ตรัง ผลการคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ “ร้านจริงจิตร ตรัง” ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ระดับดี ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
วันนี้ (23 เมษายน 2565) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เผยผลการคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู อาจารย์กรสวรรค์ชนก ตั้งปอง และอาจารย์วิสุทธิ์ นุชนาบี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้นำเสนอข้อมูลของ ร้านจริงจิตร ตรัง เข้าชิงรางวัลและได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ระดับดี ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ เผยว่า ที่ผ่านมา ร้านจริงจิตร ได้รับการทำนุบำรุงซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ภายใต้แนวความคิดในการรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิม (Authenticity) ของตัวสถาปัตยกรรมเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งวัสดุก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง และฝีมือช่าง รวมไปถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม การอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมร้านจริงจิตรอย่างเข้าใจและมีส่วนร่วมของเจ้าของอาคารส่งผลให้ร้านจริงจิตรยังคงคุณค่าความสำคัญในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน และเป็นหนึ่งในแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของจังหวัดตรัง อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจของเมืองตรัง รวมทั้งการสะท้อนถึงภูมิปัญญาแห่งฝีมือช่างชาวจีน จากอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน
ร้านจริงจิตร ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 193 ถนน ห้วยยอด ตำบล ทับเที่ยง อำเภอ เมืองตรัง จังหวัด ตรัง ก่อสร้างขึ้นประมาณปีพุทธศักราช 2465 ปัจจุบันมีอายุครบ 100 ปี เป็นร้านขายขนมมงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน แห่งแรกๆ ของจังหวัดตรัง และยังคงขายมาจนถึงปัจจุบัน โดยลักษณะของร้านมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมมลายู คือมีลักษณะการวางผังแบบเรือนแถวจีนแต่มีการสร้างหลังคาและประดับลวดลายตกแต่งไม้ฉลุแบบมลายู ผนังชั้นล่างเป็นผนังคอนกรีตหล่อด้วยไม้แบบเป็นชั้นๆ ส่วนผนังชั้นบนเป็นผนังไม้ตีเกล็ดทางนอน ประตูด้านหน้าเป็นประตูบานเฟี้ยมและประตูบานเปิดไม้ผสมกันมีลักษณะเป็นประตูกลคือจะต้องมีการถอดสลักก่อนที่จะเปิดประตูได้ ช่องหน้าต่างเป็นบานเปิดไม้ผนังชั้นล่างประดับช่องลมรูปแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบจีน ตัวอาคารการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือด้านหน้าใช้เป็นร้านขายขนม ส่วนด้านหลังใช้เป็นห้องครัว ด้านข้างเชื่อมต่อกับพื้นที่ทำขนมโดยมีที่ว่างสำหรับล้างอุปกรณ์ และมีบ่อน้ำสำหรับรองรับน้ำฝนที่ใช้ในหน้าแล้ง ตัวร้านชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัยมีระเบียงด้านหน้าประดับแผงกันสาดเป็นไม้ฉลุแบบมลายู ฝาภายในอาคารเป็นฝาไม้ตีซ้อนกันทางตั้ง อาคารยังคงสภาพความสมบูรณ์แบบดั้งเดิมอย่างครบถ้วน
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- อบจ.ลำปางห่วงใยชาวลำปางช่วงเทศกาลลอยกระทง อย่างปลอดภัย
- กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงกรณีคดีหาดวาสุกรี ยืนยันพร้อมส่งเสริมการแต่งกายชุดมลายู
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
ขอบคุณภาพและข้อมูล : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: