ตรัง ประกาศเขตโรคระบาด “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF” ในเขตอำเภอนาโยง ห้ามเคลื่อนย้ายหมู ซากหมู เข้าเขตระบาด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นที่น่าสังเกตว่าตรวจยืนยันเชื้อตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ถัดมาถึง 17 วัน จึงลงนามในประกาศจังหวัดตรัง และนานถึง 22 วัน จึงเผยแพร่ต่อสาธารณะ
วันที่ 30 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดตรัง และประชาสัมพันธ์จังหวัดตรังได้ออกประกาศเผยแพร่ “กำหนดเขตโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่ารวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอ” ระบุว่า เรื่องกำหนดเขตโรคระบาดชนิดแอฟริกาในสุกร ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่ารวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอ
ตามประกาศจังหวัดตรังเรื่องกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่าลงวันที่ 18 มีนาคม 2564 โดยได้กำหนดให้พื้นที่ทุกอำเภอเป็นเขตเฝ้าระวังโรคฯนั้น เนื่องจากจังหวัดตรังได้รับรายงานผลการตรวจทางไวรัสวิทยา จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตว-แพทย์ภาคใต้ ตอนบน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ปรากฏว่าพบสารพันธุกรรมของเชื้อ African Swine Fever virus จากตัวอย่างเลือดสุกร ในท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลโคกสะบ้าอำเภอนาโยง โดยที่โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดสำคัญ ในสุกรสามารถติดต่อได้ในสุกรทุกช่วงอายุ และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยาในการป้องกันและรักษาโรค กรณีหากมีการระบาดขยายเป็นวงกว้างออกไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมผลิตสุกร ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในพื้นที่จังหวัดตรังเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพอาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ยกเลิกการกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคเฉพาะพื้นที่อำเภอนาโยง ตามประกาศจังหวัดตรังเรื่องกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคติดต่อชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่าลงวันที่ 18 มีนาคม 2564 และกำหนดให้ทุกท้องที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ในอำเภอนาโยงจังหวัดตรัง เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่ารวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอ
ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามข้อ 1 เข้าออกหรือภายในเขตโรคระบาดเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายตามมาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาด 2558 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565 ลงชื่อนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าจากเนื้อหาประกาศฉบับดังกล่าวที่ระบุ ได้รับผลตรวจยืนยันพบเชื้อ ASF เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ถัดมาถึง 17 วัน จนกระทั่งวันที่ 25 มี.ค. นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา จึงลงนามในประกาศ และมีการเผยแพร่ประกาศเพื่อแจ้งเตือนต่อสาธารณะในเว็บไซต์จังหวัดตรังในวันนี้ (30 มี.ค.) หากนับตั้งแต่ทราบผลยืนยันพบเชื้อ กว่าจะแจ้งเตือนต่อสาธารณะ ใช้เวลาถึง 22 วัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: