสูงมาก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนและทุกคนเกิดอาการตกใจ อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลก็รับทราบปัญหาดี และยอมรับว่าภาษีแพงจริง เทศบาลก็เห็นใจและเข้าใจประชาชน เทศบาลไม่ได้เรียกเก็บโดยพละการ หรือกำหนดอัตราเองตามอำเภอใจ และไม่มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยเทศบาลและตัวแทนประชาชนลงประเมินเหมือนกฎหมายเก่า แต่เป็นการจัดเก็บตามกฎหมายใหม่ ซึ่งเหมือนกันหมดทั่วประเทศ โดยปีนี้ (2565) ยังมีส่วนลดตามประกาศแนบท้าย พ.ร.บ. แต่ในปีหน้า (2566) การจัดเก็บภาษีก็จะต้องจัดเก็บเต็มรูปแบบ ประชาชนก็จะต้องจ่ายเต็มรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หากประชาชนเห็นว่า แบบประเมินและอัตราภาษีที่ประเมินและแจ้งไปนั้น สูงเกินจริง ประชาชนสามารถมายื่นหนังสือคัดค้านการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ที่กองคลังเทศบาลนครตรัง จะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบแปลงที่ดินใหม่ โดยขณะนี้มีประชาชนเข้ายื่นคัดค้านแล้วนับ 100 ราย โดยเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบการทำประโยชน์ใหม่ โดยพบว่ามีทั้งที่ต้องคิดคำนวณใหม่ และยังคงอัตราเดิม แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งที่เริ่มปลูกกล้วย หรือทำประโยชน์ในที่ดิน หลังเห็นอัตราภาษีที่ต้องจ่ายก็มี โดยกำหนดการจ่ายจะต้องภายใน 30 เมษายน 2565 แต่ทั้งนี้ หากประชาชนเห็นว่าอัตราภาษีที่ต้องจ่ายสูงเกินไป สามารถผ่อนจ่ายได้ทั้งหมด 3 งวด และยืนยันที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแล้ว ทั้งเสียงตามสายของเทศบาล รวมทั้งแจกแผ่นพับไปตามบ้านเรือน เพื่อประชาสัมพันธ์ แต่ยอมรับว่าในเอกสารแผ่นพับดังกล่าว เป็นสาระของกฎหมาย ซึ่งอาจเข้าใจยาก ส่วนตัวอ่านยังเข้าใจยาก จึงทำให้ประชาชนไม่เข้าใจกฎหมายภาษีใหม่ดังกล่าวนี้ หากประชาชนสงสัย ให้ติดต่อที่เทศบาลได้ พร้อมให้คำปรึกษา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: