ตรัง-กลุ่ม Draw for sea ร่วมชาวบ้านเกาะลิบง สร้างสตรีทอาร์ท “บ้านมาเรียม” ส่งเสริมท่องเที่ยว-อนุรักษ์ จินตนาการ การ์ตูนดัง “เดอะลิตเติ้ลเมอร์เมด” เหล่าผองเพื่อนสัตว์ทะเล
ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่เกาะลิบง ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เหล่าศิลปินในนามกลุ่ม Draw for sea รวมถึงเหล่าเด็กๆ และชาวบ้านในพื้นที่ กำลังขะมักเขม้นกันช่วยวาดภาพความสมบูรณ์ของโลกใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะภาพสัตว์ทะเลน่ารักสีสันสดใสที่มีอยู่ในพื้นที่ ลงบนพื้นสะพานหอชมพะยูนระยะทางเกือบร้อยเมตร บริเวณ “อ่าวบาตูปูเต๊ะ” ซึ่งเป็นบ้านของ “พะยูนน้องมาเรียม” รวมถึงที่ผนังอาคารเรียน โรงเรียนบ้านเกาะลิบง และโรงเรียนบ้านบาตูปเต๊ะ อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย แม้จะต้องเจอกับสภาพอากาศทั้งแดดร้อนสลับกับสายฝน ซึ่งเป็นปกติของปักษ์ใต้ เมืองฝน 8 แดด 4
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เผยคืบหน้าคดีคนร้ายยิงนายกเล็กรือเสาะ เสียชีวิต ยังไม่ตัดประเด็นส่วนตัว
เหล่าสัตว์ทะเลถูกแต่งแต้มตามจินตนาการของเด็กๆที่มีวิถีชีวิตผูกพันและดำรงชีวิตกับท้องทะเลมาตั้งแต่เกิด ด้วยจินตนาการ สีสัน และความตั้งใจ จนออกมาสวยงามราวมีชีวิต โดยเฉพาะ พะยูน ในอิริยาบทของ “แม่-ลูกมาเรียม” ที่กำลังว่ายน้ำกินหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์อย่างมีความสุข เคล้าคลอหยอกเล่น แสดงถึงสายสัมพันธ์แม่ลูก ที่ผูกโยงไว้ด้วยความรัก รวมถึงความน่ารักเหล่าเพื่อนๆของ “มาเรียม” อาทิ เต่าทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก ปลาการ์ตูน ม้าน้ำ ปลาดาว ตลอดจนความสมบูรณ์ดั่งสวรรค์ของเหล่าปะการัง ดอกไม้ทะเล โดยเฉพาะ “หญ้าทะเล” ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายของโลก บนพื้นที่แห่งนี้
สำหรับไฮไลท์ของงานสตรีทอาร์ทในครั้งนี้มีหลายจุด อย่างเช่น ที่สะพานหอชมพะยูน เป็นภาพเข็มทิศโบราณตรงกึ่งกลางลานสะพาน ซึ่งบอกพิกัดตรงกับตำแหน่งจริงของพื้นที่ นอกจากนี้หากใครจำได้เรื่อง “แม่ส้ม” ซึ่งเป็นเรือคายัคสีส้มที่ “มาเรียม” มักว่ายเข้ามาคลอเคลียด้วยคิดว่าเป็นแม่ เหล่าศิลปินก็วาดเอาไว้ให้คนสามารถมานั่งพายถ่ายรูปได้เช่นกัน และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ที่โรงเรียนบ้านเกาะลิบง ที่สะท้อนภาพ “บ้านของมาเรียม” ซึ่งมีเพื่อนเต่าทะเลกำลังมาเล่นกัน ตามจินตนาการจาก การ์ตูน “เงือกน้อยผจญภัย”(The Little Mermaid) เป็นหนังแอนิเมชันในปี 1989 ได้รับรางวัลออสการ์ 2 สาขา ได้แก่ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยตัวมาเรียมทัดดอกไม้ปลาดาวไว้ที่หูเหมือนนางเงือก ตามตำนานโบราณเกาะลิบง ที่เล่าว่าพะยูนนั้นเกิดจากมนุษย์ผู้เป็นหญิงสาว
เกาะลิบง ถือเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงพะยูน” และเป็นจุดเดียวกันกับกรณีของพะยูนน้องมาเรียม ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนเกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในระดับประเทศ หากย้อนกลับไป ความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ได้เริ่มเกิดเป็นรูปธรรมนับแต่ปี 2562 ในกรณีของมาเรียม ซึ่งเป็นลูกพะยูนเพศเมียที่ได้มาเกยตื้นที่อ่าวทึง ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ขณะมีอายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น เปรียบกับมนุษย์ยังอยู่ในวัยทารก เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันกลับสู่ทะเลหลายครั้ง แต่ลูกพะยูนมาเรียมยังคงว่ายวนเวียนในจุดเดิม เจ้าหน้าจึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม คือบริเวณอ่าวบาตูปูเต๊ะ ซึ่งมีความพร้อมทุกด้าน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทช. ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสา ทีมสัตวแพทย์
เจ้าหน้าที่ต้องต้องคอยป้อนนมจนกว่ามาเรียมจะแข็งแรงพอที่จะกินหญ้าทะเลได้อย่างเดียว มาเรียมจึงถือเป็นพะยูนตัวแรกของไทยที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ การดูแลมาเรียมเป็นงานที่เหนื่อยเอาการ แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ก็ผูกพันกับมาเรียม รู้สึกว่าเหมือนลูกหลาน แต่สุดท้ายโชคร้ายที่มาเรียมต้องมาจากไปด้วยขยะพลาสติกตามผลชันสูตร จนรัฐบาลต้องจัดให้มี “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” และ “วันพะยูนแห่งชาติ” ขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี โดยในปี 2565 นี้ มีเสียงเรียกร้องจากคนในชุมชน อยากให้มีการจัดงานขึ้นที่ “บ้านของมาเรียม” เกาะลิบง
โครงการ “วาด เพื่อ ทะเล” หรือ Drae for Sea ระหว่างวันที่ 9-19 เมษายน ริเริ่มโดย “แพรว-ศุภลักษณ์ ประภาศิริ” Designer and Illustration Artist ศิลปินหัวหน้าโครงการ ที่คิดออกแบบและนำเสนอโรงการ พร้อมชักชวนเพื่อนชาวศิลปินมาร่วมกันรังสรรค์งานศิลปะ ในแนวความคิดการใช้งาน “ศิลปะเพื่อการสื่อสารงานอนุรักษ์ทางทะเล” โดยมีภาคีทั้งร่วมงานและสนับสนุน อาทิ กลุ่มศิลปิน , กรมทช. , อบต.เกาะลิบง ,กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ , ทีมพิทักษ์ดุหยง , นักออกแบบและนักวาดภาพประกอบ , นักทำ VDO content หรือแม้แต่ภาคเอกชน อย่าง บริษัท Nippon paint , บริษัท EPG อุตสาหกรรมพลาสติก ที่สนับสนุนสีพร้อมอุปกรณ์อย่างดีสำหรับการทำงาน ที่สำคัญมีการลงพื้นที่สำรวจ ศึกษษาสภาพพื้นที่ รวมทั้งสอบถามความเห็นความต้องการของคนในชุมชนก่อนดำเนินการ จึงถือได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงที่ถูกคิดโดยศิลปินและนักออกแบบเพื่อชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
“แพรว-ศุภลักษณ์ ประภาศิริ” Designer and Illustration Artist ศิลปินหัวหน้าโครงการ บอกว่า ต้องขอขอบคุณชาวบ้านเกาะลิบงเป็นอย่างมากที่มาช่วยกัน โครงการของเราถูกออกเเบบมาให้ชุมชนมีส่วนร่วม อยากให้ทุกคนมาร่วมด้วยกับเรา หวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์เเละเเรงบันดาลใจให้กับทุกคน ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของพะยูนเเละใส่ใจกับพื้นที่สาธารณะ อยากให้พื้นที่หอชมพะยูน เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ใช้พื้นที่นี้เพื่อความสุขร่วมกัน เด็กๆ ได้วิ่งเล่นผู้ใหญ่ได้มาเดินเล่น มานั่งกินข้าว ซึ่งงานศิลปะจะสื่อไปยังการอนุรักษ์พะยูน หญ้าทะเล เป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างวิชาการเเละงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ใช้งานศิลปะสื่อสารการอนุรักษ์ เเละอนาคตข้างหน้า จะเข้ามาพัฒนาในเฟสต่อ ๆ ไป การมาทำในครั้งนี้เป็นการนำร่องโครงการให้เกิดศูนย์รวมด้านศิลปะการออกแบบเพื่ออารอนุรักษ์ในอนาคต อยากให้พื้นที่ตรงนี้ได้รับการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น สถาปัตยกรรม งานเเลนด์สเคป ภูมิทัศน์ อยากให้เกิดศูนย์พะยูน เเละจะนำศิลปะทุกอย่างที่อยู่ตรงนี้ไปต่อยอดเป็น ผลิตภัณฑ์ชุมชน เเละนำรายได้มาอนุรักษ์พะยูนและพัฒนาชุมชนต่อ นี่คือความคาดหวังของเราในการสร้างมิติที่เกี่ยวโยงจากงานศิลปะ
“แม้จะเหนื่อยอดหลับอดนอน แต่ดีใจมาก ๆ ที่ชาวบ้าน เด็ก ๆ เมื่อทราบว่า ทางทีมเรามาทำงานศิลปะ ซึ่งเราเริ่มต้นที่หอชมพยูน เมื่อเด็กๆเเละคนในพื้นที่เห็นก็ตามมา ทุกคนให้ความสนใจ อยากให้บนเกาะลิบงมีงานศิลปะ เด็กๆก็กระตือรือร้น อยากมาศึกษาร่วมกับเรา เพราะที่เกาะลิบงก็ยังขาดครูศิลปะ เเละเราอยากให้งานศิลปะช่วยกระตุ้นการอนุรักษ์ เป็นศิลปะเพื่อการศึกษาให้กับพวกเขา และขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม เพื่อนศิลปินที่มาช่วยกัน เพราะงานสเกลใหญ่มากภายใต้เวลาที่จำกัด ที่สำเร็จลงได้เพราะน้ำใจของทุกๆคน”แพรว-ศุภลักษณ์ ระบุ
ด้าน ด.ช.ธนทรัพย์ คลังยิ่ง นักเรียนชั้นป.5 โรงเรียนบ้านเกาะลิบง ที่มาช่วยวาดภาพ กล่าวว่า รู้สึกสนุกมากที่ได้มาวาดรูปกับพี่ ๆ ได้ทั้งความรู้ มองไปมุมไหนของอาคารในโรงเรียนก็พบแต่ความสวยงาม ตนได้เป็นลูกมือ วาดสัตว์ทะเล เช่น พะยูน เต่าทะเล ปลาดาว ปลาหมึก ม้าน้ำ ด้วย ส่วนเพื่อนผู้หญิงที่มาด้วยไม่ได้วาดเเต่มาช่วยระบายสี ปกติไม่เคยวาดภาพเเบบนี้มาก่อน เเละรู้สึกชอบงานศิลปะ เเละรู้สึกรักสัตว์ทะเลพวกนี้ เพราะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม
ขณะที่ นายอยุทธา ศรีจันทร์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะลิบง กล่าวว่า ถือว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ทีมศิลปินอาสามาวาดรูปผนัง ให้กับโรงเรียนเเละบริเวณสะพาน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเกาะลิบง เเละศิลปินได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน เด็กนักเรียน ได้มีส่วนร่วม ถือเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เด็กนักเรียนได้เรียนรู้งานศิลปะ ได้ฝึกปฏิบัติ ได้รู้ความสามารถของตนเอง โดยศิลปินที่มาวาดรูป ใช้เเนวคิดการอนุรักษ์พยูน หญ้าทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของเกาะลิบง การสื่อสารผ่านรูปภาพทำให้เกิดจินตนาการ เกิดความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น เกิดการอนุรักษ์ การยกศิลปะมาไว้ที่ผนังโรงเรียนถือเป็นการสร้างเเหล่งเรียนรู้ กระตุ้นการเรียนรู้ เป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ ขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่มอบสิ่งดี ๆ ให้กับโรงเรียนบ้านเกาะลิบง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: